บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ในเช้าวันจันทร์ 20 มี.ค. 66 เป็นไปด้วยความคึกคักจากสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวการประกาศยุบสภาของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
เนื่องจากในช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ มีวาระงานในการเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ครั้งที่ 1/2566 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินทางมาถึงทำเนียบรัฐบาลเพื่อปฏิบัติหน้าที่ ตั้งแต่เวลา เวลา 08.55 น.
ต่อมาในเวลาประมาณ เวลา 09.38 น โดยระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เดินจากตึกไทยคู่ฟ้ามายังตึกภักดีบดินทร์ เพื่อประชุม นบข. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ดักรอถาม เรื่องเวลาที่จะประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาฯ ว่า “ก็รอซิ่จ้ะ” ด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย
หลังจาก ประชุม นบข.เสร็จสิ้น ในเวลาประมาณ 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงมาให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว บริเวณโพเดี้ยมที่ทางเจ้าหน้าที่สำนักโฆษกฯ ได้เตรียมไว้ โดยได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณี การประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาว่า
"คงยังไม่ขอพูดอะไร ให้รอราชกิจจาฯออกมาก่อน ตนยังเป็นรัฐบาลอยู่เลย จะเลิกเป็นรัฐบาลกันเลยหรือไง ไม่รู้ยังต้องอยู่กันถึงเมื่อไหร่เหมือนกัน เพราะต้องรอเลือกตั้งและรอการจัดตั้งรัฐบาล ถ้าทำได้เร็วก็เร็ว” ส่วนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อไหร่นั้น นายกฯ กล่าวว่า "เดี๋ยวก็ออก เป็นนายกฯก็ต้องทำขั้นตอนทั้งหมดให้เรียบร้อยก่อน ส่วนจะประกาศวันนี้หรือไม่นั้น ก็ให้ "รอ รอ รอ"
พร้อมกล่าวถึงความเห็นของพรรคร่วมรัฐบาล ต่อนโยบายรัฐที่ผ่านมาว่า
“นโยบายที่ออกไปทั้งหมดและทำมา 4 ปีก็เป็นนโยบายที่เห็นชอบร่วมกันในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไม่ใช่หรือ ฉะนั้นวันนี้หวังว่าทุกคนจะทำความเข้าใจตรงนี้ให้ดี ไม่ใช่ว่าเห็นด้วยไม่เห็นด้วยจะไปพูดอย่างนั้นไม่ได้ ไม่ถูก เพราะอยู่ในครม.ด้วยกัน”
ส่วนกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้กินข้าวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) นั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบคำถามผู้สื่อข่าวว่า
ตนเองไม่ใช่คนจุกจิกที่จะไปถาม พล.อ.ประวิตรว่าไปทานข้าวกับใคร ทำไม และกรณีที่ นายอนุทินให้สัมภาษณ์ว่า หารือเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลกับพล.อ.ประวิตรนั้น ก็ให้ถามกับเจ้าตัว ตนไม่ได้คุยด้วย อย่าถามอะไรในเรื่องที่ไม่ได้อยู่ และเกี่ยวข้อง
หลังเลือกตั้งพล.อ.ประยุทธ์ จะจับมือจัดตั้งรัฐบาลกับใครนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “ยังไม่ทราบว่าใครจะได้ แล้วเขาจะจับกับตนหรือเปล่ายังไม่รู้เหมือนกัน ไม่ใช่ว่าตนอยากจะจับเขาข้างเดียวได้เมื่อไหร่ ก็แล้วแต่ เอาประเทศชาติไว้ก่อน จะทำอะไรก็ตามขอให้นึกถึงประเทศชาติประชาชนเป็นหลัก” พร้อมระบุตอนท้ายว่า ผลเลือกตั้งออกมาก็ต้องเป็นไปตามนั้น ประชาชนต้องการอย่างไรก็อย่างนั้น
เวลา 15.00 น. หลังจากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 โดยให้มีผลทันที เพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนอีกครั้งว่า
“ขอขอบคุณทุกคน ขอบคุณรัฐสภาที่ได้ร่วมการทำงานมาหลายปี หลายเรื่องก็มีทั้งสำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้าง ก็ขอขอบคุณที่ทุกคนช่วยกันทำเพื่อประเทศชาติ และประชาชน ส่วนการลุยสนามเลือกตั้งและลงพื้นที่หาเสียงต่อจากนี้ ทางพรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นผู้วางแผน ทั้งการหาเสียงใหญ่หาเสียงย่อย”
พร้อมกล่าวถึงการทำงานของรัฐบาลใน 4ปีที่ผ่านมาว่า ที่ผ่านรัฐบาลได้ทำเรื่องต่าง ๆ ไปมากพอสมควร ส่วนบางเรื่องที่ตั้งใจทำแล้วยังไม่สามารถผลักดันออกมาได้นั้น ก็มีหลายเรื่อง เพราะติดขัดอะไรหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะเรื่องของข้อกฎหมาย หรือการออกกฎหมายก็ยังมีปัญหาอยู่ ก็หวังว่าในรัฐบาลหน้าคงทำให้เรียบร้อย ซึ่งในรัฐบาลที่ผ่านมาก็ดีใจที่อย่างน้อยก็ได้สร้างสิ่งที่ดี ๆ ขึ้นมา สิ่งที่เป็นรายได้ของประเทศ โดยเฉพาะ EEC หรือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น จนมีการลงทุนจำนวนมากเกิดขึ้นในประเทศ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงบทบาทตนเองว่า นายกฯ ก็ทำงานกับการเมือง ยังไงก็ปฏิเสธไม่ได้ก็เป็นนักการเมืองอยู่เหมือนกัน ส่วนจะลงปาร์ตี้ลิสหรือไม่นั้น นายกฯ ปฏิเสธว่ายังไม่ถึงเวลา และตอนนี้เป็นแค่แคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก่อนเท่านั้น โดยทางครอบครัวไม่ได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ตนเองเป็นผู้ตัดสินใจเอง ส่วนตัวก็เป็นห่วงเขาอยู่เหมือนกัน แต่ครอบครัวเองก็ต้องเป็นห่วง เพราะไม่มีใครเขาอยากให้สามีมาเป็นนักการเมืองเต็มตัว และภรรยาก็ไม่ได้ยุ่งเรื่องพวกนี้ แต่พอมีอะไรก็ได้เตือนมา แต่ไม่ได้ยุ่งเรื่องการเมือง และให้กำลังใจอยู่ตลอด
โดยหลังจากนายกฯ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อแล้ว ได้เดินลงมาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาลตามคำชวน และได้ขอบคุณสื่อมวลชน พร้อมทำท่ามินิฮาร์ท ก่อนจะเดินเข้าไปในตึกไทยคู่ฟ้าด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม
ซึ่งวันที่ 21 มี.ค. 2566 จะเป็นวันแรกของการประชุม ครม. โดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ
เปิดรายการโครงการใหญ่ที่ค้างการอนุมัติ สรุปได้ ดังนี้
1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ขณะนี้ยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมกับเอกชนผู้ชนะการประมูล
2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง -สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงิน 224,544 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ขั้นตอนพิจารณาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 ให้เอกชน เนื่องจากผลกระทบเรื่องจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ลดลง
เช่นเดียวกับ โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา - หนองคาย ระยะทางรวม 357 กม. วงเงิน 300,000 ล้านบาท ได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างการพิจารณารายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)
3.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข (โทลเวย์) ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุน 31,375.95 ล้านบาท ปัจจุบันกรมทางหลวงอยู่ระหว่างเสนอต่อกระทรวงคมนาคมพิจารณา
4.โครงการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 แบ่งออกเป็นโซนภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,483 กิโลเมตร วงเงิน 275,301 ล้านบาทได้แก่
5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง (ตลิ่งชัน-ศาลายา) 14.8 กิโลเมตร วงเงิน 10,670 ล้านบาท แบ่งเป็น
6.มาตรการสนับสนุนรอบใหม่ หรือ EV 3.5 ปี 2566 ขณะนี้ได้ผ่านการพิจารณาจากบอร์ด EV มาแล้ว แต่ก็ไม่สามารถเสนอครม.อนุมัติได้ทัน