สนามเลือกตั้งตรังแข่งเดือด "ดร.นาที"ลั่นต้องปักธง"ภูมิใจไทย"

15 ก.ย. 2565 | 10:10 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ย. 2565 | 17:49 น.

"ดร.นาที"แม่ทัพใหญ่ภาคใต้ ซุ่มเจาะฐานประชาธิปัตย์เมืองตรัง หวังปักธง"ภูมิใจไทย"ในเมืองพระยารัษฎาฯ คัดตัวเด็ดจัดทีมลงสู้ศึกเลือกตั้งได้แล้ว 2 เขต  เขต 1 นายแพทย์รักษ์ หมอขวัญใจชาวบ้าน และเขต 4  "ดิษฐ์ธนิน"อดีตผู้สมัครส.ส.พลังประชารัฐ

การเมืองยุคท้ายสมัยที่อย่างช้าสุดสภาผู้แทนราษฎร จะครบวาระในเดือนมี.ค.2566 ซึ่งต้องจัดการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้งภายในไม่นานจากนี้ พรรคการเมืองต่าง ๆ ทั้งเล็กใหญ่ จึงเคลื่อนไหวลงพื้นที่และจัดวางตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.ของพรรคในแต่ละเขตกันคึกคักแล้ว 

 

สนามเลือกตั้งจังหวัดตรัง เป็นเมืองหลวงการเมืองของประชาธิปัตย์มายาวนาน โดยครั้งที่ผ่านมาโดนพรรคพลังประชารัฐ แบ่งไปได้ 1 เก้าอี้ในเขต 1  คงได้ส.ส.ใน 2 เขตเลือกตั้งที่เหลือ  และในการเลือกตั้งครั้งหน้าจะกลับมาเป็น 4 เขต เลือกส.ส.ได้ 4 คนตามเดิม 

ชิงเปิดตัวเป็นตัวแทนพรรคปชป.ลงชิงส.ส.ตรังเขต 4

ชิงเปิดตัวเป็นตัวแทนพรรคปชป.ลงชิงเก้าอี้ส.ส.ตรังเขต4

แต่ก่อนเปิดสนามแข่งขันอย่างเป็นทางการ แผงการเมืองปชป.ที่ตรังกับเกิดรอยร้าว เมื่อการคัดว่าที่ผู้สมัครส.ส. เขต 4 ไม่ลงตัว เมื่อนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีตส.ส.4 สมัย ยังแสดงความจำนงขอลงสู้ศึกในครั้งนี้ จากที่ผ่านมาได้เสียสละเมื่อเขตเลือกตั้งถูกยุบเหลือ 3 เขต โดยไปอยู่บัญชีรายชื่อพรรคแล้วพลาดการเป็นส.ส.ไป ขณะที่"สมชาย-สุณัฐชา" พ่อลูก"โล่สถาพรพิพิธ" ตระกูลการเมืองใหญ่ของตรัง หนุนหน้าใหม่"กาญจน์  ตั้งปอง" สท.เมืองกันตัง ลงสนามแทน 

 

กลายเป็นศึก"วัดกำลัง"กันภายใน ระหว่างกลุ่มอำนาจเก่า-ใหม่ในประชาธิปัตย์ โดยนายสมบูรณ์เมื่อไม่ได้เป็นส.ส. ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ของ"นายชวน หลีกภัย"  นักการเมืองในตำนานแห่งเมืองตรัง  ทำให้นายเดชอิศม์ ขาวทอง รองหัวหน้าพรรค ดูแลพื้นที่ภาคใต้ ตัดสินใจใช้การสำรวจโพลเพื่อคัดตัวผู้สมัครส.ส. ซึ่งผลโพลปรากฎว่านายกาญจน์ชนะ แต่นายสมบูรณ์ร้องค้านว่าการสำรวจมีพิรุธ

ดร.นาที รัชกิจประการ ลงพื้นที่จังหวัดตรัง รับข้อเสนอพื้นที่พลิกฟื้นการท่องเที่ยว

 

ภูมิใจไทยประกาศเจาะสนามเลือกตั้งเมืองตรัง

ทำให้ ณ เวลานี้ การวางตัวว่าที่ผู้สมัครส.ส.จังหวัดตรัง ของประชาธิปัตย์ ลงตัวแล้ว 3 เขต คือ เขต 1 นายแพทย์ตุลกานต์  มักคุ้น เขต 2 นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย 3 น.ส.สุณัฐชา  โล่สถาพรพิพิธ ส่วนเขต 4 ต้องรอกรรมการบริหารพรรคชี้ขาด

 

นอกจากประชาธิปัตย์แชมป์เก่าที่เริ่มเปิดตัวผู้สมัคร พรรคการเมืองอื่นที่เห็นโอกาสเจาะพื้นที่ภาคใต้ ทุ่มเทกำลังลงมาจัดทีมส่งลงสนามแข่งขันกันคึกคัก ยิ่งเป็นปชป.ไม่ลงตัวในหลายเขตเลือกตั้ง โอกาสของคู่แข่งยิ่งกว้างขึ้น โดยในสนามเมืองตรัง พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)วางตัวครบทั้ง 4 เขตแล้ว  คือ เขต 1 นายกิตติพงษ์   ผลประยูร (ลงแทนนายนิพันธ์  ศิริธร อดีตส.ส.ที่ผันตัวเองไปลงส.ส.บัญชีรายชื่อ)  เขต 2 นายทวี  สุระบาล  เขต 3 พ.ต.ท.นัธพงษ์  ใจสมุทร   เขต 4 พล.ต.ต.บันลือ  ชูเวทย์ อดีตผู้การ สตช. และไม่นานมานี้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มาตรวจราชการพื้นที่จ.ตรัง หลังเวลาราชการจัดเวทีเปิดตัวผู้สมัครของพรรคไปแล้ว

 

โดยการเลือกตั้งที่ปี 2562 ให้บทเรียนการเมืองราคาแพงแก่สมาชิกปชป.จังหวัดตรัง เมื่อนายนิพันธิ์ ศิริธร อดีตรองผู้ว่าฯตรัง เป็นผู้สมัครส.ส.หน้าใหม่ลงสนามครั้งแรก กับพรรคตั้งใหม่คือพลังประชารัฐ ก็สามารถคว้าเก้าอี้ส.ส.ได้ทันที ทั้งที่ตรังเป็นเมืองหลวงการเมืองของประชาธิปัตย์ ภายใต้บารมีนายชวน หลีกภัย 

 

มาถึงพรรคภูมิใจไทย ดร.นาที  รัชกิจประการ แม่ทัพใหญ่พื้นที่ภาคใต้ของพรรค  ประกาศในการเลือกตั้งครั้งนี้ จะกวาดส.ส.ภาคใต้ 20 เก้าอี้ให้ได้  จากปัจจุบันภูมิใจไทยมีส.ส.ภาคใต้จำนวน 8  คน โดยสนามเลือกตั้ง จังหวัดตรัง เมืองพระยารัษฎาฯ เบื้องต้นชัดเจนประกาศส่งเขต 1 และเขต 4  ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 3 เป็นอีกเป้าหมายที่จะส่งผู้สมัครเช่นกัน

นายดิษฐ์ธนิน (เอก)  ภาคย์อิชณน์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ตรัง

นายดิษฐ์ธนิน (เอก)  ภาคย์อิชณน์ สมาชิกพรรคภูมิใจไทย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.เขต 4 ตรัง เปิดเผยกับ นสพ.ฐานเศรษฐกิจ"ว่า พรรคภูมิใจไทยตอนนี้เคลื่อนในจ.ตรังที่ชัดเจนมีเพียงเขต 4 ของตนเองเขตเดียว โดยจะไปประชุมพรรคที่กรุงเทพฯเดือนละครั้ง เพื่อรับฟังนโยบายพรรค ส่วนเขต 1-3 ขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทาม โดยเวลานี้กระแสภูมิใจไทยเป็นบวกทั้งประเทศ ทั้งนโยบายที่ทำได้จริง เช่น ปลดล็อกกัญชา ทั้งความคาดหวังว่านายอนุทิน ชาญวีระกุล มีโอกาสเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งครั้งต่อไป

 

ทำให้มีผู้เสนอตัวเข้าทำงานกับพรรคมากขึ้นเรื่อย ๆ  ไม่ว่าจะเป็นกำนันบอย ที่กาญจนบุรี ที่พัทลุงได้อดีต ส.ส.มา ส่วน จ.สงขลา เขต 3 ได้นายไพร พัฒโน อดีตนายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ มาเป็นผู้สมัคร จ.ภูเก็ต เขต 3 มีนายเฉลิมรัฐ เก็บทรัพย์ 

 

"เราพูดแล้วทำจริง นโยบายของพรรคปลดล็อกกัญชาก็ประสบความสำเร็จ ใกล้จะออกเป็นกฎหมายแล้ว ทำให้คนเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น ส่วนนโยบายในการเลือกตั้งครั้งต่อไปเบื้องต้นมี 3-4 นโยบาย คือ 1.ภาษีบ้านเกิดเมืองนอน ต้นแบบจากญี่ปุ่น โดยให้ 30 %ของภาษีที่จ่ายกำหนดได้ว่าจะให้อปท.ไหน"

 

นายดิษฐ์ธนิน กล่าวว่า นโยบายนี้จะสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน ภาคใต้มีทะเลขนาบ2ฝั่ง มีรายได้ท่องเที่ยวมหาศาลแต่ละปี แต่ภาษีท่องเที่ยวทั้งหมดเก็บเข้าส่วนกลาง แล้วค่อยแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ทำให้ภาคใต้เสียเปรียบ เพราะพื้นที่เล็ก คนน้อยกว่า ส.ส.น้อยกว่า ภาคอื่นที่มีคนมากกว่า ส.ส.มากกว่า มีโอกาสของบไปลงพื้นที่ได้มากกว่า ทำให้ภาคใต้เสียโอกาส

 

นโยบายที่ 2 คือ พักหนี้ ปลอดดอก 3 ปี สำหรับยอดหนี้รวมไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อคน  แต่ต้องเป็นหนี้ในระบบ จากที่ผู้ใหญ่ของพรรคมองว่า ไทยเจอวิกฤตโควิดมา 3 ปีที่เศรษฐกิจหยุดชะงัก ส่วนอีก 2 นโยบายนั้น จะขึ้นไปรับจากที่ประชุมพรรคในเดือนก.ย.นี้

 

พรรคเรากำลังเดินสู่การเป็นพรรคที่ขายนโยบาย การเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคสีส้มหาเสียงแบบไม่มีรูปผู้สมัคร มีแต่หมายเลขและนโยบาย ทั้งจังหวัดยังทำคะแนนได้ถึง 30,000 กว่าคะแนน แสดงว่าคนตรังอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง เขาอยากได้นโยบาย และพรรคภูมิใจจะเป็นพรรคที่ไปถึงจุดนั้น

 

นายดิษฐ์ธนิน กล่าวอีกว่า พรรคมั่งทำเรื่องที่จับต้องได้ก่อน จากการลงพื้นที่ชาวบ้านมีปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ซึ่งมหาดไทยมอบผู้ว่าฯตั้งคณะกรรมการฯมาพิจารณาดูแล ประชุมแก้เป็นราย ๆ ครั้งละไม่กี่แปลง จึงเสนอไปว่าให้ ถ้าสามารถมอบให้ท้องถิ่นเข้าร่วมช่วยดูแล ตั้งเป็นกรรมการร่วมพิจารณา จะแก้ได้เร็วและตรงจุดยิ่งขึ้น เป็นนโยบายส่วนตัวจากปัญหาพื้นที่ ที่ส่งให้พรรคพิจารณาตามที่พรรคเปิดรับ

 

นอกจากนี้จะผลักดันประกาศพื้นที่แนวชายหาดตรัง 119 กิโลเมตร เป็นพื้นที่เขตพิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาอยู่ระหว่างประเมิน เมื่อผ่านความเห็นชอบจะมีงบมาวิจัย หากผ่านเกณฑ์ทั้งหมดจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนต่อไป 

 

ส่วนคู่แข่งจากพรรคปชป.ในเขตเลือกตั้งที่ 4 ที่อยู่ระหว่างการคัดตัวใครน่ากลัวกว่ากันนั้น นายดิษฐ์ธนิน กล่าวว่า สำหรับตนจะแข่งกับตัวเอง    ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเป็นคนเลือกชี้อนาคตทางการเมืองของผม   ดังนั้น ต้องฟังเสียงประชาชน เพราะต้องอยู่กับประชาชน คู่แข่งจะเป็นใครก็ได้ "ผมพร้อมสู้และพิสูจน์ตัวเอง"  นายดิษฐ์ธนิน กล่าวปิดท้าย

นายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ กับนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ แกนนำพรรคภูมิใจไทย

ส่วนเขตเลือกตั้งที่ 1 ที่แกนนำพรรคภูมิใจไทยพยายามทาบทามนายแพทย์รักษ์ บุญเจริญ หรือ"หมอชาวบ้าน" มาระยะหนึ่งแล้ว  ล่าสุดนายแพทย์รักษ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ"ว่า มีความเชื่อมั่นในพรรคภูมิใจไทย ว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านได้ตรงจุด และพัฒนาบ้านเมืองไปในทิศทางที่ดีได้ อีกทั้งภูมิใจไทยมีแกนนำในพื้นที่ภาคใต้ คือ นายพิพัฒน์  และ ดร.นาที  รัชกิจประการ เป็นผู้ใหญ่ของพรรคที่น่าเคารพนับถือ มีความแข็งแกร่งในทุกมิติ ดังนั้น ตนเองมีความประสงค์ที่จะลงสมัคร ส.ส.เขต 1 พรรคภูมิใจไทย 

 

นายแพทย์รักษ์ จบแพทย์จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์  ไปเรียนเฉพาะทางจบจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รับราชการที่โรงพยาบาลตรังจนหมดทุน  ก็ลาออกจากราชการมาเปิดคลินิก”หมอรักษ์“ ขนาด 1 คูหา รับตรวจรักษาคนไข้โดยคิดค่าใช้จ่ายครั้งละ 100-180 บาท เป็นหมอ"ขวัญใจชาวบ้าน"และผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง โดยภริยาก็เป็นแพทย์หญิง รับราชการที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง 

 

เส้นทางการเมือง นายแพทย์รักษ์ เคยเป็นรองนายกเทศมนตรีนครตรัง ชุดนายอภิชิต  วิโนทัย เป็นนายกเทศมนตรี จนต่อมาถูกคสช.สั่งพักการปฎิบัติหน้าที่ มีนายเกรียงศักดิ์ รัตนสิมานนท์ รองนายกฯคนที่ 1 ขึ้นรักษาฯแทน ก่อนจะลาออกไป นายแพทย์รักษ์ จึงขึ้นเป็นรักษาการนายกเทศมนตรีต่ออีกประมาณ 1 ปี เมื่อครอบครัวสนับสนุน นายแพทย์รักษ์จึงสวมเสื้อภูมิใจไทย ลงชิงเก้าอี้ส.ส.ตรัง เขต 1 ครั้งนี้

 

สนามเลือกตั้งเมืองตรังที่ทะยอยเปิดตัวพรรคเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ลงชิงชัยเก้าอี้ส.ส.ในการเลือกตั้งที่งวดเข้ามาเป็นลำดับ ส่วนใครจะได้นั่งเก้าอี้ส.ส. ธงของพรรคไหนจะได้โบกสะบัดในเมืองพระยารัษฎาฯแห่งนี้ มีชาวจังหวัดตรังแต่ละเขตเลือกตั้งจะเป็นผู้ตัดสิน ที่ต้องคอยติดตามกันต่อไป

 

ธีมดี  ภาคย์ธนชิต/รายงาน