น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ให้ความสำคัญเดินหน้าปฏิรูปประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในทุกมิติ
โครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ถือเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญเร่งด่วน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ
จึงเร่งผลักดันโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก เป็นหนึ่งในโครงการโครงสร้างพื้นฐานหลักสำคัญของ EEC เพื่อยกระดับสนามบินอู่ตะเภาเป็นสนามบินนานาชาติเชิงพาณิชย์หลัก แห่งที่ 3 เชื่อมสนามบินดอนเมืองและสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
รองโฆษกรัฐบาล กล่าว่า ทั้ง 3 สนามบินสามารถรองรับผู้โดยสารรวมกันได้มากถึง 200 ล้านคนต่อปี ทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” รวมถึงเป็น “เมืองท่าที่สำคัญ" เชื่อมโยงขยายกรุงเทพไปทางตะวันออก ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ
สำหรับโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ตั้งอยู่ในต.พลา อ.บ้านฉาง จังหวัดระยอง เป็นโครงการในรูปแบบ PPP มีมูลค่าการมูลค่าการลงทุน รวม ประมาณ 290,000 ล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันพุธที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา ที่ประชุม กพอ.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้รับทราบและพิจารณาความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก
หลังจากเอกชนคู่สัญญา และกองทัพเรือ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงการใช้สนามบินอู่ตะเภาร่วมกัน (Joint Use Agreement) และรายงาน EHIA ได้รับการอนุมัติจาก คณะรัฐมนตรี โดย สกพอ.ได้แจ้งให้เอกชนรับสิทธิตามสัญญาแล้ว เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 จากนี้ สกพอ.จะแจ้งให้เอกชนเริ่มงานก่อสร้างได้ในช่วงต้นปี 2566 หลังจากเงื่อนไขบังคับก่อนตามสัญญาร่วมลงทุนครบถ้วน
สนามบินอู่ตะเภาตั้งเป้าหมาย ให้รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคนต่อปี โดยโครงการจะมีการลงทุน ในด้านต่างๆ ที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งการให้บริการสนามบินเชิงพาณิชย์ การพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งจะสร้างบรรยากาศการลงทุนที่จูงใจภาคเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ ในการขยายการลงทุนมาสู่พื้นที่อีอีซี
รวมไปถึงการเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ที่สำคัญประโยชน์ของโครงการนี้ จะสร้างผลตอบแทนด้านการเงินจากค่าเช่าที่ดิน ส่วนแบ่งรายได้ มูลค่าปัจจุบัน 305,555 ล้านบาท มีรายได้จากภาษีอากร 62,000 ล้านบาท
มีการจ้างงาน 15,600 ตำแหน่งต่อปี ในระยะ 5 ปีแรก เพิ่มเทคโนโลยี และพัฒนาทักษะแรงงาน ด้านธุรกิจการบิน และธุรกิจเชื่อมโยง และเมื่อสิ้นสุดสัญญาทรัพย์สินทั้งหมดตกเป็นของรัฐ