พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด– 19 (ศปก.ศบค.) ว่า เตรียมเสนอ ศบค. ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ เป็นประธาน พรุ่งนี้ (23 ก.ย.) ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หากที่ประชุมเห็นชอบ ก็ต้องยุบศบค.อย่างแน่นอน
“หากที่ประชุม ศบค. ชุดใหญ่ เห็นชอบยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็ต้องยุบศบค.อย่างแน่นอน รวมทั้งยุบหน่วยงานภายใต้ศบค. และคำสั่งต่าง ๆ ที่ออกโดยศบค. ก็ต้องยกเลิกทั้งหมด และจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 แล้วจะมีกลไกรองรับคือคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งเราเตรียมการมาเป็นลำดับไว้แล้ว”
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ในกลไกการทำงาน จะดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อ โดยตั้งศูนย์ปฏิบัติการที่เดิม แต่อาจต้องปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตามการประชุมวันนี้ ถือเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ ศปก.ศบค. ยกเว้น ศบค.ชุดใหญ่ จะมีข้อสั่งการอะไรพิเศษที่ต้องดำเนินการต่อ
ส่วนกรณีการเสนอให้มีการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในช่วงนี้ เพื่อรองรับกรณีประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปคหรือไม่ นั้น พล.อ.สุพจน์ ยืนยันว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะ ศปก.ศบค. ดูภาพรวมของประเทศ ซึ่งหัวใจสำคัญคืออยากให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับมาสู่ภาวะปกติ และอยากให้ประชาชนมีอาชีพมีรายได้
“ในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่กังวลเป็นพิเศษคือเรื่องการใช้ชีวิตประจำวัน ถ้ายกเลิกแล้วไม่ใช่ถอดหน้ากากหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการเลย ยังต้องมีมาตรกรป้องกันส่วนบุคคล เพราะจะเห็นว่าทุกวันนี้ยังมีคลัสเตอร์ย่อย ๆ ในกลุ่มสังคมที่มีการรวมตัวกัน แต่ภาพรวมภูมิคุ้มกัน ประชาชนในประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก มียาเพียงพอ โรงพยาบาลและหมอเพียงพอ”
พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ศปก.ศบค. ได้คุยกันว่าการรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันที่ดีขึ้นตามลำดับ ผู้ป่วยลดลง ผู้เสียชีวิตลดลง กระทรวงสาธารณสุขจะต้องเป็นผู้ดำเนินการต่อ เพื่อให้ตัวเลขน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย
โดยแผนการเปลี่ยนผ่านสู่โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังนั้น ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับความเห็นชอบจากศบค.ไปแล้ว และมีการประกาศเป็นโรคติดต่อที่ไม่ร้ายแรงเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา ซึ่ง ศปก.ศบค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาแผนรองรับ เพื่อเตรียมกลไกต่าง ๆ ให้กลับไปสู่กลไกปกติของประเทศ
ทั้งนี้ได้ให้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพฯ เป็นกลไกบริหารจัดการ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำแผน เพื่อใช้กลไกเหล่านี้ให้ประชาชนทราบแนวทางปฏิบัติหลังการเปลี่ยนผ่านว่าต้องทำอย่างไร
“องค์กรต่างๆ จะได้รับคำแนะนำการปฏิบัติ รวมถึงต้องมีแผนเผชิญเหตุรองรับ โดยย้ำว่า กระทรวงสาธารณสุขมีแผนรองรับช่วงการเปลี่ยนผ่าน เพื่อไม่ให้กลับไปสู่ความเสียหายขนาดใหญ่”