เอกชนชี้ ตัดสินปมนายก 8 ปี ถ้าอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา ต่างชาติยังมั่นใจไทย

30 ก.ย. 2565 | 08:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 15:06 น.

ศาลฯตัดสินปมนายก 8 ปีวันนี้(30ก.ย.) เอกชนมองถ้าอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา แต่สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุด คือ เสถียรภาพทางการเมือง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” กรณีที่วันนี้(30ก.ย.) ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี วาระ 8 ปี ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินออกมาทิศทางไหน ถ้าอยู่บนกฎกติกาที่ถูกต้องมีกฎหมายรับรอง จะไม่มีปัญหากับการที่ต่างชาติมองเข้ามา เพราะต่างชาติมองเป็นเรื่องของกติกากฎหมายถ้าไทยอยู่ในกรอบประชาธิปไตยก็ไม่มีความน่ากังวลในเรื่องของการลงทุนของต่างชาติ

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานหอการค้าไทย

“ความเชื่อมั่น ณ ตอนนี้ เป็นเรื่องภายในประเทศที่ประชาชนมองการเมือง มองรัฐบาลว่าจะยังไหวอยู่หรือไม่ จะมีทางออกยังไงมากกว่า ส่วนต่างชาติที่มองไทย เขาไม่ได้มองว่าศาลจะตัดสินอย่างไร”

 

ด้านนายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า ในมุมมองของภาคเอกชนมองว่า แม้ผลการพิจารณาจะออกเป็นเช่นไร แต่สิ่งที่ต้องการเห็นมากที่สุด คือ ทำอย่างไรให้เสถียรภาพทางการเมือง กลับมาโดยเร็วและสร้างความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพราะมีผลต่อภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุน

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)

"การที่ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในกรณีการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี 8 ปี ผลจะออกมา เชื่อว่าจะมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็น คือ การแก้ไขและหาแนวทางเพื่อดึงความเชื่อมั่นให้กับประเทศกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด เพราะมีผลต่อนักลงทุนในอนาคต และในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค2022 ดังนั้นไทยจำเป็นต้องโชว์ให้เห็นถึงศักยภาพของประเทศด้วย"

นอกจากนี้ แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่เกิดขึ้นจะได้ใครเข้ามาบริหารประเทศ ทางภาคเอกชนก็ยังคงต้องเดินหน้าการค้า การลงทุนต่อเนื่อง แต่สำหรับนโยบายที่เห็นว่าดีก็น่าจะสานต่อ หรือหากนโยบายที่มองว่าไม่ดีก็อาจจะต้องพิจารณาทบทวนใหม่อีกครั้ง

แม้เสถียรภาพทางการเมืองจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนและการขยายตัวทางเศรษฐกิจแต่ทั้งนี้เศรษฐกิจยังมีปัจจัยอื่นที่มีผลกระทบอยู่มาก ทั้งสงครามการค้า ค่าเงินบาทที่ผันผวน ราคาน้ำมันที่ส่งผลต่อต้นทุนวัตถุดิบ ราคาพลังงานสูงขึ้น เงินเฟ้อ เป็นต้น และนอกจากนี้ ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวในวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยมีเป้าหมายดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา 6-10 ล้านคน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในธุรกิจภาคบริการ ร้านอาหาร โรงแรมขณะที่ ภาคการส่งออกยังถือเป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ และเชื่อว่า 3 เดือนสุดท้ายของปลายปีนี้ จากที่ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าจำเป็นจะต้องเร่งผลักดันการส่งออกโดยเฉพาะกลุ่มอาหาร ทั้งปีเอกชนยังมั่นใจว่าการส่งออกของไทยจะโตที่ 8% ส่วนการติดตามและประเมินการส่งออกในช่วงท้ายปีและปีหน้า ยังมีตัวแปรสำคัญอยู่ 2 ประเด็น คือ ปัญหาขาดแคลนชิปและการฟื้นตัวเศรษฐกิจของจีนซึ่งจะมีผลต่อการส่งออกและนำเข้าของไทยในอนาคต