"สุรเชษฐ์"โชว์เอกสาร ส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้าน รถไฟฟ้าสีส้ม

13 มี.ค. 2566 | 07:07 น.
อัปเดตล่าสุด :13 มี.ค. 2566 | 08:13 น.

"สุรเชษฐ" โชว์เอกสารข้อเสนอ "บีอีเอ็ม" ที่ชนะประมูลสัมปทานรถไฟสายสีส้ม ยันข้อเท็จจริงส่วนต่าง 6.8 หมื่นล้านบาท ชัดเจน คืนผลตอบแทนให้รัฐน้อยกว่าข้อเสนอ "บีทีเอส" กระทุ้งสังคมอย่าปล่อยให้เข้า ครม.

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยเอกสารหลักฐานที่เพิ่งได้รับ กรณีข้อสงสัยการทุจริตประมูลสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งเคยอภิปรายไปหลายครั้งก่อนหน้านี้

ให้เห็นถึงความพยายามกีดกันคู่แข่งของบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ชนะการประมูล ซึ่งก็คือบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS ให้ออกไปจากการแข่งขัน โดยมีส่วนต่างที่รัฐต้องจ่ายอุดหนุนให้เอกชนสูงถึงกว่า 6.8 หมื่นล้านบาท

 ส.ส.ก้าวไกล ระบุว่า นี่คือการประมูลที่เกิดขึ้นถึงสองครั้ง เพื่อสร้างสิ่งเดียวกัน แต่มีส่วนต่างสูงถึง 6.8 หมื่นล้านบาท พร้อมยืนยันว่าส่วนต่างมีอยู่จริง แม้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะพยายามปฏิเสธเพียงใดก็ตาม
 

"สุรเชษฐ์" เปิดเอกสาร ส่วนต่าง 6.8 หมื่นล. รถไฟฟ้าสีส้ม

นายสุรเชษฐ์กล่าวว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ตนได้มาครั้งนี้ คือเครื่องยืนยันที่ดีที่สุด นั่นคือข้อเสนอของฝ่ายบีอีเอ็มที่ตนได้พยายามขอมาหลายครั้งผ่านทุกช่องทางแล้วแต่ก็ไม่เคยได้รับการตอบสนองจากหน่วยงานใดๆ ที่เกี่ยวข้องเลย แต่บัดนี้เข้าใจได้ว่าเมื่อหัวโจกไม่อยู่แล้ว ข้าราชการที่รักความยุติธรรมจึงเริ่มเคลื่อนไหว ส่งข้อมูลมาให้ตนในที่สุด

 เมื่อนำข้อมูลข้อเสนอจากทั้งสองฝ่ายมาเปรียบเทียบกัน จะเห็นได้ว่าข้อเสนอของบีทีเอส จะขอเงินจากรัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง ในปีที่ 3-8 ยอดรวม 79,820 ล้านบาท โดยจะมีกำไรจ่ายคืนรัฐในปีที่ 20 เป็นต้นไป รวมเป็นเงินจำนวน 70,145 ล้านบาท ผลรวมจะเท่ากับเกิดส่วนต่างที่รัฐต้องอุดหนุนเพียง 9,675 ล้านบาท

ขณะที่ข้อเสนอของบีอีเอ็มนั้น มีการขอเงินรัฐอุดหนุนค่าก่อสร้าง ในปีที่ 3-8 เป็นจำนวน 81,871 ล้านบาท โดยผลตอบแทนที่บีอีเอ็มจะให้ตั้งแต่ปีที่ 14 เป็นต้นไป จะคืนเป็นยอดรวมเพียง 3,583 ล้านบาทเท่านั้น

"สุรเชษฐ์" เปิดเอกสาร ส่วนต่าง 6.8 หมื่นล. รถไฟฟ้าสีส้ม

กล่าวคือขณะที่บีทีเอสมีข้อเสนอจะจ่ายคืนให้รัฐ 70,145 ล้านบาท บีอีเอ็มจะคืนให้เพียง 3,583 ล้านบาท โดยที่ค่าก่อสร้างแทบไม่ต่างกันเลย ผิดกับที่ฝ่าย รฟม. มักออกมาอ้างว่าจำเป็นต้องใช้เทคนิคชั้นสูงในการสร้างอุโมงค์ใต้ดิน ทำให้ต้องใช้งบประมาณมากขึ้น แต่หากลงไปดูในรายละเอียดเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่าทั้งสองข้อเสนอแทบไม่มีอะไรแตกต่างกันเลย

“ดังนั้น ที่ต่างจริงๆ ก็คือผลตอบแทนที่จะคืนให้รัฐ ซึ่งบีอีเอ็มให้น้อยกว่าบีทีเอสมาก คำถามคือส่วนต่างนี้จะเอาไปทอนให้ใคร แน่นอนว่าทั้งหมดจะอยู่ในกระเป๋าของบีอีเอ็ม แต่บีอีเอ็มจะเอาไปให้ใคร หรือให้พรรคการเมืองใดบ้างหรือไม่ ผมอยากให้พี่น้องสื่อมวลชนและประชาชนร่วมกันติดตาม” สุรเชษฐ์กล่าว

นายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายสุรเชษฐ์ ระบุว่าจากวันนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง คณะรัฐมนตรียังมีเวลาเหลืออย่างมากอีกเพียง 2 ครั้งที่จะอนุมัติเรื่องต่างๆ คือในการประชุม ครม. พรุ่งนี้ (14 มีนาคม) หรือหากยังไม่มีการยุบสภาเร็วๆ นี้ ก็จะต้องเป็นการประชุม ครม. สัปดาห์หน้า ที่ต้องจับตาคือจะมีการยัดเรื่องนี้เข้าไปหรือไม่ ซึ่งตนเชื่อว่าถ้าทุกคนเงียบเกี่ยวกับเรื่องนี้เมื่อไร จะมีการนำเข้าไปแน่นอน รวมทั้งอาจมีการใช้กระบวนการยุติธรรมมาฟอกขาว ว่าข้อเสนอของบีทีเอสเป็นข้อเท็จจริงนอกสำนวน

ทั้งนี้ ความพยายามที่ผ่านมาทั้งหมดของฝั่ง รฟม. และกระทรวงคมนาคม กล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่คล้ายคลึงกับกรณีป้ายสถานีรถไฟกรุงเทพอภิวัฒน์ ที่เป็นการทำให้ถูกต้อง ‘โดยกระบวนการ’ แต่ในข้อเท็จจริงเป็นการทุจริตแบบเห็นๆ ตนจึงขอฝากทุกคนให้ติดตามเรื่องนี้ต่อไป อย่าปล่อยให้เมกะโปรเจกต์กลายเป็นเมกะดีล และที่โครงการล่าช้า ทั้งที่ควรเปิดให้บริการประชาชนได้เร็วๆ นี้แล้ว ก็เป็นเพราะการเอาโครงการมาหากินกัน

" สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอ และจะดำเนินการต่อหากได้เป็นรัฐบาล คือการเปิดประมูลใหม่อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม ให้ทั้งอัยการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มากางปัญหาร่วมกัน เพื่อให้มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา แล้วทุกอย่างจะดำเนินการผ่านไปได้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุดสำหรับทุกฝ่าย" สุรเชษฐ์ทิ้งท้ายว่า