“อุตตม”เสนอรัฐบาลใหม่ทบทวน“งบ 66”รับมือมรสุมเศรษฐกิจปีหน้า

02 พ.ย. 2565 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :02 พ.ย. 2565 | 17:43 น.

“อุตตม”เสนอแนวทางนำเศรษฐกิจพ้นวิกฤต รัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งปรับปรุงงบประมาณปี 66 เพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกที่สุ่มเสี่ยงต่อถดถอยในปีหน้า และต้องปฏิรูปการจัดทำงบประมาณทั้งระบบให้สอดรับแนวทางพัฒนาประเทศที่มุ่งสู่ความยั่งยืน-ก้าวทันโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังอยู่ในช่วงที่มีความอ่อนไหวต่อสถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ หากติดตามข้อมูลเศรษฐกิจโลกจะเห็นได้ว่า หลายสำนักในต่างประเทศยังระบุว่ามีโอกาสสูงที่เศรษฐกิจโลกจะถดถอยในปีหน้า สาเหตุจากทั้งปัจจัยเรื่องเงินเฟ้อ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง สงครามยูเครน-รัสเซีย ยังไม่ยุติ รวมทั้งมีความสุ่มเสี่ยงจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ   

 

ทั้งนี้หน่วยงานภาครัฐ ธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงการคลัง ชี้ว่า ตัวเลขข้อมูลระดับมหภาค เช่น ระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และสถานะภาพของระบบธนาคารพาณิชย์ สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่ง 

อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่านอกเหนือจากข้อมูลในภาพใหญ่แล้ว เราจำเป็นต้องพิจารณาเชิงลึกให้ถึงเนื้อในที่แท้จริงของเศรษฐกิจให้ครบถ้วน จึงจะรู้ว่าเศรษฐกิจไทยในวันนี้มีความเข้มแข็งระดับใด และจะสามารถฟันฝ่ามรสุมเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นได้ในปีหน้าหรือไม่

 

เช่น ข้อมูลกำลังซื้อของผู้บริโภค ปัญหาสภาพคล่องและการเข้าถึงทุนที่ส่งผลต่อการอยู่รอดของผู้ประกอบการรายกลางรายเล็กที่เป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดในระบบ ภาคเกษตรที่กำลังเผชิญกับภาวะต้นทุนสูงจากราคาปุ๋ย รวมถึงระดับหนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบที่อยู่ในระดับสูง และไม่มีแนวโน้มจะลดลง 


นอกจากนั้น ทุกภาคส่วนยังมีปัญหาเรื่องต้นทุนขยับสูงขึ้นตามราคาพลังงาน ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่าพื้นฐานเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความอ่อนไหวสูง การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังเปราะบาง ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสนใจในการบริหารจัดการด้วยความไม่ประมาท และมองสถานการณ์ข้างหน้าอย่างรอบคอบ  พร้อมไปกับเร่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาขีดความสามารถประเทศให้ก้าวทันโลกยุคใหม่อีกด้วย 

นายอุตตม กล่าวต่อว่า งบประมาณคือเครื่องมือสำคัญที่สุดที่รัฐบาลมีในช่วงต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต แต่วันนี้การจัดหางบประมาณมีข้อจำกัดเพิ่มขึ้น เพราะแหล่งรายได้หลักที่มาจากการจัดเก็บภาษี กำลังถูกท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังอ่อนแอและสุ่มเสี่ยงในอนาคต ขณะที่การดูแลแก้ไขปัญหาให้ประชาชนพร้อมกับขับเคลื่อนไปสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนก็มีความจำเป็น 

 

สำหรับงบประมาณปี 2566 ในภาพรวมยังเป็นการจัดงบประมาณแบบภาวะปกติ ไม่ใช่ภาวะวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญ แม้งบประมาณได้ผ่านสภาไปแล้ว แต่การทบทวนปรับปรุงงบประมาณจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ภายใต้สภาวการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกในปีหน้า

 

ทั้งนี้ รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้งครั้งหน้า สามารถดำเนินการได้โดยเสนอกฎหมายปรับโอนงบประมาณ ซึ่งเคยมีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยเน้นการปรับลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น หรือชะลอโครงการส่วนหนึ่งออกไปก่อน เพื่อปรับเอางบประมาณมาเน้นไปที่การลงทุนที่สร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจสูง เช่น การเร่งฟื้นเศรษฐกิจในระดับฐานราก และกระตุ้นการสร้างงานในพื้นที่ทั่วประเทศ    

หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทย ยังเสนออีกว่า นอกจากการปรับปรุงงบประมาณปี 2566 รัฐบาลหน้ายังสมควรพิจารณาริเริ่มการปฏิรูประบบงบประมาณอย่างจริงจัง เนื่องจากระบบงบประมาณที่ใช้มาทุกวันนี้ ไม่สามารถรองรับการปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศ เพื่อวางรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนในยุคที่โลกมีความเปลี่ยนแปลงและ Disruption ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  


ระบบงบประมาณในอนาคต ต้องสามารถสร้างความเข้มแข็งและเพิ่มพลังให้เศรษฐกิจไทยอย่างแท้จริง ได้แก่ การเร่งสร้างความเข้มแข็งในระดับเศรษฐกิจฐานราก การแก้ไขความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ การสร้างงานสร้างอาชีพและโอกาสใหม่ให้คนไทย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

 

โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การขนส่งคมนาคมสมัยใหม่ที่ครอบคลุมทั่วประเทศ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีทักษะพร้อมทำงานในโลกยุคใหม่ การสร้างเครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เช่น อุตสาหกรรม New S-curve หรืออุตสาหกรรมแห่งโลกอนาคต เป็นต้น 

 

“หากเราจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการงบประมาณ ในปัจจุบันที่มีโครงสร้างแบบไซโลผ่านกระทรวงและหน่วยงาน ซึ่งไม่สามารถบูรณาการให้การใช้งบประมาณรองรับการพัฒนาเชิงยุทธศาสตร์ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันสถานการณ์  


ดังนั้นจุดสำคัญจึงต้องปฏิรูปการจัดงบประมาณให้สามารถส่งตรงลงถึงพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อให้หน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบริหารจัดการและตัดสินใจลงทุนด้วยงบประมาณดังกล่าวเอง ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่และภาพรวมประเทศ ที่ตรงกับความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริงอีกด้วย” นายอุตตม ระบุ