นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะผู้ร้องที่ 1 และผู้ร้องที่ 2 ที่พรรคร่วมฝ่ายค้านเคยยื่นต่อประธานสภา มาแล้ว ในคำร้องมาตรา 170 และมาตรา 82 ที่มีผลให้นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
กรณีการคงไว้ซึ่งหุ้นส่วนและยังคงเป็นผู้ถือหุ้น และเจ้าของ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ได้ร่วมกันยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยเป็นการยื่นคำร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 144 สืบเนื่องจากกรณีนายศักดิ์สยาม ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า คำร้องมาตรา 144 นี้ เป็นคำร้องที่ที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาตั้งแต่เดือนมกราคมแล้ว ซึ่งได้ยื่นไป 3 มาตรา
แต่ครั้งนั้นฝ่ายกฎหมายของสภาตีความ ว่าความผิดตามมาตรา 144 ไม่อยู่อำนาจประธานสภาที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นเราจึงแยกให้เป็นคำร้อง 2 ฉบับ และวันนี้ที่เรามายื่นก็เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ของคำร้องแรก โดยมาตรา 144 นั้นเป็นเรื่องที่ ส.ส. ส.ว. กรรมาธิการ ห้ามกระทำการใดๆที่ทำให้ตนเองได้ผลประโยชน์จากงบประมาณโดยตรงหรือโดยอ้อม เมื่อผนวกกับความเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่และรับสัมปทานของกระทรวงคมนาคม
ดังนั้นไม่ต้องตีความอะไรมากมาย นั่นคือการได้รับผลประโยชน์ทางตรงจากงบประมาณที่ตนเองดูแล และจะเป็นเหตุผลให้ศาลเห็นว่า การที่นายศักดิ์สยามยังถือหุ้นของบริษัทอยู่จะมีผลปะโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะบริษัทนี้ก็รับสัมปทานจากกระทรวงคมนาคม
เมื่อถามว่าประเด็นที่ยื่นนี้ตรงกับที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เตรียมยื่นยุบพรรคภูมิใจไทย มองว่าจะมีน้ำหนักมากพอให้ศาลพิจารณาทิศทางเดียวกันหรือไม่ นายปกรณ์วุฒิ กล่าวว่า ตนเชื่อว่าทั้งศาล และองค์กรอิสระคงจะพิจารณาไปตามหลักฐาน คำร้องที่ยื่นไป แต่ด้านของนายชูวิทย์นั้นถือเป็นทิศทางที่ดี ที่ภาคประชาชนออกมาแล้วกระตุ้นให้องค์กรอิสระทำงานอย่างรวดเร็ว
ส่วนเรื่องที่เราร้องก่อนหน้านี้นายศักดิ์สยามก็ได้ถูกศาลสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไปแล้ว ส่วนคำร้องวันนี้เป็นเรื่องต่อเนื่องกัน แต่สิ่งที่อยากจะฝากว่าคำร้องก่อนหน้านี้จะมีผลสืบเนื่อง คือในรัฐธรรมนูญระบุว่า คุณสมบัติของรัฐมนตรีจะต้องไม่เคยถูกถอดถอน หรือวินิจฉัยว่าขาดคุณสมบัติในเวลา 2 ปี
นั่นหมายความว่าถ้าศาลวินิจฉัยว่านายศักดิ์สยามขาดคุณสมบัติ แปลว่านายศักดิ์สยามจะเป็นรัฐมนตรีไม่ได้อีก 2 ปี ดังนั้นเชื่อว่าศาลต้องมีคำวินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ว่านายศักดิ์สยามจะอยู่ในตำแหน่งหน้าที่หรือไม่ก็ตาม ไม่เช่นนั้นมันจะเป็นบรรทัดฐานว่าลาออกจากตำแหน่งเพื่อหนี้การตรวจสอบได้ และทำให้ตนเองไม่ขาดคุณสมบัติ
ส่วนที่ว่านายชูวิทย์ไปยื่นยุบพรรคภูมิใจไทยนั้น ในส่วนของเราที่มายื่นเป็นในส่วนของตัวรัฐมนตรีโดยเฉพาะ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดๆ และยืนยันว่าพรรคก้าวไกล หรือแม้กระทั่งพรรคประชาชาติเราไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรคการเมืองด้วยกฎหมายแบบนี้ การยุบพรรคการเมืองจะเกิดได้ด้วยวิธีเดียวคือให้ประชาชนไม่เลือกพรรคนั้น
ด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 144 ตามที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ บอกว่าเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง คือไม่ต้องการให้ ส.ส. กรรมาธิการ ผู้เสนองบประมาณหรือรัฐมนตรี รวมทั้งวุฒิสภา กระทำอื่นใดในการแปรญัตติ หรือกระทำการต่างๆ เพื่อให้ ส.ส.หรือกรรมาธิการ ได้ไปซึ่งงบประมาณ
โดยกรณีที่นำมายื่นในวันนี้ คือการพิจารณางบประมาณปีงบประมาณ 2564 ซึ่งนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างงบประมาณปี 2564 และในการพิจารณานายศักดิ์สยามก็โหวตรับงบประมาณ ในวาระ 1-3 ด้วย
แต่สิ่งที่เราพบคือการเป็น ส.ส.หรือกรรมาธิการ ของนายศักดิ์สยามนั้น มีบางส่วนที่ทำให้ได้ไปซึ่งการใช้งบประมาณที่พิจารณาในครั้งดังกล่าวรวมกว่า 372 สัญญา โดยสัญญาหนึ่งก็คือ หจก.บุรีเจริญคอนสตรัคชั่น ประมาณ 38 สัญญา เป็นเงิน 600 ล้านบาท และมีสัญญาอื่นกับกลุ่มบริษัทที่บริจาคเงินให้กับพรรคภูมิใจไทย รวม 300 สัญญา เป็นเงินทั้งหมดประมาณ 4,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามในวันนี้เราเรียกร้อง 2 ข้อ คือ 1.ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการพิจารณางบประมาณ และการเป็นกรรมาธิการ การเป็นผู้เสนองบประมาณ รวมทั้งการกระทำอื่นใดนั้น ขัดกับรัฐธรรมนูญปราบโกงหรือไม่ และ 2.ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญเรียกเงินในส่วนดังกล่าวคืน 4,000 กว่าล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย
“ผมและนายปกรณ์วุฒิ ไม่ได้โกรธเคืองกับใคร แต่อยากสร้างบรรทัดฐานให้สังคม ว่าคนที่มีตำแหน่งทุกตำแหน่งต้องมีความรับผิดชอบ ถ้าบ้านเมืองขาดความรับผิดชอบในตำแหน่งตำแหน่งหนึ่ง จะทำให้เกิดการวิบัติได้ ดังนั้นในหน้าที่ของ ส.ส. เราได้รวบรวมรายชื่อ ส.ส. 1 ใน 10 ของ ส.ส.ในสภา โดยมาจากทุกพรรคฝ่ายค้าน ยื่นเรื่องในครั้งนี้ เราก็เคารพศาลรัฐธรรมนูญว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเรื่องใหม่ เป็นเรื่องแรกของรัฐธรรมนูญมาตรา 144
อย่างไรก็ตามวันนี้เป็นเรื่องบรรทัดฐานของสังคม และหากศาลรัฐธรรมนูญเรียกพยานหลักฐานจากหน่วยราชการอื่นจะยิ่งเห็นได้ชัดเจน เช่นเรื่องเงินทำสัญญา เอาเงินใครเป็นแบงค์การันตี หรือการอ้างว่ามีการโอนเงินมีหลักฐานหรือไม่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้อยู่ในอุ้งมือหน่วยงานรัฐทั้งหมด ดังนั้นขอให้ศาลค้นหาความจริงในเรื่องเหล่านี้ด้วย
พ.ต.อ.ทวี ยังกล่าวว่า ยังพบอีกว่าในปี 2565 กลุ่มบริษัทดังกล่าวยังได้ร่วมกับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเคยเป็นของรองนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง รับงานกว่า 30,000 ล้านบาทในโครงการเดียว และยังมีการบริจาคให้พรรคภูมิใจไทยด้วย