กรณ์ ชี้“ค่าเงินบาท” เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่วิกฤติ แนะพยุงกลุ่มเปราะบาง

22 ก.ย. 2565 | 05:39 น.
อัปเดตล่าสุด :22 ก.ย. 2565 | 13:00 น.

"กรณ์" อดีต รมว.คลัง ชี้ประเด็น "ค่าเงินบาท" เป็นปัญหาแต่ไม่ใช่วิกฤติ แนะรัฐบาลพยุงกลุ่มเปราะบาง อย่าสร้างความตื่นตระหนก ชี้ไม่ควรปักหลักสู้กับดอลลาร์ด้วยการกำหนดเป้าอัตราแลกเปลี่ยน

วันที่ 22 กันยายน 2565 นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณีสหรัฐอเมริกาเพิ่มดอกเบื้ยวานนี้  โดยระบุว่า อเมริกาเพิ่มดอกเบี้ยอย่างแรงอีก 0.75% ขึ้นไปอยู่ที่ 3.0-3.25%

 

สูงที่สุดตั้งแต่ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ปี 2008 ทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยกับไทยเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 3% โดยที่ตลาดคาดการณ์ ว่าดอกเบี้ยอเมริกาต้องขึ้นไปอีก 1% เต็มภายในปีนี้ ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับทุกสกุลเงิน เรื่องนี้เป็นปัญหา แต่ไม่ใช่เป็นวิกฤติ
 

ายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

“วิกฤติจะเกิดขึ้นได้หากเราประกาศปักหลักสู้กับดอลลาร์ด้วยการกำหนดเป้าอัตราแลกเปลี่ยนที่สวนสภาวะตลาด ไม่ว่าเป้านั้นจะเป็น 35 บาทหรือเท่าไรก็ตาม ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยกับอเมริกา จะมีผลต่อเงินบาทแน่นอน จนกว่าเศรษฐกิจอเมริกาจะชะลอตัวลงจนทำให้เงินเฟ้อของเขาลดลงและดอกเบี้ยเขาปรับลดลงได้ ซึ่งอย่างเร็วคือปีหน้า

 

และเมื่อเศรษฐกิจของเขาชะลอตัวลง เราจึงจะได้อานิสงส์จากราคานํ้ามันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั้งหลายที่ควรจะลดลง หากเป็นเช่นนั้น เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเอง โดยเฉพาะหากดุลบัญชีเดินสะพัดเราดีขึ้น และกลับมาเป็นบวกจากต้นทุนการนำเข้าที่ลดลง และรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น” นายกรณ์ กล่าว

อดีต รมว.คลัง กล่าวด้วยว่า อย่าสร้างความตื่นตระหนกด้วยการคิดว่าเงินบาทต้องเป็นเท่าโน้นเท่านี้  เงินบาทที่ 37 (เช้านี้ 37.2 แล้ว) จะไม่ทำให้เกิดวิกฤติแบบต้มยำกุ้งในอดีต ทุนสำรองเราสูง หนี้สาธารณะเราเอาอยู่

 

และวันนี้ดอลลาร์แข็ง ไม่ใช่เงินบาทอ่อน สิ่งที่ต้องทำคือช่วยเหลือประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูง และช่วยป้องกันไม่ให้ลูกหนี้ต้องติด black list จนหมดโอกาสฟื้นตัวแม้เมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น