"บิ๊กตู่" เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือโรคอุบัติใหม่

16 พ.ย. 2565 | 06:36 น.
อัปเดตล่าสุด :16 พ.ย. 2565 | 14:01 น.

นายกฯ เปิดงาน APEC University Leader’s Forum: 2022 แลกเปลี่ยนความเห็นเพื่อพร้อมรับมือกับโรคอุบัติใหม่ ชี้ไทยจ่อเสนอผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG”

  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกล่าวเปิดงาน APEC University Leader’s Forum: 2022 การประชุมอภิปรายระดับสูงของผู้นำด้านการศึกษาว่าด้วยการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดครั้งต่อไป ที่อาคารมหาจุฬาลงกรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดขึ้นคู่ขนาน กับการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค

 

          นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมวิชาการในวันนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างสมาคมมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิกกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สอดรับกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ภายใต้เอเปคเป็นโอกาสให้เครือข่ายการศึกษาทั่วโลก ได้พัฒนาความร่วมมือระหว่างกันในระดับนานาชาติ และเป็นเวทีในการแบ่งปันประสบการณ์ในมิติต่าง ๆ

 

รวมถึงการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่และอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต

  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ มุ่งผลักดันการสร้างความร่วมมือ ภายใต้แนวคิด “Open. Connect. Balance.” โดยในส่วนของ Open เน้นการผลักดันให้เอเปคนำเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก มาหารือใหม่ เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายและใช้โอกาสจากบริบทโลกแบบใหม่ อาทิ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้ากับโรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  

 

ส่วน Connect  ให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูความเชื่อมโยงของภูมิภาคในทุกมิติ ทั้งการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างสะดวกปลอดภัย และความเชื่อมโยงทางดิจิทัล เพื่อให้มีแนวทางการรับมือกับวิกฤตโรคระบาดในอนาคต โดยยังสามารถรักษาการเดินทางและกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้มากที่สุด

 

 และ Balance เน้นการส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยส่งเสริมโมเดลธุรกิจที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ที่สร้างผลกำไรควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันทั้งสังคม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

ผลลัพธ์สำคัญของการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้ คือ ไทยจะเสนอให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค รับรองเอกสาร “เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG” เพื่อนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของไทยมาเร่งกระบวนการทำงานในเอเปค และวางบรรทัดฐานใหม่ ให้เอเปคมุ่งเน้นการสร้างเสริมการค้าการลงทุน ควบคู่ไปกับการสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืน

 

"บิ๊กตู่"  เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือโรคอุบัติใหม่

 

นอกจากนี้ ยังขยายความสำคัญ ไปถึงการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการวิจัยเพื่อยกระดับองค์ความรู้ใหม่ ในการพัฒนาสังคมและสร้างความปลอดภัยในชีวิต ให้แก่ประชาชนในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

โดยเฉพาะความปลอดภัยด้านสาธารณสุข ที่แม้ว่าเราจะก้าวผ่านการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19มาแล้ว แต่องค์ความรู้ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ยังต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ความจำเป็นเร่งด่วนของทั่วโลกในขณะนี้คือ การทำวิจัยที่เกี่ยวกับชีวการแพทย์ การบำบัดโรค และการพัฒนาเทคโนโลยีการแพทย์ที่พร้อมต่อการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการนำงานวิจัยมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเกิดผลเป็นรูปธรรมสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง

 

 ในวิกฤตสาธารณสุขที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่า “ความถูกต้องของข้อมูลและการเผยแพร่ รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง” เป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของการสร้างความเชื่อมั่น ให้แก่ประชาชนในการบริหารสถานการณ์วิกฤตของรัฐบาล การเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน ต้องอาศัยความถูกต้องทางวิชาการ

 

ทั้งจากการศึกษา ค้นคว้า ซึ่งภาคการศึกษา มหาวิทยาลัย นักวิชาการ เป็นกำลังสำคัญอย่างยิ่งในการชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องแก่สังคม เพื่อขจัดข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และข่าวปลอมที่แพร่กระจายและเป็นภัยอยู่ในสังคม

       

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

 

ในช่วงเวลาแห่งความไม่แน่นอนนี้ การสร้างความร่วมมือระหว่างกันเป็นหัวใจสำคัญ ในการนำพาประเทศให้ก้าวผ่านวิกฤตไปได้ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก และนานาประเทศถึงนโยบาย และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ของโรคโควิด-19 และการดูแลประชาชน ทั้งการป้องกัน การควบคุมโรค การรักษาพยาบาล และการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด

 

ด้วยความสำเร็จนี้ องค์การอนามัยโลกได้เลือกให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบในโครงการนำร่อง การทบทวนการเตรียมความพร้อมกรณีฉุกเฉินทางสาธารณสุข และสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อเดือนเมษายน 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นความภาคภูมิใจ ที่เกิดจากความร่วมมือของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ทั้งสถาบันการศึกษาและศูนย์วิจัยต่าง ๆ

 

ตลอดจนอาสาสมัครและประชาชนทุกคน รวมถึงความมุ่งมั่นในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี ยารักษาโรค วัคซีน และเครื่องมือทางการแพทย์กับประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่องด้วย

         

นายกรัฐมนตรี ยังชื่นชมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคการศึกษาทั้งหมดที่ได้ร่วมมือกับ ศบค.ในการช่วยเหลือประเทศภายใต้รูปแบบ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” โดยได้นำผลการศึกษาวิจัยมาพัฒนาให้สามารถใช้งานได้จริง และนำมาช่วยเหลือสังคม ในช่วงวิกฤต

 

เช่น CU-RoboCOVID (ซี-ยู-โรโบ-โควิด) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ให้การสนับสนุนด้านการแพทย์ภายในโรงพยาบาลสนาม และ Chula COVID-19 Strip Test (จุฬา-โควิด-19 -สตริป-เทสต์) รวมถึงนวัตกรรมการรักษา “วัคซีนใบยา” ที่เป็นวัคซีนโควิด-19 ชนิด mRNA (เอ็ม-อาร์-เอ็น-เอ) ที่ทางมหาวิทยาลัยพัฒนาขึ้น

 

นวัตกรรมต่าง ๆ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกิดขึ้น จากการร่วมมือพัฒนาของนักวิชาการ และนักวิจัยสหสาขา ในขณะเดียวกันยังมีผลงานยอดเยี่ยม ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ หลายแห่ง ที่สามารถพัฒนาชุดตรวจ และการตรวจชนิดที่ทันเหตุการณ์ หรือการตรวจทางพันธุกรรม ของเชื้อไวรัสที่กำลังระบาดอีกด้วย

 

"บิ๊กตู่"  เปิดประชุมวิชาการเอเปค รับมือโรคอุบัติใหม่

         ในวันนี้ ตนได้ทบทวน บทเรียนจากการรับมือ สภาวะฉุกเฉินในการระบาดของโรคโควิด ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการรับมือกับโรค คือ นโยบายในการวางรากฐานระบบหลักประกันสุขภาพ และความพร้อมของเครื่องมือทางการแพทย์

 

รัฐบาลได้ให้ความสำคัญ กับการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านสาธารณสุขกับนานาประเทศ รวมไปถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยี การค้นคว้า วิจัย และการใช้นวัตกรรมดิจิทัลทางการแพทย์

 

รัฐบาลไทยได้ส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถ ในการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสาธารณสุขทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของบุคลากรให้มีความสามารถสูงขึ้น และมีเครื่องมือทางการแพทย์ ที่ทันสมัยใช้งาน

         

ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมเชิงวิชาการในวันนี้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ ในการสร้างความร่วมมือ ทางวิชาการระหว่างกันในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อหารือแนวทางการ รับมือกับความท้าทายต่างๆ โดยการศึกษาและการวิจัยร่วมกัน จะช่วยให้เกิดการพัฒนาในทุกมิติ โดยมีเทคโนโลยี และนวัตกรรมเป็นรากฐานสำคัญ นำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองของทุกประเทศ ในภูมิภาคอย่างสมดุลและยั่งยืนสืบต่อไป

 

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรี หวังว่าการพบกันครั้งนี้ จะนำไปสู่ความสำเร็จและได้เชิญชวนผู้ร่วมงาน ไปชมนิทรรศการ นำเสนอความสำเร็จ การขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG ที่จัดแสดงในศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ พร้อมบอกว่าต้องให้กำลังใจซึ่งกันและกัน

 

วันนี้สำคัญที่สุดคือต้องสร้างสันติสุขในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นบ่อเกิดทุกเรื่องทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม ดังนั้นเราต้องรักกัน และขอต้อนรับทุกท่านในนามของประเทศไทยด้วยรอยยิ้มสยาม

           

ทั้งนี้ ก่อนเดินทางกลับ นายกรัฐมนตรีได้กล่าวกับสื่อมวลชนด้วยรอยยิ้มว่า “ฝากด้วยนะจ้ะ” ก่อนพูดคุยและขอบคุณกับบรรดาผู้นำด้านการศึกษาที่เข้าร่วมงาน ขณะที่ประธานเครือข่ายมหาวิทยาลัยภาคพื้นแปซิฟิก และอธิบดีมหาวิทยาลัยแคลิฟอเนีย ลอสแองเจลิส บอกกับนายกรัฐมนตรีว่า "I like your smile “

 

ขณะที่นายกรัฐมนตรี ตอบกลับว่า “Thank you” พร้อมทำสัญลักษณ์ I love you ก่อนขึ้นรถและเปิดหน้ากากอนามัย โชว์ยิ้มสยามอีกครั้ง