26 กันยายน 2565 เวลา 09.00 น. ที่ศาลแพ่งถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาคดีที่นักกิจกรรมและนักศึกษา รวม 7 คนร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม(ขณะนั้น) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. สำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกระทรวงการคลัง เป็นจำเลยที่ 1-6 ตามลำดับ จากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร ช่วงระหว่างวันที่ 15 - 22 ต.ค. 2563 และขอให้ชดเชยค่าเสียหายให้กับโจทก์ทั้ง 7 คน
โดยผู้ฟ้องคดีเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงดังกล่าวเป็นการประกาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่มีสาเหตุในการประกาศเพียงพอ เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจตามอำเภอใจในการสลายการชุมนุม ประกาศปิดสถานที่และระบบขนส่งมวลชน จับกุมประชาชน สื่อมวลชน และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงห้ามการเสนอข่าวสารของสื่อมวลชน ซึ่งในวันนี้นางสาวศุกรียา วรรณายุวัฒน์ นิสิตคณะครุศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมทนายความมารับฟังคำพิพากษา
ภายหลังฟังคำพิพากษา น.ส.ศุกรียา กล่าวว่า ศาลพิพากษายกฟ้องโดยศาลเห็นว่า การกระทำของพวกจำเลยเป็นไปตามอำนาจ และหน้าที่เพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ รวมไปถึงการสลายการชุมนุมในช่วงวันที่ 14 - 16 ต.ค. 63 ก็ไม่ได้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ สมเหตุสมผลแล้ว ส่วนการสลายการชุมนุมที่แยกปทุมวันนั้นก็เป็นพื้นที่ของบุคคลสำคัญ จำเป็นต้องรักษาความปลอดภัย
ทั้งนี้ ผู้ฟ้องคดีให้สัมภาษณ์ก่อนเข้ารับฟังคำพิพากษาโดยระบุว่า เวลาผ่านมานาน 2 ปีแล้วด้วยกระบวนการยุติธรรมที่ล่าช้าแม้ตอนนี้กำลังจะยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินก็ตามแต่เวลาที่ผ่านมา
ความเสียหายมันเกิดขึ้นไปแล้วรวมถึงยังไม่มีใครได้รับการชดเชยจากความเสียหายที่เกิดขึ้น มีคนติดคุกทั้งจากคดีเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินและมาตราอื่น ๆ จึงอยากให้สังคมสนใจและให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับคนเหล่านี้
สิ่งที่ควรจะทำทันทีหลังจากยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คือ ปล่อยตัวผู้ที่โดนคดีทันที พร้อมชดเชย เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างความเป็นธรรม ตนเองยืนยันในความเสียหายที่เกิดขึ้น เราต่างก็รู้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีไว้เพื่อควบคุมโรคแล้ว มีไว้เพื่อควบคุมเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งควรมีมาตรการต่อไปว่า ในอนาคตมันจะเป็นอย่างไร