นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ จังหวัดสิงห์บุรี ในวันศุกร์ที่ 6 มกราคม 2566 โดยมีพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายธนกร วังบุญคงชนะ รมว.ประจำสำนักนายกฯ และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมเดินทาง
โดยกำหนดการ ลงพื้นที่มีดังนี้ เวลาประมาณ 08.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ ออกเดินทางจากสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ไปยังสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี โดยเฮลิคอปเตอร์ โดยในเวลา 09.00 น. นายกรัฐมนตรีและคณะ จะออกเดินทางจากสนามกีฬาอำเภออินทร์บุรี ไปยังพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี เพื่อตรวจเยี่ยมความก้าวหน้าพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ
จากนั้นจะออกเดินทางจากพื้นที่ก่อสร้างพนังกั้นน้ำ ต.น้ำตาล เดินทางต่อไปยังพื้นที่นานำร่อง หมู่ที่ 1 ต.น้ำตาล อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เพื่อเป็นประธานเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” ในเวลาประมาณ 09.30 น. โดยนายกรัฐมนตรีจะขับรถดำนาปลูกข้าว ร่วมกับชาวนา พร้อมกับปล่อยปลา ร่วมกับเกษตรกร ก่อนไปยังจุดพิธีเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก”
นายกรัฐมนตรีจะรับฟังรายงานผลการดำเนินงาน โครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model (สิงห์บุรีโมเดล) จากนายภณ ทัพพินท์กร นายกสมาคมพัฒนาเศรษฐกิจเกษตรรักษ์โลก จากนั้น นายกรัฐมนตรีจะกล่าวเปิดกิจกรรม “ข้าวรักษ์โลก” พบปะเกษตรกร และเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ โดยนายกรัฐมนตรีและคณะจะเดินทางกลับถึงสนามเฮลิคอปเตอร์ พล.ม. 2 รอ. เขตพญาไท กรุงเทพฯ ในเวลาประมาณ 14.00 น.
สำหรับโครงการข้าวรักษ์โลก BCG Model เป็นผลงานของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ชาวนาทำการปฏิวัติการทำนาใหม่เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน ด้วยโครงการส่งเสริมการใช้จุลินทรีย์เพื่อการเกษตรเท่านั้น ทำการย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ให้กลายเป็นปุ๋ยธรรมชาติ
ขณะที่ นางสาวชญาภา สินธุไพร รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พลเอกประยุทธ์เตรียมเดินทางลงพื้นที่ร่วมกับรัฐมนตรีหลายกระทรวง ที่จังหวัดสิงห์บุรี และคาดว่าคงจะลงพื้นที่ถี่ยิบก่อนยุบสภา กฎเหล็กของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มีรายละเอียดชัดเจนว่า
ห้ามผู้สมัครรับเลือกตั้งและพรรคการเมืองมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น การมอบสิ่งของช่วยเหลืออุทกภัย ฯลฯ ทำให้ในช่วงน้ำท่วมปีที่ผ่านมา ส.ส.และสมาชิกพรรคของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีความพยายามที่จะลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน ไม่สามารถทำได้ สิ่งที่เกิดขึ้นสร้างความสงสัยให้กับสังคมว่า กฎหมายเลือกตั้งที่มีขึ้นในยุค คสช. สร้างความไม่เท่าเทียมทางการเมืองหรือไม่
การที่พลเอกประยุทธ์ สามารถใช้ทรัพยากรของรัฐ ทั้งรถยนต์ของรัฐ เครื่องบินของรัฐ ไปพบปะผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้งบประมาณหรือกระทำการอื่นใด ที่อาจจะเป็นการสร้างความได้เปรียบทางการเมืองซึ่งดูเหมือนว่าพลเอกประยุทธ์ จะไม่สำนึก และยังคงเดินหน้าทำต่อไป ยืนยันได้จากการแต่งตั้งหัวหน้าพรรคที่พลเอกประยุทธ์จะไปสังกัด เป็นเลขาธิการนายกรัฐ
นอกจากนั้นการที่พลเอกประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคพลังประชารัฐ แต่ยังไม่ทำตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ หลายเรื่องเช่น ค่าจ้างขั้นต่ำ 425 บาทต่อวัน เงินเดือนปริญญาตรี 20,000 บาทต่อเดือน แต่เตรียมเปิดตัวจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผิดมารยาททางการเมืองเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ ในระหว่างที่มีกฎเหล็ก กกต.180 วันอยู่นี้ พลเอกประยุทธ์ควร
1.มีมารยาททางการเมือง ไม่ควรริเริ่มโครงการขนาดใหญ่ในตอนนี้ ที่จะสร้างภาระงบประมาณให้รัฐบาลหน้า
2.ไม่โยกย้ายข้าราชการ เพื่อจัดวางคนสร้างความได้เปรียบทางการเมือง
3.ควรระมัดระวังในการใช้จ่ายงบกลางในช่วงใกล้สิ้นสุดรัฐบาล