นายกฯ สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เกาะติดน้ำท่วม เตรียมแผนสำรองรับมือวิกฤต

03 ต.ค. 2565 | 08:55 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ต.ค. 2565 | 16:02 น.

นายกฯ ประชุมบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม สั่งผู้ว่าฯ ทุกจังหวัด เกาะติด เตรียมแผนสำรองรับมือวิกฤต ยืนยันรัฐบาลพร้อมดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนทุกกลุ่ม ย้ำให้ดูแลเส้นทางคมนาคมให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกและปลอดภัย

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์อุทกภัยและให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ (ผ่านระบบ Video Conference) ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศและกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ทั้งนี้นายกฯ มอบหมายในที่ประชุมให้เตรียมการวางแผนไว้ล่วงหน้ารองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ควบคู่กับการแก้ปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะการหาแนวทางในการดูแลทั้งในสถานการณ์ปัจจุบันและสถานการณ์ที่คาดการณ์ว่าจะเกิดขึ้น 

โดยเน้นหลักการการระบายน้ำ การพร่องน้ำ การจูงน้ำ การเก็บกักน้ำในพื้นที่ซึ่งจะต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก และเข้าใจถึงความจำเป็นหากต้องมีการใช้พื้นที่เป็นที่รองรับน้ำ

 

รวมทั้งเน้นย้ำการระบายน้ำทั้งในฝั่งตะวันตกและตะวันออกให้เกิดความสมดุลกัน และสอดคล้องกับปริมาณน้ำในแม่น้ำ คู คลองต่าง ๆ รวมถึงการพิจารณาในการขุดคู คลอง  และการสร้างประตูระบายน้ำเพิ่มเติมในอนาคต 

 

ขณะเดียวกันยังต้องให้เกิดความร่วมมือจากภาคประชาชนในพื้นที่ด้วย เพื่อลดความเดือดร้อนของประชาชนให้มากที่สุด ขณะเดียวกันได้ย้ำถึงการดูแลเขื่อน อ่างเก็บน้ำ และทำนบต่าง ๆ ให้มีความแข็งแรงพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งเรื่องนี้อยู่ในแผนของการบริหารจัดการน้ำตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว 

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม

พร้อมกันนี้ นายกฯ ยังมอบนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปดังนี้ 

  1. เรื่องการพยากรณ์ ให้มีการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ให้ดีและมีการประสานงานเผยแพร่ข้อมูลสร้างการรับรู้ไปยังประชาชนอย่างทั่วถึงทั้งในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และชุมชนต่าง ๆ เป็นต้น 
  2. ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ ทุกหน่วยงาน ทุกกระทรวง เตรียมความพร้อมทุกด้านทั้งเจ้าหน้าที่ เครื่องจักรกล และช่วยเหลือประชาชนตามแผนงานที่กำหนดไว้ ตลอดจนการกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำ การระบายน้ำ เปิดทางน้ำ และผลักดันน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วม 
  3. หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการก่อสร้างทั้งถนนและเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ให้มีการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก โดยในอนาคตการสร้างถนนจะต้องไม่กีดขวางทางน้ำ และให้มีการติดป้ายแจ้งเตือนเส้นทางที่ต้องเฝ้าระวังและเส้นทางที่สามารถสัญจรได้และเส้นทางที่ต้องเลี่ยงการสัญจร เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น 
  4. เมื่อสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย ให้เร่งสำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้นโดยให้สำรวจอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ เพื่อรัฐบาลจะได้เร่งช่วยหลือเยียวยาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเร็วที่สุด โดยรัฐบาลเตรียมพร้อมงบประมาณสนับสนุนในส่วนนี้ไว้รองรับเรียบร้อยแล้ว 
  5. กรณีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง ขอให้ประชาชนทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ เอกชน จิตอาสา ภาคประชาสังคม และประชาชนร่วมมือกัน โดยหน่วยงานภาครัฐเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ รวมไปถึงหน่วยงานท้องถิ่นต่าง ๆ ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ฝ่ายปกครอง ผู้นำชุมชน ให้มีการทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแผนการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ 

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม

 

รวมทั้งในส่วนของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนที่กำหนดไว้ ขณะที่ในส่วนกรมประชาสัมพันธ์ขอให้ทำหน้าที่ให้เร็วและประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึง 

 

สำหรับในส่วนของการกำหนดพื้นที่นั้น นายกรัฐมนตรีย้ำว่าต้องมีการกำหนดพื้นที่เป้าหมายต่าง ๆ ให้ชัดเจนเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และการช่วยเหลือดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ ทั้งพื้นที่ของประชาชน เกษตรกร ชาวประมง ปศุสัตว์ พื้นที่เศรษฐกิจ พื้นที่สุขภาพ เช่น โรงพยาบาลและสถานที่บริการสาธารณสุข ต้องให้สามารถเข้ารับบริการได้ 

 

รวมไปถึงการเตรียมการด้านการบริการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า น้ำประปา การสื่อสารหรือโทรศัพท์ก็ต้องสามารถให้บริการได้เช่นกัน และมีการเตรียมแผนสำรองการสื่อสารด้านอื่น ๆ รองรับสถานการณ์ด้วยหากเกิดปัญหาขึ้น รวมถึงการเตรียมความพร้อมของศูนย์อพยพต้องเพียงพอรองรับประชาชนทุกพื้นที่และประชาชนเกิดความเชื่อมั่น โดยเฉพาะการจัดเตรียมอาหารอุปโภคบริโภคและน้ำ ทั้งในส่วนของคนและสัตว์ ให้เพียงพอ

 

นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วม

 

โฆษกรัฐบาล ระบุว่า นายกฯ ขอให้กำลังใจทุกคนในการปฏิบัติหน้าที่ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และเจ้าหน้าที่ทุกระดับในพื้นที่ ซึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดกับประชาชน ซึ่งในส่วนของรัฐบาลจะดูแลช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ให้มากที่สุด รวมทั้งแสดงความห่วงใยถึงกรุงเทพมหานครด้วย โดยเฉพาะประชาชนที่อยู่พื้นที่ในคันกั้นน้ำและพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ 

 

ดังนั้น ต้องบริหารจัดการน้ำทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ตลอดจนน้ำในแม่น้ำ คูคลองต่าง ๆ ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงให้มีการดูแลเฝ้าระวังพื้นที่ริมแม่น้ำและริมตลิ่ง ตลอดจนพื้นที่ตามแนวภูเขาที่อาจได้รับผลกระทบจากดินโคลนถล่มลงมา และเส้นทางคมนาคมต่าง ๆ ทุกพื้นที่ รวมทั้งในกรุงเทพฯ ด้วย เพื่อให้ประชาชนสัญจรไปมาได้สะดวกและปลอดภัย

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้กล่าวถึงการเดินทางไปจังหวัดขอนแก่นและจังหวัดอุบลราชธานีในวันพรุ่งนี้ (4 ต.ค.65) ว่า เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ และต้องการไปให้กำลังใจประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยย้ำว่าไม่ต้องการให้เป็นภาระเจ้าหน้าที่ในการที่ต้องมาต้อนรับ แต่ต้องการให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลประชาชนเป็นสำคัญ ยืนยันนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด