วันนี้(7 มี.ค.66) นายประวิตร บุญเทียม ประธานแผนกคดีละเมิดและความรับผิดอย่างอื่นในศาลปกครองสูงสุด กล่าวถึงความคืบหน้าคดี “ที่ดินเขากระโดง” ที่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ยื่นฟ้อง กรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับที่ดิน รฟท. ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ 5,083 ไร่
พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 707 ล้านบาท ว่า คดีดังกล่าวฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อ 23 ก.ย.2564 และศาลปกครองสั่งรับฟ้องเมื่อเดือน มี.ค.2565 อยู่ระหว่างการพิจารณาว่า กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน เพิกเฉยละเลยหรือไม่ และหากละเลยจะเป็นการละเมิดเรียกค่าเสียหายหรือไม่ ซึ่งขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองกลาง
เมื่อถามว่าผลการพิจารณาคดีดังกล่าวจะมีการเอาผิดกับนักการเมืองชื่อดังที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้หรือไม่ นายประวิตร กล่าวว่า คดีนี้คู่ความคือ รฟท. ฟ้องกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ว่ามีการละเลยหรือไม่แค่นั้นเอง
ส่วนผลจะบอกว่ากรมที่ดินละเลยหรือไม่นั้น อาจจะเอาเนื้อหาของคำวินิจฉัยไปทำอย่างอื่น แต่ยังไม่รู้ว่าศาลจะลงเนื้อหามากน้อยแค่ไหน ทั้งนี้หากศาลวินิจฉัยว่า อธิบดีกรมที่ดินละเลย ศาลก็ตัดสินให้อธิบดีปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนการดำเนินการกับคนที่ครอบครองที่ดินนั้น ตอบไม่ได้ เพราะกลุ่มนั้นมีทั้งคนที่มีเอกสารสิทธิ์ หรือคนที่ครอบครองมือเปล่า ดังนั้น ก็ต้องขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงของแต่ละราย ซึ่งศาลตอบตรงนี้ไม่ได้ เพราะจะมีการพิจารณาแค่ว่ากรมที่ดินละเลยหรือไม่
เมื่อถามอีกว่าคดีดังกล่าวถูกมองว่าการที่ รฟท.ฟ้องกรมที่ดินเป็นการยื้อเวลาในการเพิกถอนที่ดินดังกล่าว นายประวิตร กล่าวว่า พูดไม่ได้หรอก แต่ศาลปกครองจะตอบได้เฉพาะคดีที่อยู่ในมือ เมื่อเขาฟ้องว่าละเลยก็รับไว้ และต้องดูว่าละเลยจริงไหม
ส่วนจะเป็นการยื้อเวลาหรือไม่ตอบไม่ได้ เรื่องระยะเวลาในการพิจารณาคดีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2564 นั้น ก็ยังถือว่าไม่นานเท่าไหร่ อาจจะมีขั้นตอน บางเรื่องอาจจะมีพยานหลักฐานไม่พอ อาจจะมีการเรียกให้ชี้แจงเพิ่มเติม หรือให้แก้ฟ้อง และยิ่งคดีนี้อาจจะมีความยุ่งยากเยอะ กรมที่ดินต้องอธิบายอาจจะขอขยายคำให้การ
“ส่วนที่กลัวว่าอธิบดีกรมที่ดินจะพ้นวาระก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษานั้น ก็ไม่เป็นไร เพราะระบบคดีปกครองเป็นการฟ้องตำแหน่ง ถ้าศาลปกครองพิพากษาให้ รฟท.ชนะ ก็ให้อธิบดีกรมที่ดินปฏิบัติตามหน้าที่ ส่วนจะเป็นอธิบดีคนไหนก็ต้องทำตามหน้าที่ ซึ่งศาลอาจจะบอกว่า ให้อธิบดีกรมที่ดินวินิจฉัยแล้วให้คำตอบมา โดยอธิบดีกรมที่ดินอาจจะบอกว่าไปสอบสวนแล้วเพิกถอนไม่ได้ เพราะราษฎรเหล่านั้นมีสิทธิ ก็อาจจะเป็นไปได้ เพราะศาลไปบังคับดุลยพินิจขนาดนั้นไม่ได้ แต่ตอนนี้เป็นการฟ้องว่ากรมที่ดินเฉยไม่ทำอะไรเลย”