"ส.ว.จเด็จ"ไม่รับ ปลดล็อค"กม.ท้องถิ่น" หวั่นหนุนคนทำผิด รธน.

30 พ.ย. 2565 | 05:42 น.
อัปเดตล่าสุด :30 พ.ย. 2565 | 13:20 น.

"ธนาธร-ปิยบุตร"แจง ร่างรธน.ยกเครื่องปลดล็อคท้องถิ่น ยันไม่แตะ แบ่งแยกดินแดน -กำนันผู้ใหญ่บ้าน ด้าน "ส.ว.จเด็จ" แย้งปมเลิก "หน่วยราชการส่วนภูมิภาค" ไม่ผ่านรับฟังความเห็น ส่อหนุนคนทำผิดรธน.

การประชุมรัฐสภา  ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมได้เข้าสู่วาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่...) พ.ศ.... เกี่ยวกับหมวดการปกครองท้องถิ่นและการกระจายอำนาจ ที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า และประชาชน จำนวน 76,591 คนเสนอ

 

นายธนาธร  ได้นำเสนอร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ... ว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นฉบับปลดล็อคท้องถิ่น เพื่อทำให้อำนาจและอิสระต่อการบริหาร งบประมาณ รวมถึงประชามติปรับโครงสร้างการบริหารประเทศครั้งใหญ่ โดยยังยึดหลักการพื้นฐานอำนาจเป็นของประชาชนและประชาชนเป็นผู้เลือกตัวแทน  

 

ทั้งนี้จะมีความชัดเจนในอำนาของการให้บริการสาธารณะออกแบบพัฒนาชุมชนของตนเอง เพื่อพัฒนาจังหวัดไปข้างหน้าตอบสนองความต้องการของประชาชนในชุมชน ขณะที่งบประมาณ กำหนดให้จัดสรรงบประมาณเป็นธรรม เพียงพอต่อการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน ท้องถิ่นได้รับงบ  ร้อยละ 30  ไปเป็น ร้อยละ 50

 

 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้า  ชี้แจงร่างแก้ไขรธน.ฉบับปลดล็อคท้องถิ่น

 

นายธนาธร กล่าวว่า  ตนเชื่อว่าการแบ่งสรรอำนาจ จัดสรรงบที่เป็นธรรมตามร่างปลดล็อคท้องถิ่นจะทำให้เป็นจริงได้ ภายใน 10 - 15 ปี ทั้งนี้ร่างนี้เสนอให้ทำประชามติภายใน 5 ปี ต่อการยกเลิก ควบรวมราชการส่วนภูมิภาคเข้ากับส่วนท้องถิ่น ซึ่งระยะเวลา 5 ปีจะเป็นช่วงที่สังคมไทยถกเถียงในเรื่องดังกล่าว

 

อย่างไรก็ดีมีตัวอย่างจากรัฐรวมศูนย์ที่ชัดเจน คือ การหารือของส.ส.ที่หารือในสภาถึงปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อให้ผู้มีอำนาจแก้ปัญหา ข้อมูลพบว่า  ร้อยละ 65 ข้อหารือเป็นปัญหาเชิงพื้นที่ที่แก้ได้ด้วยท้องถิ่นหากได้รับงบประมาณที่เพียงพอและได้รับอำนาจเพื่อแก้ปัญหา ตอบสนองปัญหาให้ประชาชนได้ ดังนั้นหากท้องถิ่นละประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจ งบประมาณ และประเทศร่วมกันจะแก้ไขปัญหาได้

 

“ท่านอาจไม่ชอบผมไม่เป็นไร แต่ขอให้ดูผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก ร่างปลดล็อคท้องถิ่น ผมไม่ได้รับประโยชน์อะไร  แต่ประชาชนส่วนใหญ่จะได้ประโยชน์ หากเห็นด้วยในทิศทางและหลักการในการกระจายอำนาจ หากไม่เห็นด้วยรายละเอียดบางประเด็นขอให้รับหลักการ เพื่อหาทางประนีประนอม ข้อสรุปที่ยอมรับได้ในวาระต่อไปเพื่อให้เราเท่าทันปัญหาของประเทศ” 

 

 

ด้านนายปิยบุตร แสงกนกกุล ตัวแทนผู้ชี้แจง อภิปรายต่อที่ประชุมรัฐสภาโดยย้ำถึงสาระของร่างรัฐธรรมนูญปลดล็อคท้องถิ่น  ว่า รับรองหลักการกระจายอำนาจ ปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของคนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญมาตรา 1 เพื่อยืนยันการกระจายอำนาจในประเทศไทย อยู่ภายใต้หลักความเป็นราชอาณาจักร และรัฐเดียว และมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อป้องกันปัญหาคนตีความพิสดาร หรือเข้าใจกลุ่มตนผิดว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน  นอกจากนั้นยังมีหลักการสำคัญ คือ  ประชาชนต้องมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น

 

“ประเทศไทยเป็นรัฐเดี่ยว ท้องถิ่นและส่วนกลางต้องมีการเกาะเกี่ยว ผ่านการกำกับดูแล ดังนั้นร่างปลดล็อคท้องถิ่นได้กำหนดให้มีการกำกับดูแลภายหลังจากที่ท้องถิ่นดำเนินการไปแล้ว และพบการทำผิดกฎหมาย ขณะที่การมีส่วนร่วมของพลเมือง กำหนดให้เข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น,ถอดถอน และเติมให้ทำประชามติในระดับท้องถิ่นในการทำโครงการ เพื่อต้องการสรางสภาพลเมือง ให้ทำหน้าที่ตรวจสอบ ถ่วงดุลนายกท้องถิ่น ฐานะฝ่ายบริหารท้องถิ่นทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

เช่นเดียวกับการกำหนดให้มีการเปิดเผยการประชุมสภาท้องถิ่น สัญญา จัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส นอกจากนั้นประชาชนจะมีสิทธิในการกำหนดงบประมาณในการทำโครงการที่ประชาชนต้องการ” 

 

นายปิยบุตร อภิปรายถึงการโอนถ่ายส่วนราชการภูมิภาคที่จะกำหนดกรอบการถ่ายโอนที่ชัดเจน ขณะที่การออกเสียงประชามติในการถ่ายโอน ยุบราชการภูมิภาค  ที่กำหนดโรดเม็พฟังความเห็นในระยะ 5 ปี หากประชาชนเห็นด้วย ส่วนราชการไม่ได้ถูกยุบ แต่จะย้ายไปสังกัดท้องถิ่นเท่านั้น และที่สำคัญร่างปลดล็อคท้องถิ่นไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน  โดยตนคาดหวังว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปลดล็อคท้องถิ่นจะได้รับการสนับสนุนจากทุกพรรคการเมือง และวุฒิสภา ซึ่งพบว่ามีความคิดสนับสนุนกระจายอำนาจ

 

“ร่างนี้ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับวุฒิสภา แต่ร่างนี้จะเป็นสิ่งที่แสดงให้สังคมเห็นว่า วุฒิสภาไม่ไดขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญหากเป็นประโยชน์ประชาชน” 

 

จากนั้นได้ให้สมาชิกรัฐสภา  ส.ส. ส.ว. ได้เริ่มอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยนายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. อภิปรายว่า การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นการลอกเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ในร่างแก้ไขที่เสนอโดยเพิ่มเติมมาคือ  มาตรา4 ให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ทำแผนยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค ซึ่งหมายถึง กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายอำเภอ

 

ดังนั้นที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้นำเสนอระบุว่าไม่ยุ่งกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นั้นไม่จริง แต่พูดเพื่อไม่ให้เสียเสียงสนับสนุน  ต่อมากำหนดให้ทำประชามติยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดีตนทราบว่ามาตรา 4 ไม่ผ่านการรับฟังความเห็นตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

 

“ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ปลดล็อค แต่ลอกมาเขียนให้สวยหรู ผมมองว่านัยยะของการเสนอเพื่อโหนกระแสสร้างกระแส หาเสียง เหมือนอย่างที่ส.ว. บางคนบอกว่าเป็นความคิดแบบสุดโต่ง ทะลุดิน ทะลุแก๊ส ทะลุวัง ไม่เป็นประโยชน์ประชาชน ซึ่งสิ่งที่ลอกมา 6 มาตรา หากขยายทำให้รัฐบาลทำเต็มที่จริงจังสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานการปฏิบัติได้จริง รู้กาลเทศะ วุฒิภาวะ และสอดคล้องกับกาลเวลา” 

 

นายจเด็จ อภิปรายตั้งข้อสังเกตด้วยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องการปกครองท้องถิ่นจะสนับสนุนให้คนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่ เนื่องจาก เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ระบุว่าหากเป็นรัฐบาลจะยกเลิกราชการส่วนภูมิภาค จัดเลือกตั้งนายกจังหวัด และสมาชิกพรรคก้าวไกลเสนอทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผ่านการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ และวันนี้ (30พ.ย.) นายธนาธร และนายปิยบุตร เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ตนแปลกใจว่ามีความสอดคล้องแบบมีลับลมคมนัย

 

“ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้รับไม่ได้ เพราะมีลักษณะขัดกันแห่งผลประโยชน์ และทำผิดรัฐธรรมนูญ อย่างน้อย 5 มาตรา คือ มาตรา1 ว่าด้วยการแบ่งแยกราชอาญาจักร หากให้ท้องถิ่นมีความอิสระในหลายรูปแบบ ลามถึงมาตรา 2 ว่าด้วยการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มาตรา5 ที่รับรองให้รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด บทบัญญัติหรือการกระทำใดที่ขัดหรือแย้ง เป็นอันใช้ไม่ได้ มาตรา 77 คือการรับฟังความเห็นประชาชนที่ผมบอกแล้วว่าประเด็นเลิกราชการส่วนภูมิภาคไม่ได้รับฟังความเห็นและมาตรา 255 ว่าด้วยข้อห้ามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ ดังนั้นสิ่งที่ทำนี้คือการสนับสนุนคนทำผิดรัฐธรรมนูญหรือไม่” นายจเด็จ กล่าว

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า นายจเด็จ ได้พาดพิงถึงตนว่า ตนมีความคิดที่อยากจะยกเลิกภูมิภาค ตนคิดว่าเรื่องนี้เป็นเฟคนิวส์ที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง เราพูดกันชัดเจนว่าต้องมีการทำประชามติถามประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีแนวคิดที่ชัดเจน ว่าการกระจายอำนาจมีหลายรูปแบบ มีการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นยังคงไว้ซึ่งส่วนกลาง หรือจะสามารถยกเลิกส่วนกลางไปได้เลย แต่ละประเทศก็มีไม่เหมือนกันขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริงตามนายจเด็จกล่าวหาตน