“บิ๊กต่อ”ขานรับ 11 กฎเหล็ก เร่งสร้างจิตสำนึกตำรวจ แก้ปัญหาตั้งด่านรีดไถ

05 ก.พ. 2566 | 07:40 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.พ. 2566 | 08:02 น.

“บี๊กต่อ” รองผบ.ตร. เตรียมเรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาตำรวจตั้งด่านรีดไถ เผยต้องเร่งสร้างจิตสำนึกใหม่ ปรับตัว จัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ทุกสาย ย้ำตำรวจเลวเพียงแค่กลุ่มเดียว

หลังจากที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) มีหนังสือบันทึกข้อความด่วนที่สุดที่ 0007.22/438 ลงวันที่ 2 ก.พ. กำชับการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด พร้อมออกกฎเหล็ก 11 ข้อ กำชับตำรวจทั่วประเทศให้มีการบันทึกภาพ และเสียงระหว่างปฎิบัติหน้าที่ตลอดเวลาและให้นำข้อมูลเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์ไม่น้อยกว่า 20 วันนั้น 

ล่าสุด พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผบ.ตร. เปิดเผยว่า ได้รับมอบหมายให้จัดตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล โดยจะเริ่มมีการประชุมภายในสัปดาห์หน้า 

“เรื่องการตั้งด่านผมมองว่าแม้จะมีมาตรฐานอย่างไร แต่สำคัญที่สุดตำรวจจะต้องมีจิตสำนึก เราจะต้องแก้ปัญหาเฉพาะจุด ต้องสร้างจิตสำนึกใหม่ เพราะตอนนี้โลกไปไกลแล้ว”

รองผบ.ตร. กล่าวว่า ด้วยพ.ร.บ.ตำรวจใหม่ที่จะออกมา จะเป็นการกำกับดูแลตำรวจมากขึ้น ถ้ามีการทำเรื่องไม่ดีทั้งสื่อมวลชน และสื่อสังคมโซเชียล ข้อมูลสะท้อนการทำงานของตำรวจ ตำรวจต้องปรับตัว จะต้องมีการจัดฝึกอบรมทุกสาย ไม่เพียงแต่สายป้องกันปราบปรามเท่านั้น อย่ามองว่าตำรวจเลว เป็นเพียงแค่กลุ่มเดียว ไม่ได้มีปัญหาทุกด่าน ถ้าคุณไม่ได้ปรับตัว คุณจะไม่ได้ไปต่อแน่นอน ถ้าทำผิดตำรวจจะต้องเข้าเรือนจำไม่ได้ประกันตัว”

พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ กล่าวด้วว่า ตำรวจจะต้องแม่นในข้อกฎหมาย ต้องผ่านการฝึกอบรม ผ่านมาตรฐานในแต่ละสาย ต้องมีความพร้อมทั้งยุทธวิธีและข้อกฎหมาย ซึ่งเรื่องนี้ทางผบ.ตร.ได้สั่งกำชับให้เร่งแก้ไข

ก่อนหน้านี้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผบ.ตร. ได้มีหนังสือ กำชับแนวทางปฎิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ของตำรวจ จำนวน 11 ข้อ ประกอบด้วย

1.ตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัดทุกนายแต่งเครื่องแบบ และติดกล้องบันทึกภาพเคลื่อนไหวแบบดิจิตอล (Police Body Camera) ตลอดระยะเวลาการปฏิบัติ และเมื่อมีกรณีการเรียกตรวจบุคคลและยานพาหนะ ให้บันทึกภาพและเสียงขณะตรวจไว้ตลอดเวลา

และให้นำภาพและเสียงที่บันทึกไว้ในกล้องไปจัดเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของหน่วยในโอกาสแรกหลังเลิกการปฏิบัติ โดยให้เก็บภาพและเสียงไว้เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน และให้ หน.สน./สภ. ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด หากพบข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าว ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัยหัวหน้าด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด จนถึง หน.สน./สภ.

2.ในการตั้งจุดสกัด ให้ปฏิบัติได้เฉพาะกรณีจำเป็นเร่งด่วน เพื่อระงับยับยั้ง สกัดกั้น หรือจับกุมผู้กระทำความผิดเท่านั้น โดยให้ดำเนินการและประสานการปฏิบัติกับศูนย์รับแจ้งเหตุ/ศูนย์วิทยุสื่อสารของหน่วยในทันที โดยไม่ต้องขออนุมัติผู้บังคับบัญชาระดับ หน.สน/สภ. ขึ้นไป

3.การตั้งจุดตรวจเพื่อป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และจุดตรวจเพื่อบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก ต้องได้รับอนุมัติจาก ผบก. ขึ้นไปทุกครั้ง หากพบว่ามีการตั้งจุดตรวจโดยไม่ได้รับอนุมัติจาก ผบก.ขึ้นไป ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บก./ภ.จว. พิจารณาข้อบกพร่องเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แล้วรายงานให้ ตร. ทราบทันที

4.กำชับในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ ให้ทุกหน่วยลงข้อมูลในสารสนเทศของ ตร. (Thai Police Checkpoint Control : TPCC ) โดยให้ถือปฏิบัติตามหนังสือ ตร. ข้างต้นที่กำหนดแนวทางไว้แล้วอย่างเคร่งครัด และให้ หน.สน/สภ. ควบคุม กำกับ ดูแลการปฏิบัติอย่างใกล้ชิด หากพบข้อบกพร่องในกรณีดังกล่าว ให้พิจารณาดำเนินการทางวินัย หัวหน้าด่านตรวจ จุดตรวจ จนถึง หน.สน/สภ.

5.ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ ตร. บช/ภ. และ บก/ภ.จว. สุ่มตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. กำหนด

6.ให้ รอง ผบช. และ รอง ผบก. ที่รับผิดชอบงานป้องกันปราบปรามอาชญากรรม งานจราจร และงานจเรตำรวจ ควบคุม กำกับ ดูแล และสุ่มตรวจการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ให้เป็นไปตามแนวทางที่ ตร. กำหนด

ในกรณีที่ตรวจพบว่าการปฏิบัติไม่เป็นไปตามแนวทางดังกล่าว เช่น ป้ายข้อความตามที่กำหนด การจัดรูปแบบการตั้งด่านตรวจ/จุดตรวจ ป้ายไฟ การวางกรวยยาง กล้อง Body Camera กล้องวงจรปิด เป็นต้น ให้ผู้บังคับบัญชาที่ตรวจพบ แนะนำ ตักเตือน ให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว ทั้งนี้ให้ติดตามผลการปรับปรุงแก้ไขในกรณีดังกล่าวด้วย

7.ให้ จต. สุ่มตรวจการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด โดยรายงานผลการตรวจให้ ตร. (ผ่าน สยศ.ตร.) ทราบ ทุกวันที่ 5 ของเดือน แล้วให้ สยศ.ตร. สรุปรายงานให้ ผบ.ตร. ทราบ และนำเข้าที่ประชุมบริหาร ตร.

8.หากมีกรณีผู้บังคับบัญชาตรวจพบ หรือมีกรณีร้องเรียน หรือปรากฎเป็นข่าว หรือปรากฎตามสื่อสังคมออนไลน์และผลการตรวจสอบพบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพฤติการณ์ส่อไปในทางทุจริตหรือแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบหรือเรียกรับสินบน

ให้ผู้บังคับบัญชาระดับ บช./ภ. พิจารณาดำเนินการทางวินัย อาญาและปกครอง แล้วแต่กรณี กับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง และพิจารณาข้อบกพร่องผู้บังคับบัญชาผู้ที่มีหน้าที่ควบคุมกำกับ ดูแล จนถึง หน.สน./สภ. แล้วรายงานให้ ตร. ทราบทันที

9.หากผลการตรวจสอบตามข้อ 8 พบว่า ผู้บังคับบัญชาระดับ บก/ภ.จว. ปล่อยปละละเลย ไม่ใส่ใจในการควบคุม กำกับ ดูแล และกำชับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้พิจารณาข้อบกพร่อง รอง ผบก. ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และ ผบก. ในกรณีดังกล่าวด้วย

10.ให้ ผบช.น. ภ.1-9 ก. ผบก.น.1-9 ภ.จว. ทล. จร. และ หน.สน./สภ. ประชุมชี้แจง และกำชับเจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดให้ถือปฏิบัติตามหนังสือนี้อย่างเคร่งครัด โดยให้บันทึกการประชุมชี้แจง และกำชับไว้เป็นหลักฐานด้วย

11.ให้นำผลการดำเนินการติดตาม ควบคุม กำกับดูแลด่านตรวจ และจุดตรวจ พร้อมปัญหาข้อขัดข้องของหน่วยในสังกัดเข้าที่ประชุมบริหารของ บช.น. และ ภ.1-9 เป็นประจำทุกเดือน โดยให้ ผบก.น/ภ.จว. เป็นผู้รายงาน เพื่อทราบและถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด