จากเวทีงานสัมมนา "การกระจายอำนาจกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" จัดโดย เนชั่นทีวี ร่วมกับ สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย โดยช่วงการเสวนาในหัวข้อ "การจัดการอำนาจเพื่อชุมชนยั่งยืน"ซึ่งมีวิทยากรร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประกอบด้วย รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ รองศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์และผู้อำนวยการหลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า , ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน และดร.บัณฑิต นิจถาวร ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
รศ.ดร.มนตรี รองศาสตราจารย์สาขาเศรษฐศาสตร์ และ ผอ.หลักสูตรการจัดการภาครัฐและภาคเอกชนมหาบัณฑิต ภาคพิเศษ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจให้ชุมชนว่า เศรษฐกิจชุมชนนั้นส่งผลกระทบกับภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับประเทศไทยนั้นต้องขับเคลื่อนจากทุกจุด ประชาชนทุกคน คือ ตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญและเป็นเหมือนกันในทุกประเทศ สิ่งที่แตกต่างกัน คือ โครงสร้างของสังคม เช่น โครงสร้างรูปปิรามิด หรือถังเบียร์ เป็นต้น
ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลักเมื่อเกิดสถานการณ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดจึงได้รับผลกระทบซึ่งจะกระทบต่อพื้นที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลกลางแต่ท้องถิ่นมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นเพราะรู้ปัญหาของพื้นที่ดีกว่ารัฐบาลกลาง
สำหรับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นของไทยในปัจจุบันมีกฎหมายกำกับอยู่แล้ว โดยกรมส่งเสริมท้องถิ่นดูแลอยู่ ที่ผ่านมาเวลาจัดทำโครงการ หรือ เสนองบประมาณนั้นยังมีข้อจำกัด แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป จะสามารถเสนอโครงการและของบประมาณที่สอดคล้องกับความต้องการได้ด้วยตัวเอง ขณะที่ คนกลาง อย่างสำนักงบประมาณนั้นจะทำหน้าที่ดูความคุ้มค่าอีกที ดังนั้น ช่วงเวลานี้ท้องถิ่นทุกพื้นที่จึงต้องเตรียมตัว เตรียมความพร้อม รู้ความจำเป็น รู้ปัญหา และรู้ความต้องการของพื้นที่ งบประมาณปี 2567 จึงเป็นโอกาสของท้องถิ่นของชุมชน
สิ่งที่ผู้นำชุมชนสามารถทำได้ทันทีเพื่อมีส่วนและช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศ ของชุมชนได้ เริ่มต้นจากสิ่งที่เรามีความพร้อมก่อน อาทิ กรณีพื้นที่อีอีซีซึ่งมีกฎหมายรองรับที่น่าสนใจ เพราะกฎหมายฉบับนี้ไมได้จำกัดการพัฒนาเฉพาะพื้นที่จังหวัดอีอีซีเท่านั้นแต่สามารถนำไปขยายผลพัฒนาจังหวัด หรือกลุ่มจังหวัดอื่น ๆ ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้จังหวัดใกล้เคียงเกิดการจ้างงาน มีรายได้ หรือการใช้มาตรการทางภาษีเพื่อดึงให้เกิดการลงทุน เป็นต้น นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการใช้ประโยชน์จากพ.ร.บ.อีอีซีฯ
ด้าน ดร.ไพจิตร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน สะท้อนมุมมองตอกย้ำว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้มเข็มย่อมต้องมาจากระดับท้องถิ่น การขับเคลื่อนเศรษฐกิจต้องมาจากท้องถิ่นซึ่งประเทศไทยท้องถิ่นนั้นมีความหลากหลาย สำหรับเศรษฐกิจขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบทั้งจากอัตราดอกเบี้ย เศรษฐกิจโลก โดยวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาลกลางนั้นทำได้ชั่วคราว การเตรียมความพร้อมให้เศรษฐกิจท้องถิ่นสามารถรับแรงกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นสิ่งที่สำคัญ
โดยอปท.ต้องหาทางช่วยเหลือท้องถิ่นที่ยังทำไม่มากพอ คือ การจ้างงาน หน่วยท้องถิ่นจะต้องหาวิธีในการสร้างงานโดยไม่ต้องจ่ายเยอะเพียงแค่ให้มีรายได้ขั้นต่ำ มีรายได้ประจำ มีระบบแมชชิ่งที่ดีก็จะทำให้ประชาชนมีรายได้และเป็นการลงทุนซึ่งท้องถิ่นเริ่มต้นทำได้อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้และมั่นคง
ทั้งนี้ ดร.ไพจิตร ได้หยิบยกการกระจายอำนาจลงสู่ชุมชนของจีนที่ทำได้อย่างดีทั้งๆที่จีนเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวน ความสำเร็จไม่ใช่เป็นเพราะจีนมีระบอบคอมมูนิสต์ แต่เป็นเพราะกระจายอำนาจให้มณฑลมีบทบาทในการบริหารตนเอง
"หลักคิดของจีน คือ คนในท้องถิ่นย่อมรู้ว่า ตนมีจุดอ่อน จุดแข็งเรื่องไหน ต้องการอะไร นอกจากนี้คนท้องถิ่นยังมีมิติหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เริ่มทำในพื้นที่ที่มีความพร้อมก่อนแล้วค่อย ๆ กระจายจากเมืองหลักไปเมืองรอง ไปสู่ชุมชนเมือง เป็นต้น ซึ่งจีนทำอย่างเป็นระบบ มีการออกแบบพูดคุยกันระหว่างส่วนกลางและชุมชนจนเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติ โมเดล คือ การรู้จักตัวเอง รู้จุดอ่อน ใช้จุดแข็ง เชื่อมั่น ร่วมมือ และบูรณาการร่วมกันข้ามมณฑล อาทิ ให้มณฑลที่แข็งแรงจับคู่มณฑลที่อ่อนแอกว่า เป็นต้น
"สิ่งที่จีนทำแล้วเป็นรูปธรรมที่ไทยควรเรียนรู้ คือ การแก้ปัญหาความยากจน ซึ่งหัวใจสำคัญ คือ จีนมีระบบการเมืองที่เข้มแข็ง ผู้นำสานต่อนโยบายจากรุ่นสู่รุ่น อาจปรับแต่งจากนโยบายเดิมได้จนนำไปสู่มิติสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริงและดำเนินการเป็นเรื่องปกติ
ขณะที่ผู้นำไม่ว่าจะไปที่ไหนลงไปที่มณฑลใดก็จะตอกย้ำสิ่งที่เกี่ยวขัองกับนโยบายอย่างต่อเนื่อง ดังเช่น ต้องการแก้ปัญหาเรื่องความยากจน ก็จะนำไปพูดไปบอกตอกย้ำเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ผู้นำ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตัวคนเดียว ต้องมีคนระดับท้องถิ่นและทำอย่างเป็นระบบ และมีระบบการตรวจสอบและลงถึงรากเหง้าอย่างแท้จริง สิ่งที่ต้องให้ส่วนกลางแก้ก็บอกส่วนกลาง
ดร.บัณฑิต ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล กล่าวว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของไทยซึ่งเป็นปัญหาหลัก ๆ คือ กระบวนการตัดสินใจของผู้นำท้องถิ่น จุดอ่อนสำคัญของการบริหารจัดการในภาครัฐมี 3 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง คือ เรื่องผลประโยชน์ขัดแย้ง ระหว่างผลประโยชน์ส่วนรวมและส่วนตัว นโยบายสาธารณะมีวาระซ่อนเร้น เป็นนโยบายที่ไม่ดี
ประการที่สอง ผู้นำท้องถิ่นขาดความรู้ ความสามารถ ขาดความเข้าใจในการทำหน้าที่ ต้องทำงานอย่างเป็นระบบและให้ความสำคัญกับการมีระบบงานที่ดี รวมถึงกระบวนการกำหนดนโยบาย กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง การควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง ระบบบัญชีและการบริหารทรัพยากรบุคคล
สุดท้าย คือ การทำหน้าที่ในฐานะเจ้าหน้าที่รัฐที่ต้องมีธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบในหน้าที่ มีความโปร่งใส
ดังนั้น นอกจากโอกาสแล้วการตัดสินใจของผู้นำท้องถิ่นซึ่งเป็นกระบวนการสุดท้ายจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ออกมาซึ่งนี่เป็นจุดอ่อนของไทยทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้
"สิ่งที่อยากเห็น คือ การทำงานของผู้นำท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดการกระบวนการ เน้นการมีส่วนร่วมกับชุมชนเพื่อการตัดสินใจ เพื่อนำมาสู่การเข้าใจที่ตรงกัน ประการที่สอง คือ การสอบทานการตัดสินใจ มีระบบการคานอำนาจที่ดี สุดท้าย คือ มีธรรมาภิบาลในการทำงาน ทำหน้าที่ ซึ่งต้องเริ่มจากการเปลี่ยนวิธีคิด
จีนนั้นใช้วิธีการแก้ปัญหาโดยกระจายอำนาจให้กับมณฑลต่าง ๆ จนนำไปสู่การกำหนดกฎหมายระดับท้องถิ่น จุดที่สำคัญ คือ เดินหน้าทำให้เกิดการกระจายอำนาจต่อเนื่องและทำเป็นระบบ ต่อมาก็กระจายอำนาจไปสู่เมืองรอง ยกระดับการกระจายระดับไปสู่กลุ่มเมืองก่อนนำไปสู่การกระจายอำนาจในระดับใหญ่
นอกจากนี้จีนเมื่อจะทำอะไรแล้วเขาทำจริง เปลี่ยนแบบเล็กๆทุกปี และเปลี่ยนใหญ่ทุกสามปี ในขณะที่ประเทศไทยนั้นหลายสิบปีผ่านไปก็ยังเหมือนเดิม ดังนั้น เราจึงต้องตั้งเป้าหมาย และพัฒนาแล้วเดินไปตามเป้าที่วางไว้