นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์เปิดเผยว่า ตามที่ได้ทำหนังสือจำนวน 3 ฉบับคือฉบับที่ 1 ยื่นถึงพล.อ.อนุพงศ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณี นายห่าว เจ๋อ ตู้ หรือ ตู้ห่าวกับพวกคนจีนสีเทา
ถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงเรื่องยาเสพติด บ่อนการพนันผิดกฎหมาย โดยเป็นผู้ที่แปลงสัญชาติไทย โดยสอบถามการดำเนินการประด็นต่างๆคือ
1. การอนุมัติสัญชาติไทยให้บุคคลต่างด้าวตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 ถึงปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้นกี่ราย ต้นทางสัญชาติใด
2. กระทรวงมหาดไทยมีการติดตามพฤติกรรมผู้ได้สัญชาติไทยหรือไม่
3. มีข่าวว่าต้องมีการจ่ายเงินจำนวนมากในการโอนมาเป็นสัญชาติไทยจริงหรือไม่
4. มีมาตรการป้องกันไม่ให้อาชญากร จากต่างประเทศโอนเป็นสัญชาติไทยได้อย่างไร และที่ได้สัญชาติไทยแล้ว จะเพิกถอนสัญชาติคนจีนสีเทาหรือมาเฟีย จากสัญชาติอื่นอย่างไร เมื่อไร
5. กรณีสวมบัตรประชาชนคนไทยที่เสียชีวิตไปแล้ว จะตรวจสอบทั้งประเทศอย่างไร เมื่อไร
6.จะดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทุกระดับทุกหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับจีนสีเทาอย่างไร เมื่อไร
7. ปัจจุบันมีคนสัญชาติจีน รออนุมัติเป็นบุคคลสัญชาติไทย อีกจํานวนเท่าไร และจะอนุมัติหรือไม่ อย่างไร
ส่วนหนังสือฉบับที่ 2 นายวัชระ ได้ยื่นถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีตำรวจบุกตรวจค้นสถานที่ตั้ง สมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วพบภาพผู้นำขนาดใหญ่หลายภาพ ธงชาติทุกประเทศ อาวุธปืนสงครามในตู้กระจก และชุดทหารราชองครักษ์ ใส่หุ่นแสดงในตู้กระจก ซึ่งจากการสืบสวนพบว่า มีความเกี่ยวข้องกับนายตู้ห่าวกับพวก (กลุ่มทุนจีนสีเทา)
จึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการจัดตั้งสมาคมพ่อค้าไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการดำเนินงานที่ขัดกับกฎหมาย และความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชนหรือไม่ เนื่องจากหลักฐานที่ตำรวจค้นพบในสมาคมฯ อาจมีลักษณะเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศชาติ
และหนังสือฉบับที่ 3 นายวัชระ ได้ยื่นถึงปลัดกระทรวงมหาดไทย กรณีนายตู้ห่าวและพวก (กลุ่มทุนจีนสีเทา) ซื้อโครงการบ้านหรู ของบริษัท เอสซี แอสเสทคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ราคาเฉลี่ยหลังละ 35 – 50 ล้านบาท รวมเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท จึงขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการทําธุรกรรม การซื้อขายบ้าน-ที่ดินดังกล่าว หรือผู้ถือครองแทน
และขอให้ตรวจสอบว่าเจ้าพนักงานที่ดิน ที่ได้รายงานธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินอันเป็นอสังหาริมทรัพย์ ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่ อย่างไร
โดยขอให้ตรวจสอบ สำนักงานที่ดินทุกแห่งในกรุงเทพมหานคร และทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2550 จนถึงปัจจุบัน เจ้าพนักงานที่ดินสาขาต่าง ๆ ได้รายงานการทำธุรกรรม กรณีดังกล่าวต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินหรือไม่ หากละเว้นขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง และให้ดำเนินการตามกฎหมายทุกราย
ทั้ง 3 กรณีดังกล่าวสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย มีหนังสือตอบกลับมายังนายวัชระแจ้งว่า กรณีที่ 1-2ได้แจ้งให้กรมการปกครอง ตรวจสอบข้อเท็จจริง และพิจารณาดำเนินการแล้ว
ส่วนกรณีที่ 3 ได้แจ้งให้กรมที่ดินตรวจสอบข้อเท็จจริงและพิจารณาดำเนินการแล้วเช่นกัน หากได้ผลอย่างไรจะแจ้งให้ทราบต่อไป