สมช. เคาะแผนรับมือ สถานการณ์ฉุกเฉินช่วงเอเปค

26 ต.ค. 2565 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2565 | 15:11 น.

ที่ประชุม สมช.เห็นชอบมาตรการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินในห้วงประชุมเอเปค เผย"บิ๊กป้อม"แจงยังไม่มีอะไรน่ากังวล เน้นย้ำให้ดำเนินการให้รัดกุมและละเอียดรอบคอบ

วันที่ 26 ต.ค.2565  พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แถลงภายหลังการประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติครั้งที่ 1/2566 ว่า ที่ประชุมรับทราบสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประชุมเอเปค ซึ่งได้มีการเตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง

 

โดยคณะอนุกรรมการรักษาความปลอดภัยและการจราจร ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รายงานว่ายังไม่มีสถานการณ์ที่น่ากังวล แต่ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการให้รัดกุมและละเอียดรอบคอบ ทั้งในด้านการควบคุมสถานการณ์ในภาพรวม การรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ และแผนเผชิญเหตุเพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับต่าง ๆ ซึ่งได้รายงานให้ทราบถึงขั้นตอนการเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ทราบแล้ว
 

พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

 

นอกจากนั้น พล.อ.สุพจน์ ได้รายงานสถานการณ์ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ช่องแคบไต้หวัน และสถานการณ์ในประเทศเมียนมาร์ โดยไทยมีท่าทีอย่างชัดเจนในการสนับสนุนการแก้ปัญหาด้วยการเจรจาและสันติวิธี การให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมอย่างเต็มที่ และยึดถือตามกฎหมายและพันธกรณีระหว่างประเทศ

 

ตลอดจนรายงานสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยที่ประชุมได้ให้พยายามแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี ด้วยความจริงใจ เปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตามมามีส่วนรวมในแก้ไขปัญหาทั้งในด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน การพัฒนาพื้นที่ ให้ประชาชนมีรายได้มีเศรษฐกิจที่ดีในภาพรวม

 

ส่วนการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนให้เอื้ออำนวยต่อการแก้ไขปัญหา การสนับสนุนธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรมและการศึกษาภายใต้กรอบกฎหมาย ขณะที่แนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ให้ใช้แนวทางสันติวิธี ยึดถือกฎหมายอย่างเคร่งครัดและเป็นธรรม แก้ตรงจุด ลดเงื่อนไข สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ


ทั้งนี้ ได้ย้ำให้ส่วนราชการทุกภาคส่วนต้องเข้าใจวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน และบูรณาการการทำงานทั้งในเชิงแผนงาน และการปฏิบัติในพื้นที่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ กอ.รมน. ศอ.บต. และกระทรวงมหาดไทย
 

เลขาธิการ สมช. กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการยกระดับการบริหารจัดการชายแดนให้มีความเข้มข้นในทุกมิติ ทั้งในเรื่องความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ การจัดการกับอาชญากรรมข้ามชาติ การจัดการกับปัญหายาเสพติดตามนโยบาย การค้ามนุษย์ ผู้หลบหนีเข้าเมือง และการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่

 

ที่ประชุมยังเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในเรื่องของการขับเคลื่อนและการบริหารการพัฒนา รวมทั้งร่างแผนการสนับสนุนด้านการศึกษาของนักเรียน/นักศึกษาในพื้นที่ ปี 2566-70

 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังได้เห็นชอบร่างแผนความมั่นคงทางทะเลปี 66-70 ถึง 70 ในการจัดการกับปัญหาความมั่นคงทางทะเล นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผน มาตรการ ในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นในห้วงการประชุมเอเปค