ฉาวโฉ่! ทุจริตสอบนายสิบตำรวจภูธร ภ.9 ขบวนการใหญ่ รีดค่าหัว 2 แสน - 1 ล้านบาท

11 ธ.ค. 2565 | 06:54 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ธ.ค. 2565 | 14:15 น.

ทุจริตสอบนายสิบตำรวจ ภ.9  พบผู้ทุจริตสอบ 118 คน  สั่งพ้นสภาพแล้ว ทำเป็นขบวนการใหญ่ คิดค่าหัว 2 แสน ถึงกว่า 1 ล้านบาท ข้อสอบรั่วช่วงเคลื่อนย้ายจากสนามหลักไปสนามสอบย่อย มีตร.ระดับรองสว.เอี่ยว ขยายผลพบเครือข่ายทุจริตสอบภูธรภาค 5 ด้วย


จากกรณีที่พบมีการทุจริตสอบนักเรียนนายสิบตำรวจ บช.ภ.9 รุ่น 2 โดยพบว่า เป็นขบวนการใหญ่ตั้งแต่โรงเรียนกวดวิชา และมีนายตำรวจเข้าไปเกี่ยวข้อง มีการคิดค่าหัวตั้งแต่ราคา 2 แสน ถึงกว่า 1 ล้านบาท โดยตรวจสอบเส้นทางการเงินตำรวจต้องสงสัยกับญาติพี่น้องร่วมขบวนการพบเงินหมุนเวียนกว่า 33 ล้านบาท  มีการเสนอตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงทุจริตการสอบ และดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องตามกฎหมาย 


ล่าสุด พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รอง ผบก.อก.ร.ร.นรต.ปรท.กส.บช.ศ. (รองผู้บังคับการอำนวยการ” ระบุว่า การทุจริตดังกล่าวเกิดขึ้นจากการสอบรับสมัครนายสิบตำรวจประจำสังกัดตำรวจภูธรภาค 9 เมื่อวันที่ 27 มีนาคม ที่ผ่านมา เบื้องต้นพบว่า มีบุคคลที่เข้าข่ายการทุจริตการสอบจำนวน 35 ราย 

 


หลังจากได้รับคำสั่งได้ทำการสืบสวนรวบรวมหลักฐานจน พบว่าผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตดังกล่าว มีตั้งแต่เจ้าหน้าที่ตำรวจระดับรองสารวัตรอำนวยการของตำรวจภูธรภาค 9 เอง เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมสนามสอบ และโรงเรียนกวดวิชาที่จะทำหน้าที่ในการจัดหา ผู้สมัครสอบที่ต้องการคำตอบ โดยผู้สมัครจะต้องเสียค่าดำเนินการหัวละ 500,000 บาท ก่อนที่จะได้รับคำตอบในช่วงเช้าของวันสอบ


การทำงานของชุดสืบสวนการทุจริตในครั้งนี้ มีการตรวจสอบหาช่วงที่มีการทุจริตข้อสอบ ทั้งเรื่องของการเคลื่อนย้ายชุดข้อสอบ จากทางโรงพิมพ์ไปถึงตามสนามสอบต่างๆ ในประเด็นนี้ไม่พบว่ามีความผิดปกติ แต่เมื่อสืบสวนลงในรายละเอียดในแต่ละสนามสอบย่อยพบว่า จุดที่มีปัญหาที่เป็นช่วงที่ทำให้ข้อสอบรั่วไหลเกิดขึ้นในช่วงนี้ คือช่วงที่ข้อสอบมาถึงยังสนามหลัก และมีการส่งออกไปยังสนามสอบย่อยตามแต่ละจุดย่อยในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจภาค 9 


“คาดว่าข้อสอบจะรั่วไหลในช่วงนี้และมีการเตรียมคำตอบให้กับผู้สมัครสอบก่อนที่จะเข้าสู่ห้องสอบ โดยผู้สมัครสอบที่พบว่าทุจริตส่วนมาก สอบในสนามสอบย่อย ที่สุดท้ายมีการสรุปจำนวนผู้ที่ทุจริตในการสอบในครั้งนี้จำนวน 118 ราย และขณะนี้ได้มีคำสั่งให้นักเรียนที่ผ่านการสอบในจำนวนดังกล่าวที่ มาจากการทุจริตทั้งหมดพ้นสภาพจากการเป็นนักเรียนโรงเรียนนายสิบเป็นที่เรียบร้อย 


ส่วนการดำเนินการกับตำรวจที่ร่วมในการทุจริต ขณะนี้มีการส่งชื่อตำรวจที่เกี่ยวข้องทั้งหมดไปให้หน่วยงานต้นสังกัด รวมถึงทำหนังสือชี้แจงไปทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้ทราบในรายละเอียดขนาดนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการตั้งคณะกรรมการสอบวินัย”  


พ.ต.อ.อุเทน ระบุอีกว่า คณะทำงานของตนได้รับคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตการเปิดรับนายตำรวจอำนวยการประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เบื้องต้นจากการ สืบสวนพบว่ามีความเชื่อมโยงกันกับเครือข่ายของกลุ่มที่กระทำ การทุจริตการสอบนายสิบตำรวจประจำกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยในส่วนของจำนวนผู้ที่ทุจริตในการสอบหรือมีบุคคลใดเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มเติมเพราะอยู่ในขั้นตอนของการรายงานชี้แจงไปยังหน่วยงานต้นสังกัดผู้บังคับบัญชาและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

 

“คาดว่าการดำเนินการในส่วนของผู้สมัครสอบ จะใช้วิธีการคัดแยกผู้ที่ทำการทุจริตการสอบ ออกจากจำนวนผู้ผ่านการสอบคัดเลือก และดึงรายชื่อของผู้ที่ผ่านการคัดเลือกที่อยู่ในส่วนของตัวสำรอง ที่ไม่มีการทุจริตการสอบขึ้นมาทดแทน แต่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการยังไม่แล้วเสร็จ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดรวมถึงจำนวนได้”


พ.ต.อ.อุเทน กล่าวอีกว่า การป้องกันที่ดีที่สุดในการสอบรับ ควรจะเป็นการจัดสอบที่เกิดขึ้นภายในสนามสอบหลักเพียงอย่างเดียวเพื่อลดช่องว่างในการเดินทางของข้อสอบแต่ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย สามารถทำได้ยาก เพราะมีผู้สนใจสมัครเข้าสอบรับราชการตำรวจเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องมีการกระจายจุดสนามสอบย่อยออกไปตามพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นช่องว่างในการกระทำความผิดแต่ต่อจากนี้กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อยู่ระหว่างการหาแนวทางป้องกันการเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีก


ขณะที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. กล่าวว่า ขณะนี้ทางกองบัญชาการตำรวจศึกษาได้รายงานประเด็นเรื่องการทุจริตการสอบเข้ารับราชการตำรวจซึ่งมีการเผยแพร่ในโลกโซเชียลเข้ามาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว โดยทราบว่า มีการทุจริตในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ซึ่งเป็นการสอบเมื่อเดือนมีนาคม 2565 ทราบว่า มีการดำเนินการกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งผู้เข้าสอบและเจ้าหน้าที่นายอื่นๆ ไปบางส่วนแล้ว


“ส่วนการสอบในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 ซึ่งเป็นการสอบเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอรายงานจากกองบัญชาการศึกษาอย่างเป็นทางการว่า การตรวจสอบออกมาเป็นอย่างไรคาดว่าในช่วงบ่ายนี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น”

 

ทุจริตสอบนักเรียนนายสิบตำรวจ เงินหมุนเวียน 33 ล้านบาท


 มีรายงานว บช.ภ.9 มีคำสั่งที่ 180/2565 ลงวันที่ 28 เม.ย.65 เรื่องแต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริตการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ เมื่อวันที่ 27 มี.ค.


คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ประชุมพิจารณาจากการสอบปากคำผู้ให้ถ้อยคำ พยานหลักฐานที่รวบรวมและจัดทำขึ้นแล้ว สามารถสรุปผลการตรวจสอบตามประเด็นที่กำหนดข้างต้นดังนี้
ประเด็นที่ 1 การรับ-ส่ง ปัญหาข้อสอบของหน่วยสอบ ภ.9 ว่า มีข้อเท็จจริงการปฏิบัติอย่างไร

 

เรื่องนี้คณะทำงานประสานข้อมูลกับ พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รอง ผบก.อก.ร.ร.นรต.ปรท.กส.บช.ศ. รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทราบว่า วันที่ 27 มี.ค. เวลา 02.00 น. พ.ต.อ.วีรชัย โพธิปัตชา รอง ผบก.กส. ส่งมอบข้อสอบให้ พ.ต.อ.หญิง เฉลียว ผิวแดง ผกก.ฝอ.ศฝร.ก.9 กับพวกรวม 4 คน สิ่งที่รับมาประกอบด้วย

 

1.กล่องบรรจุข้อสอบจำนวน 86 กล่อง สำรอง 5 กล่อง รวมเป็น 91 กล่อง 2.ซองตัวอย่างลายมือชื่ออนุกรรมการปิดกล่องปัญหาข้อสอบ 3.หนังสือส่งมอบปัญหาข้อสอบ และ 4.ปัญหาข้อสอบถึงกองอำนวยการสอบของหน่วยสอบ ภ.9 เวลา 10.00 น.

 

พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน ตรวจสอบเส้นทางรถขนส่งปัญหาข้อสอบหมายเลขทะเบียน 99-5590 กรุงเทพมหานคร จากระบบจีพีเอส (GPS) พบว่าออกเดินทางออกจากโรงพิมพ์ จ.สมุทรปราการ วันที่ 27 มี.ค. ถึงคลังสินค้าสนามบินสุวรรณภูมิรอส่งขึ้นสายการบินไทยสมายล์ เที่ยวบิน WE 259 (สุวรรณภูมิ-หาดใหญ่) โดยไม่มีการแวะพักระหว่างทาง ไม่พบบุคคลใดยุ่งเกี่ยวกับกล่องปัญหาข้อสอบ


กระทั่งกล่องปัญหาข้อสอบถูกจัดส่งไปถึงอาคารคลังสินค้าสนามบินหาดใหญ่ มีเจ้าหน้าที่หน่วยสอบ ภ.9 มาตรวจสอบ รายงานว่า ไม่พบร่องรอยการฉีกขาด ชั้นนี้เชื่อว่าไม่มีการรั่วไหลของปัญหาระหว่างการขนส่ง 


คณะทำงานตรวจสอบการรับ-ส่งปัญหาข้อสอบทราบว่า มาถึง ร.ร.นวมินทรา ชูทิศทักษิณ และส่งต่อไปยัง กอ.สถานที่สอบย่อยทั้ง 5 หน่วยสอบคือ สนามสอบ ร.ร.วิทยาลัยเทคโนโลยีสงขลา (สนามสอบ 3) ร.ร.พานิชยการหาดใหญ่ (สนามสอบ 5) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (สนามสอบ 2) ร.ร.นวมินทราชูทิศทักษิณ (สนามสอบ 1) คณะทำงานตรวจสอบขั้นตอนการปฏิบัติการคุมสอบข้อเขียนทั้ง 5 หน่วยสนามสอบไม่พบความผิดปกติ

 

ประเด็นที่ 2 ข้อมูลทางการเงินของบุคคลต้องสงสัยกับกลุ่มผู้สมัครสอบต้องสงสัยว่าทุจริตสอบ เรื่องนี้คณะทำงานตรวจสอบตามประเด็นข้อ 1 เรียบร้อยแล้ว สามารถพิสูจน์ทราบบุคคลที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องการทุจริตคือ นายณัชธรรมรงค์ นิลฎศรี และ น.ส.รุ่งทิพย์ ทองเอื้อ สามีภรรยา คณะทำงานขอข้อมูลธุรกรรมทางการเงินทั้งสองไปเทียบกับธุรกรรมทางการเงินของผู้สมัครสอบที่ผ่านการคัดเลือกข้อเขียน รับสารภาพกับ พ.ต.อ.อุเทนว่า ทุจริตการสอบจริง 35 คน


ผลการตรวจสอบพบความเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินตรงระหว่าง น.ส.รุ่งทิพย์กับผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกข้อเขียน 1 คน ได้แก่ ธุรกรรมทางการเงินระหว่างนายฮานาฬ มะลีเลาะ ผู้เข้าสอบกับ น.ส.รุ่งทิพย์ โอนเงินเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.64

 

และตรวจสอบพบมีความเชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินระหว่างญาติผู้สมัครสอบกับ น.ส.รุ่งทิพย์อีก 2 คน ได้แก่ 1.ธุรกรรมทางการเงินระหว่างนายไชยวัฒน์ กลิ่นจันทร์ (ญาติของนายธวัชชัย กลิ่นจันทร์ ผู้เข้าสอบ) โอนไปหา น.ส.รุ่งทิพย์ วันที่ 13 ธ.ค.64 2.ธุรกรรมทางการเงินระหว่างนายอารีย์ หมีนพราน (ญาตินายชิดดีกีน ปะลาวัน ผู้เข้าสอบ กับ น.ส.รุ่งทิพย์) โอนเงินเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. และวันที่ 25 ธ.ค.64 รวม 1,640,000 บาท


คณะทำงานตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน น.ส.รุ่งทิพย์เพิ่มเติมพบว่า เชื่อมโยงธุรกรรมทางการเงินไปยังบุคคลต่อไปนี้


1.ธุรกรรมทางการเงินระหว่าง น.ส.รุ่งทิพย์กับนายณัชธรรมรงค์ (สามี) โอนจากนายณัชธรรมรงค์ไปหา น.ส.รุ่งทิพย์ 8,000,000 บาท 


2.ระหว่าง น.ส.รุ่งทิพย์กับ ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา หอมนวพล (พี่สาว น.ส.รุ่งทิพย์) เมื่อเดือน ม.ค.65 จำนวน 17 ครั้ง เป็นเงิน 13,700,000 บาท และวันที่ 30มี.ค.65 จำนวน 500,000 บาท 


3.ธุรกรรมทางการเงินระหว่าง น.ส.รุ่งทิพย์ กับนายวุฒิภัทร หอมนวพล สามี ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา เงินโอนไปหานายวุฒิภัทรวันที่ 29 มี.ค.65 เป็นเงิน 3,000,000 บาท 


นอกจากนี้พบธุรกรรมการเงินระหว่างนายวุฒิภัทร กับ ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา ห้วงเดือน ม.ค.-มี.ค.2565 จำนวน 10 ครั้งเป็นเงิน 7,274,580 บาท บัญชีชื่อนางลภัสรดามียอดเงินเคลื่อนไหวตั้งแต่เปิดจนปิดบัญชีรวม 16 ล้านบาทเศษ ส่วนบัญชี น.ส.รุ่งทิพย์ มียอดเงินเคลื่อนไหวตั้งแต่เปิดจนปิดบัญชีรวม 33 ล้านบาทเศษ ปิดบัญชีหลังการสอบคัดเลือกบุคคลภายนอกบรรจุเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ 2564 (รุ่น 2) ไม่นาน

 

ประเด็นที่ 3 ตรวจสอบข้อมูลไอพีแอดเดรสที่ใช้สมัครสอบในส่วนของ ภ.9 กับกลุ่มบุคคลต้องสงสัย ทุจริตการสอบ 35 คนมาตรวจสอบความเชื่อมโยงมีความผิดปกติ 19 กลุ่ม 365 คน พบว่าไอพีแอดเดรสไม่ได้อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 


ประเด็นที่ 4 เชื่อว่ากลุ่มที่ผ่านการคัดเลือกแยกสมัครสอบคนละสถานที่และเวลา หากทุจริตในรูปแบบส่งคนเข้าสอบแทน (มือปืน) รูปแบบไอพีแอดเดรสน่าจะต้องอยู่ในกลุ่มเดียวกัน ประเด็นที่ 5 ข้าราชการตำรวจที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มบุคคลต้องสงสัยที่เปิดสถาบันกวดวิชา 


คณะทำงานตรวจสอบข้อมูลกลุ่มผู้ต้องสงสัยกับรายชื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้สอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบและคุมสอบ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่เดินทางไปรับส่งปัญหาข้อสอบและกระดาษคำตอบจากโรงพิมพ์นำไปส่งที่กองอำนวยการสอบ ภ.9 เบื้องต้นพบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัด ภ.9 เกี่ยวพันกลุ่มผู้ต้องสงสัย 1 คน ยศ พ.ต.ท.แต่ตรวจสอบเส้นทางการเงินยังไม่เชื่อมโยงกลุ่มผู้ต้องสงสัย


ชั้นนี้สรุปว่า มีการทุจริตการสอบเกิดขึ้นจริง เนื่องจากตรวจสอบพบ นายจิรภัทร จันทร์เทพ ผู้เข้าสอบทุจริตการสอบนำกระดาษคำตอบโพยเข้าห้องสอบ ถูกผู้คุมสอบตรวจพบขณะทำข้อสอบ สอบปากคำเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับการจัดให้สอบ ผู้ควบคุมการสอบ ผู้รับ และส่งปัญหาข้อสอบ เพื่อตรวจสอบหาการทุจริตในขั้นตอนการสอบข้อเขียน ชั้นนี้ยังไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดเป็นที่แน่ชัดยืนยันได้ว่า การทุจริตเกิดขึ้นในชั้นตอนใด

 

ต่อมาแจกจ่ายปัญหาข้อสอบไปยังสนามสอบย่อย 5 สนามสอบ ปัญหาข้อสอบและกระดาษคำตอบเดินทางถึงหน่วยสอบย่อยสนามแรกเวลา 10.00 น.และสนามสุดท้ายเวลา 11.17 น. การขนส่งปัญหาข้อสอบและกระดาษคำตอบไปยังสนามย่อยมีเจ้าหน้าที่จากสนามสอบย่อยแต่ละสนามจัดเจ้าหน้าที่มารับและตรวจสอบความเรียบร้อย ยกเว้นสนามสอบที่ 5 โรงเรียนพาณิชยการหาดใหญ่ มี พ.ต.ท.หญิง สุพวรรณ หวันสู กับพวก เป็นผู้นำส่งสถานที่สอบระยะทางไกล มีปัญหาข้อสอบจำนวนมากถึง 36 กล่อง


การปฏิบัติขั้นตอนนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจส่วนงานอื่นร่วมเดินทาง เมื่อปัญหาข้อสอบและกระดาษคำตอบเดินทางถึงสนามสอบแต่ละสนาม เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบร่วมกันตรวจและแกะกล่องปัญหาข้อสอบเพื่อแจกจ่ายไปตามห้องสอบ ชั้นตอนนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสารวัตรถึงรองผู้กำกับการเป็นหัวหน้าชุดควบคุม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นประทวนและนักเรียนนายสิบตำรวจร่วมเป็นเจ้าหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติด้วย


ส่วนกระดาษคำตอบเดินทางจากกองอำนวยการสอบภาค 9 ถึงสนามย่อยแต่ละสนาม พิจารณาเวลาร่วมกับคำให้การของนายจิรภัทรยืนยันว่า มีการปรินต์โพยคำตอบช่วงเวลาประมาณ 12.00 น.ของวันสอบ ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ห้วงเวลาที่น่าเชื่อว่ามีการรั่วไหลของปัญหาข้อสอบคือ ห้วงเวลาระหว่าง 10.58 น. ห้วงเวลาที่สงสัยว่ามีการทุจริต แต่ไม่สามารถยืนยันสถานที่รั่วไหลของปัญหาข้อสอบได้


จากถ้อยคำรับสารภาพของนายจิรภัทร จันทร์เทพ และนายสุทัศน์ จันทร์เทพ ที่ให้ไว้กับ พ.ต.ท.อเสก สีแก้วเขียว สว. (สอบสวน) สภ.เมืองสงขลา วันที่มีการทุจริตว่า ก่อนเกิดเหตุนายประวิทย์ จันทร์เทพ ทราบว่า นายจิรภัทร จะสอบเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ นายประวิทย์แจ้งว่า สามารถช่วยให้เข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจมีค่าใช้จ่ายเป็น 500,000 บาท นายสุทัศน์ตกลงยินยอม
 

จากนั้นจัดให้ นายจิรภัทร ไปที่อานนท์รีสอร์ตเพื่อแนะนำวิธีการใช้งานเครื่องปรินเตอร์ที่ใช้สำหรับปรินต์โพยกระดาษคำตอบผู้เปิดห้องพักคือ นายณัชธรรมรงค์ นิลศรีภู กับ น.ส.รุ่งทิพย์ ทองเอื้อ ขยายผลเพื่อพิสูจน์ทราบกลุ่มผู้ร่วมกระทำความผิด ตรวจสอบความสัมพันธ์เส้นทางการเงินพบว่า มีนายทรงพล ป่านสุวรรณ ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา หอมนวพล และ นายวุฒิภัทร หอมนวพล มีความสัมพันธ์เส้นทางการเงินระหว่างกัน 


จากการสอบปากคำ ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดา เกี่ยวกับยอดเงินชี้แจงยอดเงินได้เพียง 4 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 11 ล้านบาทไม่สามารถให้ข้อมูลชัดเจนได้ ชั้นนี้น่าเชื่อว่า ร.ต.อ.หญิง ลภัสรดาอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มผู้ทุจริต


คณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงมีความเห็นว่า เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับการพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงให้แน่ชัด เห็นควรตั้งกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องการทุจริตการสอบ และดำเนินการตามระเบียบกฎหมายต่อไป