นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ที่ประชุม ครม. (20 ธ.ค.65) มีมติแต่งตั้งให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แทน นายดิสทัต โหตระกิต โดยนายพีระพันธุ์ สามารถปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการนายกฯ ได้ทันที
สำหรับเส้นทางการเมืองของ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ก่อนนั่งเก้าอี้เลขาฯนายกฯ ได้ลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2562 มารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ
กระทั่ง นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ เริ่มขับเคลื่อนตั้งพรรครวมไทยสร้างชาติ นายพีระพันธ์ ก็ค่อยๆถอยฉากจากพลังประชารัฐ มาให้ความสำคัญกับพรรคใหม่ที่ว่ากันว่า มีชื่อมาจากดำริของนายกรัฐมนตรี
สำหรับภารกิจเลขาธิการนายกฯเป็นตำแหน่งข้าราชการการเมือง นอกจากการกำกับดูแลสำนักงานฯ ยังมีสิทธิ์ขาดในการทำงานเกี่ยวกับหนังสือและกิจกรรมบางอย่าง เป็นบุคคลสำคัญในการประสานงานระหว่างผู้ปริหารและบุคคลอื่น ทั้งภายในและภายนอกองค์การ เป็นผู้ช่วยให้งานของผู้บริหารดำเนินไปโดยเร็ว ถือเป็นบุคคลำคัญที่ช่วยให้การทำงานของนายกรัฐมนตรี เป็นไปอย่างราบรื่น
และต้องเป็นบุคคลที่นายกรัฐมนตรี ไว้ใจเป็นอย่างมาก ได้รับการขนานนามว่าเป็นตำแหน่งนายกฯน้อยเพราะมีหน้าที่ ประสานงาน และช่วยการทำงาน หรือแม้แต่สั่งการได้ในนามของนายกรัฐมนตรี
จะเห็นได้ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯซึ่งผู้ถูกกล่าวขวัญถึงในอดีต ไม่ว่าจะเป็น น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ เลขาฯพล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายนิพนธ์ พร้อมพันธ์ เลขาฯนายกฯชวน หลีกภัย
นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช เลขาฯนายทักษิณ ชินวัตร ล้วนมีบทบาทสำคัญในการทำงานในนามนายกรัฐมนตรีมาแล้วทั้งสิ้น