คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญปม8ปีนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มติ 6:3ให้ทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมทั้งฝั่งผู้เห็นต่างและกองเชียร์ อย่างไรก็ตาม มีการตั้งสมมุติฐานหากศาลฯชี้ขาดว่า
บิ๊กตู่ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ลง การขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานประเทศ จะไปทิศทางใดนั้น นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า
ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะ ได้ไปต่อหรือไม่ก็ตามการขับเคลื่อนโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรัฐ การจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างแรงงานใหม่ได้รับอนุมัติไว้อยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นการเดินหน้าโครงการในปีงบประมาณ2566 ที่จะนำโครงการออกประมูลซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาทนั้น สามารถขับเคลื่อนต่อได้แบบไม่ขาดตอน
แต่ปัญหาใหญ่ อุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับผลกระทบรุนแรงต่อเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด เศรษฐกิจโลกถดถอย สงครามยืดเยื้อ ต้นทุนน้ำมัน ค่าขนส่ง เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย วัสดุก่อสร้างปรับตัวสูง แรงงานขาด ภาพรวมต้นทุนที่ต้องเผชิญโดยเฉพาะวัสดุก่อสร้างไม่ต่ำกว่า30% กระทบสภาพคล่องหากรัฐบาลไม่เข้ามาช่วยอาจเกิดการทิ้งงานได้
ดังนั้นรัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุนโดยเฉพาะข้อเสนอของสมาคมฯที่จะเสนอต่อสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และกรมบัญชีกลางอีกครั้งในรอบที่3 เร็วๆนี้ หลังจากที่ผ่านได้เคยมีหนังสือไปยังหน่วยงานดังกล่าวแล้วแต่เรื่องได้เงียบหายไป
ประกอบด้วย 1.ขอคืนค่าเค หรือยกเลิกค่าเค (ดัชนีความผันผวนต้นทุนค่าก่อสร้าง) ที่ต้องจ่ายล่วงหน้ารวมกับค่างานประมูลโครงการ ซึ่ง ผู้รับเหมาจะต้องรับภาระตั้งแต่ เปิดซองประกวดราคา ไปจนส่งงานในแต่ละงวด โดย ต้องแบกรับภาระค่าเคก่อน มองว่าไม่เป็นธรรม และรัฐควรคืนเงินดังกล่าว ให้กับเอกชนเพื่อนำมาช่วยต่อ ชีวิตผู้รับเหมาในช่วงวิกฤต
2.ใช้วัสดุก่อสร้างสะท้อนราคาตลาดที่แท้จริงไม่ควรอ้างอิงราคาจากกระทรวงพาณิชย์ที่กำหนดราคาที่ต่ำเกินไป
3. ขอให้ รัฐยกเลิกการใช้วัสดุก่อสร้างภายในประเทศประกอบการก่อสร้างโครงการสัดส่วน60%เช่นเหล็ก เพราะมีราคาสูงเมื่อเทียบกับวัสดุจากต่างประเทศ
และ4.สุดท้ายเสนอให้รัฐทบทวนราคากลางประมูลงานใหม่ทุกโครงการเพราะ ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงจากการปรับขึ้นของวัสดุก่อสร้างค่าขนส่ง น้ำมัน เงินเฟ้อ ดอกเบี้ย ค่าแรงดังกล่าว