สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันศุกร์ (30 ก.ย.) ด้วยคะแนนเสียง 6-3 ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ปฏิบัติหน้าที่ นายกรัฐมนตรี ต่อไปได้ เนื่องจากให้เริ่มนับวาระของเขาตั้งแต่มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับพ.ศ. 2560 นั้น ไม่ได้เหนือความคาดหมาย เมื่อพิจารณาจากทิศทางการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญเท่าที่เคยมีมา
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวหลายสำนักจากต่างประเทศ อาทิ เอพี รอยเตอร์ ไปจนถึงเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเผชิญความไม่มั่นคงทางการเมืองต่อไป จากคะแนนนิยมที่ตกดิ่งลง โดยเฉพาะจากการบริหารเศรษฐกิจและบริหารจัดการการแพร่ระบาดของโควิด-19
นอกจากนี้ การที่พล.อ.ประยุทธ์จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปถึงปีพ.ศ. 2568 ทำให้เขาอาจจะไม่ถูกเสนอชื่อจากพรรคการเมืองให้เป็นผู้ชิงตำแหน่งนายกฯ ในการเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า (2566) เนื่องจากเขาจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ครบวาระ
สำนักข่าวเอพีรายงานว่า คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นไปตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้แล้วตั้งแต่แรก เนื่องจากที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญมักมีคำตัดสินคดีการเมืองเป็นไปในทิศทางที่เอื้อต่อรัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ และว่า “กระบวนการยุติธรรมของไทยโดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญ และกองทัพไทย วางบทบาทตนเองเป็นผู้พิทักษ์อย่างเข้มแข็งต่ออำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมของไทย ซึ่งพวกเขามองว่า สถาบันฯเป็นเสาหลักที่สำคัญที่สุดของอำนาจฝ่ายนี้”
หลังการตัดสินครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเผชิญความท้าทายทางการเมืองในต้นปีหน้า (2566) เนื่องจากรัฐสภาจะมีอายุครบ 4 ปีและจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งใหม่ ขณะที่ คะแนนความนิยมของเขาดิ่งลงต่ำ ซ้ำยังถูกวิจารณ์ว่าบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดและการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 อย่างไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
ผลสำรวจความเห็นโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า เมื่อเดือนส.ค.2565 ระบุว่า ผู้ตอบแบบสอบถาม 64% จากทั้งหมด 1,312 คน ต้องการให้พล.อ.ประยุทธ์ หรือ “ลุงตู่” ออกจากตำแหน่ง ในขณะที่อีก 33% ระบุว่า ศาลควรเป็นผู้ตัดสินการดำรงตำแหน่งของเขา
ทั้งนี้ เอพีฉายภาพการเมืองไทยเวลานี้ว่า การจำกัดวาระการดำรงตำแหน่งของนายกฯ ไทยให้ไม่เกิน 8 ปี มีขึ้นโดยพุ่งเป้าไปที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ สายประชานิยมที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อพ.ศ. 2549 แต่เขายังคงมีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศไทยจวบกระทั่งปัจจุบัน
การรัฐประหารครั้งต่อมาในปีพ.ศ. 2557 ยังยึดอำนาจจากรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร น้องสาวของทักษิณ เพียงไม่นานหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติถอดถอนยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งจากการมีส่วนใช้อำนาจแทรกแซงการโยกย้ายข้าราชการ
สื่อนอกหัวใหญ่อย่างเอพีสรุปว่า กลุ่มอนุรักษ์นิยมของไทย รวมทั้งกองทัพ กังวลว่าความนิยมในตัวทักษิณจะเป็นภัยต่ออิทธิพลของตน รวมถึงเป็นภัยต่อสถาบันฯโดยศาลทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ฝ่ายอนุรักษ์นิยม และมักมีคำตัดสินไปในทางที่เป็นลบต่อทักษิณและ “ผู้ท้าทายอื่น ๆ” ต่อฝ่ายอนุรักษ์นิยม
ทางด้านรอยเตอร์รายงานว่า คำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ นับเป็นการเพิ่มอำนาจทางการเมืองให้พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในนายกฯ ที่ครองอำนาจยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และเป็นผู้จงรักภักดีต่อสถาบันฯอย่างเข้มข้น
ในอดีตที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์เผชิญความพยายามในการโค่นล้มเขาลงจากอำนาจหลายครั้ง เขาผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึง 4 ครั้ง คดีความขัดแย้งของผลประโยชน์ และการประท้วงครั้งใหญ่ที่เรียกร้องให้เขาลาออกและให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เมื่อพ.ศ. 2563 ถูกจุดชนวนจากการที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินยุบพรรคอนาคตใหม่และห้ามกรรมการของพรรคดำรงตำแหน่งทางการเมือง 10 ปี
เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ สื่อใหญ่ของสหรัฐระบุว่า แม้จะมีคำตัดสินให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป แต่พล.อ.ประยุทธ์ก็จะมีสถานะทางการเมืองที่ “ไม่มั่นคง” โดยนักวิเคราะห์มองว่า พรรคพลังประชารัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ อาจไม่เสนอชื่อเขาเป็นผู้ลงชิงตำแหน่งนายกฯ อีก เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่จนครบวาระ เพราะนายกฯ ไทยมีวาระการดำรงตำแหน่งจำกัดอยู่ที่ 8 ปีเท่านั้น
รศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หัวหน้าภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์เดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ว่า เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ครองอำนาจมานานและยึดอำนาจมาด้วยวิธีการที่ “ขัดกับรัฐธรรมนูญ” ทำให้คนไทยมองการทำรัฐประหารในแง่ลบมากกว่าที่เคยเป็นมา
ด้าน รศ.ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ได้มีนโยบายเศรษฐกิจที่ซับซ้อน และตอนนี้ประชาชนก็ตระหนักได้แล้ว
สื่อใหญ่รายนี้รายงานอ้างอิงความเห็นนักวิเคราะห์ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพต่อไทย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองในอาเซียน โดยเมื่อปี 2564 เศรษฐกิจไทยเติบโต 1.6% นับเป็นอัตราเติบโตที่ช้าที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค และถึงแม้ปีนี้ (2565) ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยซึ่งเป็นตัวเลขของทางการ จะขยับจาก 2.7% เป็น 3.2% แต่นั่นก็ยังคงเป็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ช้าที่สุดในภูมิภาคอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม แม้พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้รับความนิยมในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มเสรีนิยม กลุ่มปัญญาชน และกลุ่มคนรุ่นใหม่ แต่เขายังคงได้รับความนิยมในกลุ่มผู้นิยมสถาบันฯ และกลุ่มชนชั้นสูงทางการเมือง โดยฝ่ายผู้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ มองว่า กระบวนการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปประชาธิปไตยนั้นเป็นภัยต่อสถาบันฯ