ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พ.ย.2565 ที่ตึกกองบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ เป็นประธานการประชุมหาข้อสรุป กรณีประชาชนชุมชนเคหะคลองจั่น กรุงเทพฯ ลงนามจำนวน 2,278 รายชื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการอาคารสูงสำหรับผู้พักอาศัย The Lake และ The park ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เนื่องจากเกรงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพแวดล้อมของชุมชน หากมีการก่อสร้างจริง โดยเฉพาะ ปัญหาน้ำท่วม และปัญหาความแออัดของผู้อยู่อาศัย เป็นต้น
โดยมี พล.ต.ดร.เจียรนัย วงศ์สะอาด ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ,นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการเคหะแห่งชาติ ผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ และตัวแทนประชาชนจากชุมชนเคหะคลองจั่น พร้อมด้วย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. เขตบางกะปิ-วังทองหลาง ในฐานะตัวแทนชุมชนร่วมหารือ
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ และคณะผู้บริหารการเคหะแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัยของประชาชน บริเวณการเคหะคลองจั่น เพื่อสำรวจจุดสำคัญที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการดังกล่าว ร่วมกับผู้นำชุมชน เช่น บริเวณสนามฟุตบอลคลองจั่น สระน้ำสวนนวมินทร์ภิรมย์ และบึงพังพวย ซึ่งเป็นแก้มลิงเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมในเขตบางกะปิ บึงกุ่ม และพื้นที่ใกล้เคียง
รวมทั้งจุดที่ประชาชนขอให้การเคหะฯปรับปรุงบริเวณสาธารณะหลายจุด เช่น สนามฟุตบอล เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้พื้นที่ ผลังจากนั้นได้เข้าร่วมเวทีประชาชน พร้อมรับหนังสือการลงนามจำนวน 2,278 รายชื่อคัดค้านการก่อสร้างโครงการดังกล่าว กระทั่งล่าสุดได้เชิญทั้งสองฝ่ายมาประชุมร่วมกันอีกครั้ง
นายพีระพันธุ์ กล่าวระหว่างการประชุมว่า จากที่ตนได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมด เบื้องต้นได้รับรายงานข้อเท็จจริงจากการเคหะฯ ว่า โครงการดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาในภาพรวม ไม่ได้เจาะจงเฉพาะพื้นที่ เนื่องจากการเคหะฯ ต้องการศึกษาทรัพย์สินทั้งหมดว่า สามารถพัฒนาต่อไปได้หรือไม่
ส่วนของพื้นที่เคหะคลองจั่นเป็นหนึ่งในหลายแห่งที่ได้ทำการศึกษา อย่างไรก็ตาม บริษัทที่ปรึกษาที่รับจ้างจากการเคหะฯ ลงไปศึกษาพื้นที่ต่างๆ ได้ดำเนินการไปตามภารกิจหน้าที่โดยมุ่งเป้าเรื่องการพัฒนาที่ดิน โดยไม่ได้มองเรื่องของมวลชน หรือผลกระทบต่อประชาชนเชิงสังคมในภาพรวม ทำให้เกิดความไม่เช้าใจกันดังกล่าว ซึ่งเป็นจุดอ่อนของบริษัทที่ปรึกษา เรื่องนี้ผู้บริหารการเคหะฯ ไม่ได้ทราบในรายละเอียดมาก่อน แต่เมื่อทราบแล้วก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้นำปัญหามาหาแนวทางแก้ไขอย่างรวดเร็ว
นายพีระพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของความเห็นของตนจากที่ได้ลงพื้นที่ และได้รับรายงานข้อเท็จจริงต่างๆ เห็นว่าโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ที่ต้องใช้งบประมาณหลักหมื่นล้านบาท ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการหางบประมาณมาดำเนินการ เพราะการศึกษาโครงการสามารถเขียนได้ง่าย แต่การทำจริงไม่ได้ง่ายเหมือนเขียนรายงาน
“จากกรณีนี้ ผมคิดว่ากฎหมายการเคหะ ควรต้องปรับใหม่ทั้งหมด เพราะกฎหมายที่ใช้อยู่ทุกวันนี้ใช้มานานมาก ถ้าใครเคยไปที่สิงคโปร์จะเห็นว่าเมื่อเข้าใกล้เขตเมืองจะเห็นอาคารรูปแบบเป็นแท่งๆ ของการเคหะสิงคโปร์ ของเราเรียก กคช. ของเขาเรียก HDB ซึ่งพัฒนาไปไกลกว่าเรามาก ทั้งๆ ที่เขามาดูงานอาคารสงเคราะห์ของเราที่จอมพล ป. ริเริ่มไว้มาตั้งแต่สมัยที่ลีกวนยู เป็นนายกฯ สมัยแรก เขาต้องการพัฒนาที่อยู่อาศัยจากสลัม โดยเข้ามาดูที่ดินแดง
หลังจากที่ดูงานเขากลับไปพัฒนาปรับปรุงตั้งหน่วยงานของเขาขึ้นมา การทำงานของเขาไม่ได้ทำงานคนเดียว เรื่องการจัดที่อยู่อาศัยของเขาทำงานเป็นทีม หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ธนาคารอาคารสงเคราะห์ กองทุนบำเหน็จบำนาญ ต้องมีส่วนร่วมโดยกำหนดเป็นกฎหมายว่าจะต้องร่วมกับการเคหะฯดูแลประชาชนด้วย” นายพีรพันธุ์ ระบุ
ด้าน พล.ต.ดร.เจียรนัย วงศ์สะอาด ประธานคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า เนื่องจากการศึกษาของโครงการเป็นแผนแม่บทของการเคหะฯ ที่จะต้องดำเนินการ แต่หากส่งผลกระทบต่อประชาชน และประชาชนคัดค้าน บริษัทที่ปรึกษาก็จะต้องรายงานการศึกษาอย่างถูกต้องชัดเจน
ดังนั้น เมื่อมีประชาชนคัดค้าน บอร์ดการเคหะฯ สามารถออกเป็นมติยกเลิกหรือยุติโครงการนี้ไปก่อน ยืนยันว่าจะไม่มีนโยบายการดำเนินการต่อ จนกว่าชาวบ้านจะให้มีการก่อสร้างในพื้นที่นี้ และหากชาวบ้านไม่ยินยอมโครงการก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้อยู่แล้ว และขอให้ไปศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ของการเคหะฯ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนแทน
รวมทั้งจะได้เสนอไปยังสภาพัฒน์ฯ เพื่อนำโครงการนี้ออกจากแผนแม่บทของการเคหะฯ ซึ่งจะทำให้เป็นการยุติโครงการได้อย่างถาวร ไม่สามารถดึงกลับมาทำได้อีกไปโดยปริยาย
“นอกจากนี้ การเคหะฯ จะร่วมกับชุมชนเคหะคลองจั่น จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยมีตัวแทนจากคนในชุมชนเข้ามาร่วมเป็นกรรมการด้วย เพื่อมาทำงานร่วมกัน ทั้งในเรื่องของการดูแลพื้นที่ พัฒนาชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง และต้องการสร้างให้เกิดชุมชนที่มีความสุข โดยคณะกรรมการชุดนี้จะทำงานประสานกันระหว่างผู้อยู่อาศัย กับ การเคหะแห่งชาติ หากมีปัญหาก็สามารถแจ้งมาเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไข หรือหากมีข้อเสนอแนะในการพัฒนาพื้นที่และชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น กรณีการฟื้นฟูวิถีชุมชน รวมไปถึงการนำพื้นที่ส่วนรวมเช่น สนามฟุตบอลกลับมาให้ประชาชนได้ใช้ต่อไป ก็สามารถนำมาหารือร่วมกันได้” พล.ต.ดร.เจียรนัย กล่าว
ขณะที่ น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. เขตบางกะปิ-วังทองหลาง พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า สำหรับชาวชุมชนคลองจั่นถือว่าเป็นชุมชนที่แข็งแรง ที่ผ่านมาได้มีการทำงานร่วมกันเองของประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะการประชุมเพื่อหาทางแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ หลังจากที่ได้รับทราบผลการประชุมแล้ว ทุกคนรู้สึกดีใจและได้รับทราบว่าจะได้เร่งดำเนินการในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อประสานงานร่วมกับการเคหะฯต่อไป
“อยากให้พื้นชุมชนคลองจั่นเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชน คำว่า สมาร์ทซิตี้ ไม่ไกลเกินเอื้อม หากทุกหน่วยงานให้ความร่วมมือสมาร์ทซิตี้ ไม่จำเป็นว่าจะเป็นแค่เรื่องของความทันสมัย แต่ยังรวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนให้เกิดสาธารณประโยชน์สูงสุดกับพี่น้องประชาชนด้วย” น.ส.ฐิติภัสร์กล่าว
ด้านนางบุรัญชลี ทองเจริญ ผู้อยู่อาศัยในชุมชนเคหะคลองจั่น กล่าวว่า วันนี้ รู้สึกดีใจ เพราะมีความกังวลเรื่องผลกระทบจากโครงการตั้งแต่รับรู้ว่าการเคหะฯ ทำการศึกษาเรื่องนี้ หากมีการสร้างคอนโดขนาดใหญ่ขึ้นมาจริงๆ จะต้องได้รับความเดือดร้อนทั้งเรื่องของความแออัด และสาธารณูปโภค รวมทั้งปัญหาสังคมที่จะเกิดขึ้น อย่างแน่นอน
จากที่ได้รับฟังผลวันนี้ถือว่า รัฐบาลมีการดำเนินการได้อย่างรวดเร็วในการช่วยแก้ไขปัญหา หลังจากที่พวกตนได้พยายามคัดค้านร้องเรียนตลอดเวลาที่ผ่านมา และหวังว่าหลังจากนี้จะมีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะเป็นสิ่งที่การเคหะฯ ทำได้อยู่แล้ว เป็นสิ่งที่ดีที่มีการตัดสินใจแบบนี้ ประชาชนก็มีความสุขที่จะใช้ชีวิตอย่างสบายใจต่อไป