นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย ( สร.) พร้อม นายวีระ สมความคิด ยื่นหนังสือให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตรวจสอบกรณีการจัดประชุมใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ว่ามีการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้งหรือไม่
โดย นายสมชัย นำหลักฐานเป็นคลิป 8 คลิป ภาพถ่าย 19 ภาพ และพยานบุคคล 1 คน ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรค และเอกสารคำร้องจำนวน 26 หน้า ขอให้กกต.ตรวจสอบใน 5 ประเด็น คือ
1.การใช้ยานพาหนะ รถบัส หรือรถตู้มากกว่า 100 คัน ขนคนข้ามจังหวัด มาฟังการปราศรัยในวันที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมาโดยในกฎหมายเลือกตั้งห้ามใช้ยานพาหนะขนคนไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งในวันเลือกตั้ง
แต่กรณีนี้ขนคนจากต่างจังหวัดมาฟังปราศรัยที่กรุงเทพฯไม่ได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจน จึงจำเป็นต้องให้กกต.วินิจฉัย เพราะมองว่าการขนคนก็ถือว่าเป็นการให้ประโยชน์ ที่สามารถตีมูลค่าเป็นเงินได้ อีกทั้งยังน่าสงสัยว่ามีการจัดเลี้ยง เช่นข้าวกล่อง น้ำดื่ม หรือการจ่ายค่ายานพาหนะ ค่าเสียเวลาในการมาฟังการปราศรัยหรือไม่
2.การแจกเสื้อ หมวก และธง เพื่อใช้ในการปราศรัยและไม่เรียกคืน สามารถทำได้หรือไม่ ตรวจสอบพบว่ามีการแจกประมาณ 4 พันชุด มูลค่ากว่า 1 ล้านบาท แม้ที่เสื้อจะเขียนว่าเป็นทรัพย์สินของพรรค แต่เมื่อเสร็จกิจกรรม ไม่มีการเรียกคืน ทุกคนนำกลับไปที่บ้าน
มีหลักฐานแจกเสื้อ แจกหมวกในห้องประชุม และยังมีพยานบุคคลที่พร้อมเป็นพยานยืนยันว่า เขาไม่ใช่สมาชิกพรรคได้รับการแจกเสื้อ แจกหมวกจริง ไม่มีการเรียกคืน สามารถนำกลับไปได้ ซึ่งถือเป็นหลักฐานพยานบุคคล
3. การจัดมหรสพการนำศิลปินระดับชาติ นายชัชชัย สุขขาวดี หรือ "หรั่ง ร็อคเคสตร้า" มาขึ้นเวทีปราศรัยมาช่วยในการหาเสียงร้องเพลงของพรรคจำนวน 3 เพลง ในช่วงของการพักเบรกการประชุม แม้ไม่ใช่เพลงมหรสพหรือบันเทิงสามารถทำได้หรือไม่ เพราะในเชิงปฏิบัติแม้เราเคยบอกว่าให้หลีกเลี่ยงการนำศิลปินมาเดินช่วยหาเสียงแต่กรณีนี้การนำศิลปินขึ้นมาบนเวที ก็จะเข้าข่ายมหรสพ
4. การปราศรัยของนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี สมาชิกพรรครทสช.มีการกล่าวถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมถึงพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศในทางที่ไม่เหมาะสม ถือเป็นทำผิดระเบียบการหาเสียงของกกต.อย่างชัดเจน
และ 5 การจัดประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครทสช.ดูป้าย จากการกล่าวการปราศรัยของหัวหน้าพรรค ได้ระบุว่าวันไหนเป็นประชุมวิสามัญของพรรค แต่หากติดตามรายละเอียดการประชุมในวันนั้น จะไม่มีการลงชื่อของผู้เข้าร่วมประชุม ไม่มีการประชุมตามวาระ เช่นประธานกล่าวเปิดประชุม มีการพิจารณาเป็นวาระ หรือแม้กระทั่งการลงมติที่จะเลือกกรรมการสรรหานั้นก็ไม่ปรากฎให้เห็น
จึงอาจไม่มีการจัดประชุมจริง เพียงแต่ว่าใช้ชื่อการประชุมเพื่อบังหน้า แต่เป็นการจัดประชุมเพื่อหาเสียง
" อยากให้กกต.มีคำวินิจฉัยใน 5 ประเด็นให้ชัดเจน หากวินิจฉัยว่าสามารถทำได้ก็จะเป็นบรรทัดฐานให้กับพรรคการเมืองอื่นๆทำได้เช่นกัน แต่ถ้าทำไม่ได้ กกต.ต้องมีมติส่งต่อไปยังศาลฎีกาเพื่อให้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว และลงโทษตามกฎหมายเลือกตั้ง
โดยมองว่าเป็นความผิดในมาตรา 73 (1) ถึง (5)ของพ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ซึ่งกำหนดโทษพรรคการเมือง ผู้สมัคร กรรมการบริหารพรรค หรือผู้หนึ่งผู้ใด กระทำความผิดจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2 หมื่นถึง 2 แสน และแต่สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลา 20 ปี
"หากมองว่าการยุบสภาคดีดังกล่าวจะสิ้นสุดลงไม่ถือว่าเป็นความผิด ขอเตือนกกต.ว่าในกฎหมาย เขียนเรื่องของการนับค่าใช้จ่ายชัดเจนว่า หากยุบสภาการนับค่าใช้จ่ายในการหาเสียงจะเริ่มนับตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบสภา คือรีเซ็ตค่าใช้จ่าย แต่ในของคดีความเป็นเรื่องที่กกต.ต้องวินิจฉัยว่าจะเดินหน้าต่อหรือไม่
หากกกต.วินิจฉัยว่าจะเดินหน้าในคดีนี้ต่อ ก็เดินหน้าต่อไป แต่หากกกต.ไม่เดินหน้า กกต.จะมีปัญหา เพราะถือว่าตัดสินเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อพรรคการเมืองบางพรรคหรือไม่ ซึ่งการตัดสินเช่นนี้เคยมีบทเรียน ในกกต.ชุดที่ 2 ถึงขั้นติดคุกติดตาราง และพ้นจากตำแหน่งยกชุด
ดังนั้นจึงอยากให้กกต.คิดให้ดีว่าแม้จะมีการยุบสภา คดีจะต้องไม่สิ้นสุดต้องเดินหน้าต่อไป หรือระหว่างนี้ก่อนที่จะถึงช่วงยุบสภา หรือเลือกตั้งก็ต้องแสดงความกระตือรือร้นในการทำคดี ไม่ใช่สอบอย่างล้าช้า รอให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นก่อน คนก็จะลืมไป ถือเป็นการจงใจให้เกิดความล้าช้า จนเป็นเหตุให้พรรคใหญ่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งได้
เป็นข้อหาของกกต.ชุดที่ 2 และศาลเคยมีคำสั่งว่ากกต.ผิด เนื่องจากล่าช้า ถึงขั้นจำคุก ซึ่งการจำคุกเพียงแค่ 1 วันก็ขาดจากการเป็นกกต. อยากฝากเป็นบทเรียนให้กับกกต.ชุดนี้ด้วย อะไรผิดก็ถือว่าผิด ชี้แจงให้สังคมเห็นว่า อะไรทำได้หรือทำไม่ได้ ตนมั่นใจพยานหลักฐานที่มอบให้ ปรุงให้เสร็จพร้อมให้ท่านเคี้ยว ถ้าท่านวางเฉยอยู่บนโต๊ะก็จะมีปัญหาได้"
ด้านนายวีระ กล่าวว่า เราได้นำหลักฐานที่เป็นเสื้อ และหมวกที่ประชาชนที่เข้าในงานวันนั้นแล้วได้รับแจก ซึ่งเขาไม่ได้เป็นสมาชิกพรรคนี้เลย เรื่องนี้จะให้เวลากับ กกต.ไม่เกิน 1 เดือน ต้องมีความชัดเจน เพราะไม่ใช่เรื่องยากเย็น แต่ถ้า กกต.ไม่ดำเนินการอะไรเลย จะดำเนินการตามกฎหมายกับเจ้าหน้าที่ กกต. ที่อาจจะเข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ย้ำว่าไม่เกิน 1 เดือนถ้ากกต.ยังเพิกเฉยไม่ทำอะไรเลยจะดำเนินคดีกับ กกต.
“สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 จะเริ่มตั้งแต่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้น วันนี้เรายื่นเรื่องและกกต.ออกเลขรับเรื่องแล้วถือว่า กกต.รับรู้แล้ว ถ้า กกต.ละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เรื่องนี้อายุความมันยาวไป 15 ปี หากอยากจะท้าทายกฎหมาย อยากจะลองของก็เชิญ ผมบอกแล้วว่าไม่เกิน 1 เดือนถ้ากกต.อยากลองของก็เอาเลย ไปสู้กันในศาลเลย”