ปมนายกฯ 8 ปี เทียบคำร้อง-คำชี้แจง "ฝ่ายค้าน-บิ๊กตู่-มีชัย"

30 ก.ย. 2565 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 13:05 น.

การเมืองเดือด ปมนายกฯ 8 ปี ดูชัด ๆ คำร้องฝ่ายค้าน คำชี้แจงของ "พล.อ.ประยุทธ์" ผู้ถูกร้อง และ "มีชัย ฤชุพันธ์ุ" อดีตประธาน กรธ. สรุปไว้ให้แล้วที่นี่

เกาะติดสถานการณ์ร้อนทางการเมืองวันนี้ 30 กันยายน 2565 กรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก่อนถึงเส้นตาย ฐานเศรษฐกิจ สรุปคำร้องของ ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ที่ยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ และคำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ถูกร้อง และ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มาให้อ่านเข้าใจง่าย ๆ ดังนี้ 


คำร้องของฝ่ายค้าน 

1.การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน 

 

2.รัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคสอง มาตรา 158 วรรคสี่ และมาตรา 264 ห้ามนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งเกินกว่า 8 ปี โดยให้นับระยะเวลาต่อเนื่องและมิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งว่าต้องเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น

 

3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2561 และ 7/2562 กรณีมาตรา 264 ให้รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องอยู่ในบังคับของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 3-5/2550 และ 24/2564 เรื่องการบังคับใช้กฎหมายย้อนหลังสามารถทำได้หากมิใช่โทษทางอาญา 

 

4.เจตนารมณ์ของการจำกัดระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 158 วรรคสี่ ที่บัญญัติว่า "นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลา ในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตำแหน่ง"
 

คำชี้แจงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา  

ในเอกสารชี้แจงข้อกล่าวหาของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ กรณีพิจารณาคำร้องวาระ 8 ปี ชี้แจงรายละเอียด ดังนี้

1.การนับวาระดำรง ตำแหน่งนายกฯ จะนับจากปี 2557 ไม่ได้

2. รธน.ปี 2560 ไม่ได้ระบุกรอบ 8 ปี ชัดเจน จะตีความจำกัดสิทธิบุคคลไม่ได้

3. ศาลรธน. เคยวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรี ก่อนปี 2560 ถือเป็นรัฐมนตรีนับจากวันที่ รธน.ฉบับปี 2560 บังคับใช้

4. อ้างถึงความเป็นนายกฯ ของตัวเอง ไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของ รธน.

5. บันทึกการประชุม กรธ.ครั้งที่ 500 ไม่ใช่เจตนารมณ์ของ รธน.

6. โต้แย้งการตีความ รธน.ปี 2560 เปรียบเทียบกับกฎหมาย ป.ป.ช.ไม่ได้

7. ขอให้ศาลรธน.ตีความโดยถูลักษณะต้องห้าม ไม่ใช่แค่การรับรู้ว่าเป็นนายกฯ มาแล้ว 8 ปี

8. การนับวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปี ต้องนับจาก รธน.ฉบับปี 2560 ประกาศใช้

คำชี้แจงของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

1.รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ตามที่ปรากฏในพระบรมราชโองการในวรรคห้า และถูกต้องตรงตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ผลบังคับจึงมีตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นต้นไป และไม่อาจมีผลไปถึงการใดๆ ที่ได้ดำเนินการมาแล้วโดยชอบ ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนี้ใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ

 

2.ในส่วนที่เกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีนั้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติเรื่องคุณสมบัติ, ที่มา, วิธีการได้มา, กรอบในการปฏิบัติหน้าที่, ระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง และผลจากการพ้นจากตำแหน่งไว้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญที่เคยมีมา และส่วนใหญ่เป็นไปในทางจำกัดสิทธิและเพิ่มความรับผิดชอบ

 

บทบัญญัติต่างๆ เหล่านั้นจึงไม่อาจนำไปใช้กับบุคคลหรือการดำเนินการใด ๆ ที่ได้กระทำไปแล้วก่อนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีผลใช้บังคับ เว้นแต่จะมีบทบัญญัติกำหนดไว้เป็นประการอื่นโดยเฉพาะ

 

3.การที่จะได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาที่จะต้องแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ก่อน แต่ประเทศไม่อาจว่างเว้นการมีคณะรัฐมนตรีเพื่อบริหารประเทศได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีบทเฉพาะกาล เพื่อกำหนดให้การบริหารราชการแผ่นดินสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่ติดขัด

 

จึงได้มีบทบัญญัติมาตรา 264 บัญญัติขึ้นเป็นการเฉพาะว่า "ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้จะเข้ารับหน้าที่" โดยมีบทบัญญัติผ่อนปรนเกี่ยวกับคุณสมบัติ และการปฏิบัติหน้าที่บางประการไว้ให้เป็นการเฉพาะ

 

4.โดยผลของมาตรา 264 ดังกล่าว คณะรัฐมนตรีรวมทั้งนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่เฉพาะในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงเป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ใช้บังคับ คือ วันที่ 6 เมษายน 2560 และโดยผลดังกล่าว บทบัญญัติทั้งปวงของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

รวมทั้งบทเฉพาะกาลที่ผ่อนปรนให้จึงมีผลต่อคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 อันเป็นวันที่รัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเป็นต้นไป และระยะเวลาตามมาตรา 158 วรรคสี่ จึงเริ่มนับตั้งแต่บัดนั้น คือ วันที่ 6 เมษายน เป็นต้นไป

 

ปมนายกฯ 8 ปี เทียบคำร้อง-คำชี้แจง \"ฝ่ายค้าน-บิ๊กตู่-มีชัย\"

ปมนายกฯ 8 ปี เทียบคำร้อง-คำชี้แจง \"ฝ่ายค้าน-บิ๊กตู่-มีชัย\"

ปมนายกฯ 8 ปี เทียบคำร้อง-คำชี้แจง \"ฝ่ายค้าน-บิ๊กตู่-มีชัย\"