“อุตตม”ชี้ไทยต้องเร่งปฏิรูปเรื่องสวัสดิภาพและการพัฒนาเด็กปฐมวัย

10 ต.ค. 2565 | 04:57 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ต.ค. 2565 | 12:05 น.

“อุตตม”ชี้ประเทศไทยจะต้องเร่งปฏิรูปเรื่องการดูแลสวัสดิภาพและการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยทันที เพื่อให้เด็กไทยทุกคนเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพทัดเทียม ลดความเหลื่อมล้ำด้านงบประมาณดูแล

วันนี้(10 ต.ค.65) ดร.อุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า สวัสดีครับ ผมมักใช้เวลาในวันอาทิตย์ทบทวนเหตุการณ์ต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อมองหาสิ่งที่ควรจะดำเนินต่อไปในวันข้างหน้าเสมอๆ  


เรื่องหนึ่งที่ผมรู้สึกว่าคนไทยต้องเร่งช่วยกันทุกฝ่าย คือ การยกระดับสวัสดิภาพและการพัฒนาเด็กปฐมวัย (เด็กต่ำกว่า 7 ขวบ) ซึ่งวันนี้ยังมีปัญหาจากระบบการจัดการ รวมทั้งการไม่กระจายอำนาจด้านงบประมาณและโครงสร้างบริหารอย่างแท้จริง    

หลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจและสังคม มีความเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น พ่อแม่ต้องฝากลูกไว้กับโรงเรียนอนุบาล หรือ ศูนย์เด็กเล็ก เพราะต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการทำงานหาเงิน 


ดังนั้น สถานดูแลเด็กในระดับปฐมวัยจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะต้องดูแลเด็กๆ แทนพ่อแม่วันละไม่ต่ำกว่า 6 - 8 ชั่วโมง เป็นที่มาของคำว่า “บ้านหลังที่สองของเด็กๆ” เป็นพื้นที่ในการมอบความรัก ความเอาใจใส่ให้พวกเขาปลอดภัยในสภาพแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมประสบการณ์เรียนรู้ พัฒนาให้เขาเติบใหญ่เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศในอนาคต 

ที่ผ่านมานักวิชาการด้านเด็ก ได้พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของการดูแลเด็กระดับปฐมวัย และให้ความเห็นมาต่อเนื่องว่า เรื่องนี้ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็น โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างและงบประมาณ แตกต่างกันไปตามบริบทของหน่วยงานที่ดูแล 


เช่น ศูนย์เด็กเล็กที่อยู่ในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดกว่า 2 หมื่นแห่งทั่วประเทศ มีคุณภาพแตกต่างกันไป  อปท.บางแห่งสามารถจัดเก็บรายได้เป็นจำนวนมากก็มีงบประมาณในการดูแลเพียงพอ แต่อปท.ที่มีรายได้น้อยจึงไม่มีงบประมาณดูแลเต็มที่ 


ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการกระจายอำนาจด้านการศึกษาโดยไม่มองรายละเอียดก่อให้เกิดปัญหาตามมา เช่น การขาดแคลนบุคลากร สถานที่ตั้งของสถานที่อาคารและห้องน้ำไม่เหมาะกับเด็ก ไม่มีรั้วรอบขอบชิด ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยที่ดี เป็นต้น 


วันนี้ประเทศไทยมีประชากรที่เป็นเด็กปฐมวัยกว่า 3 ล้านคน ทุกคนล้วนเป็นทรัพยากรสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ดังนั้น ผมจึงคิดว่าประเทศไทยจะต้องปฏิรูปเรื่องการดูแลสวัสดิภาพและการพัฒนาเด็กปฐมวัยโดยทันที เพื่อให้เด็กไทยทุกคนเติบโตขึ้นอย่างมีคุณภาพทัดเทียมกัน