ลึกลับคำวินิจฉัย ศาลรัฐธรรมนูญ 6 ต่อ 3 ให้ "ลุงตู่" อยู่ต่อ

30 ก.ย. 2565 | 11:30 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 18:30 น.

เปิดเบื้องลึกคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ไขปม "นายกฯ 8 ปี" มติ 6 ต่อ 3 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำงานต่อ พบ 5 เสียงเห็นพ้องนับจากวันประกาศใช้ รธน. 60 ขณะที่ 1 เสียงนับวันดำรงตำแหน่งหลังการเลือกตั้ง

จากกรณีที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัย เรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบ มาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่ หรือไม่ 

 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 วินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามความในมาตรา 264 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 นับแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ถึงวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ผู้ถูกร้องดำรงตำแหน่งนายกฯ ยังไม่ครบกำหนดเวลาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่   
  

ทั้งนี้ หากเจาะให้ลึกลงไปแล้วประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ คือ การตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าต้องเริ่มนับเมื่อใดนั้น พบว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 รายนั้นมีความเห็นแตกออกเป็น 3 แนวทาง หรือแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้ดังนี้ 

 

กลุ่มที่ 1 เห็นชอบให้นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกฯ หลังการรัฐประหารในปี 2557 หรือ 24 ส.ค. 2557 

1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 

2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 

3.นายนพดล เทพพิทักษ์ 

กลุ่มที่ 2 เห็นชอบ ให้นับจากวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 หรือนับตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 

1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 

2.นายปัญญา อุดชาชน 

3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 

4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 

5.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ 


ขณะที่ "นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม" เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเพียงรายเดียวที่เห็นชอบ ให้นับจากวันที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญ 2560 หรือ วันที่ 9 มิถุนายน 2562