นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทย เปิดเผยว่า “โครงการนำเรือออกนอกระบบ” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลให้เกิดความยั่งยืน
และเป็นการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ภายใต้พระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และโครงการนำเรือประมง ออกนอกระบบตามแผนบริหารจัดการประมงทะเล ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558
โดยโครงการนำเรือออกนอกระบบ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 และ 2 มีเรือที่นำออกนอกระบบและรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 364 ลำ ซึ่งชาวประมงมีความพึงพอใจ ที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือการประกอบอาชีพ ด้วยการซื้อเรือคืนเพื่อนำเรือออกนอกระบบ
แต่ยังมีกลุ่มเรือประมงอีกจำนวนมาก ที่ประสงค์จะนำเรือออกนอกระบบ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ ตามแผนบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลไทย ปี 2563 – 2565 ในการบริหารจัดการกองเรือให้มีความสมดุล กับทรัพยากรประมงทะเล และเกิดความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากสัตว์น้ำ และเพิ่มความคล่องตัว ในการบังคับใช้กฎหมายและระเบียบต่างๆ
ลดปัญหาความขัดแย้ง ในการทำการประมง บรรเทาความเดือดร้อนและแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวประมงได้ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้ชาวประมง ได้มีโอกาสประกอบอาชีพอื่นๆ
ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงจึงได้ดำเนินการตามมติของ คณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการประมงไทยให้ปรับเปลี่ยนวิธีดำเนินการบริหารโครงการนำเรือออกนอกระบบให้เร็วขึ้น ด้วยการใช้วงเงินของธกส. ซื้อคืนเรือให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 โดยรัฐบาลชำระคืนธกส.ตามจำนวนและระยะเวลาที่คณะรัฐมนตรีเห็นสมควร
กรมประมงจึงดำเนินหารือกับ ธ.ก.ส. จนได้ข้อยุติ
ด้วยการใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) เพื่อให้สามารถนำเรือประมง ออกนอกระบบได้ทั้งหมดในคราวเดียวกัน ด้วยวิธีการซื้อเรือคืน สำหรับกลุ่มเรือที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ที่ประสงค์จะเลิกอาชีพทำประมงเพิ่มเติม
ทั้งนี้ มีเรือประมง จำนวน 1,007 ลำ ที่ผ่านการตรวจสอบประวัติและมีคุณสมบัติครบถ้วน จากคณะทำงานตรวจสอบประวัติความถูกต้อง คุณสมบัติเรือประมงและเจ้าของเรือ และได้รับการประเมินราคาชดเชยจากคณะทำงานประเมินราคาเรือประมง โดยมีวงเงิน จำนวน 1,806,334,900 บาท
ขณะนี้ผ่านการเสนอที่ต่อประชุมคณะทำงานกลั่นกรองการเยียวยาและดำเนินการ ตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565ที่ผ่านมา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะได้เสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป
ตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558 ในโครงการนำเรือออกนอกระบบ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการ ในระยะที่ 1 และ 2 มีเรือที่นำออกนอกระบบ และรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาไปเรียบร้อยแล้ว จำนวน 364 ลำ
หากยังดำเนินการตามวิธีการเดิม จะต้องใช้เวลานับ 10 ปี จึงให้มีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการโครงการนำเรือออกนอกระบบ ด้วยวิธีใหม่จะใช้เวลาเพียงไม่เกิน 3-6 เดือน จะบรรลุเป้าหมายหลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ
“ต้องขอขอบคุณกรมประมง ธกส. และ คณะทำงานกลั่นกรองการเยียวยาและดำเนินการตามมาตรการลดจำนวนเรือประมง เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน ที่ดำเนินการจนผ่านขั้นตอนสำคัญๆ และกรมประมงพร้อมนำเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พิจารณา ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป ถือเป็นของขวัญปีใหม่สำหรับชาวประมงที่รอคอยมาตั้งแต่ปี 2558” นายอลงกรณ์ กล่าว