เนื่องจากการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ยังคงเป็นปัญหาที่มีการพูดถึงอยู่เสมอในการเลือกตั้งทุกระดับ จึงเป็นประเด็นที่มีการศึกษาในหลากหลายหน่วยงาน องค์กร ล่าสุด การประชุมสมาชิกวุฒิสภา ได้มีวาระการพิจารณารับทราบรายงานการศึกษา เกี่ยวกับการเลือกตั้งให้สุจริต และเที่ยงธรรมด้วย
วันที่ 23 มกราคม การประชุมสมาชิกวุฒิสภา ได้มีการบรรจุระเบียบวาระการพิจารณารับทราบรายงานการศึกษาเรื่องแนวทางการส่งเสริม และการพัฒนาการเลือกตั้งให้สุจริตและเที่ยงธรรม ของคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา
เมื่อถึงวาระดังกล่าว นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา กล่าวว่า กมธ.พิจารณาศึกษาแล้วเห็นว่า ประชาชนควรได้รับค่าตอบแทนการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ควรมีการวางแนวทางให้คนรับเงินซื้อเสียงไม่ผิดกฎหมาย และเสนอแนวทางลดการจำกัดไม่ให้ประชาชนหารายได้จำหน่วยสินค้าระหว่างที่มีการปราศรัยเลือกตั้ง
ในขณะที่ นาย วงศ์สยาม เพ็งพานิชภักดี เลขานุการกรรมาธิการฯ นำเสนอรายละเอียดว่า ควรแก้ไขกฎหมายให้ผู้ที่ขายสิทธิ หรือผู้ที่รับเงินซื้อเสียงไม่ถือว่าเป็นผู้กระทำความผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง เนื่องจาก พบว่าประชาชนมีความจำเป็นต้องรับเงินซื้อเสียงจากปัญหาเศรษฐกิจ แต่ไม่สามารถเข้ามาเป็นพยานได้ เพื่อเอาผิดกับผู้ที่ซื้อเสียงเลือกตั้งได้
ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอให้ กกต.กำหนดให้มีค่าพาหนะสำหรับประชาชนที่เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ในเบื้องต้นกำหนดให้คนละ 500 บาท ซึ่งจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาทเท่านั้น ถือว่าน้อยกว่ามาตรการช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ ที่ใช้งบประมาณเป็นแสนกว่าล้านบาทต่อปี ในขณะที่การเลือกตั้งเกิดขึ้นเพียง 4 ปีครั้ง
นาย วงศ์สยาม ระบุว่า แม้การเลือกตั้งเป็นหน้าที่ แต่ข้อเท็จจริงมีค่าใช้จ่าย การเสนอเงื่อนไขนี้อย่างน้อยทำให้ประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยกินได้ตั้งแต่การเลือกตั้งใช้สิทธิ เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และเกิดแนวคิดที่จะตอบแทนคุณแผ่นดิน เลือกคนดี มีความรู้ เข้ามาทำหน้าที่ เพราะได้รับเงินหลวง ไม่ใช่นักการเมือง และยังช่วยเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วย