จากกรณี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุจะมีการหารือกับนายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต.และคณะในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (20 มี.ค.66) ถึงแนวปฏิบัติของข้าราชการ หลังนายกรัฐมตรีประกาศยุบสภานั้น คาดว่าจะเป็นการเน้นย้ำให้ข้าราชการวางตัวเป็นกลางในการเลือกตั้ง และให้หน่วยงานของรัฐสนับสนุนภารกิจการจัดการเลือกตั้ง
ขณะที่คณะรัฐมนตรียังคงสามารถประชุมและบริหารราชการแผ่นดินได้ตามปกติโดยการปฎิบัติจะต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา168 ที่กำหนดเงื่อนไขในการปฎิบัติว่า
1.ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพันต่อคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี
2. ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำหรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
3 . ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อน
4.ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดอันอาจมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด
นอกจากนี้ยังน่าจะมีการหารือถึงไทม์ไลน์การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งตามแผนงานที่กกต.ได้วางไว้ โดยเมื่อประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภาแล้ว ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 มี.ค. กกต.จะมีการประชุมในวันที่ 21มี.ค.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งมีความเป็นไปได้ว่าจะกำหนดให้วันที่14 พ.ค.เป็นวันเลือกตั้ง และเปิดสมัครรับเลือกตั้ง วันที่ 3-7 เม.ย.
โดยจะรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้งก่อน ณ.สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดกำหนด และเริ่มรับสมัครส.ส.แบบบัญชีรายชื่อรวมถึงการส่งรายชื่อบุคคลที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์เยาวชนไทย - ญี่ปุ่นดินแดง ในวันที่ 4 มี.ค.เนื่องจากการรับสมัครส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคการเมืองจะต้องมีหลักฐานแสดงว่ามีผู้สมัครในระบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว
ขณะที่งบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง ที่ครม.อนุมัติวงเงินรวม 5,945 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของค่าใช้จ่ายในภารกิจที่สำนักงานกกต.ดำเนินการเอง 5,100 ล้านบาทนั้น สำนักงบได้มีการจัดสรรให้ประมาณ 4,600 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 80 จากวงเงินที่ขอไป ส่วนงบประมาณของหน่วยงานสนับสนุนทางสำนักงบประมาณจะมีการจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานดังกล่าว
สำหรับปัญหาการฟ้องร้องต่อศาลปกครองเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง กกต.ได้มีการยืนยันแล้วว่า การดำเนินการของกกต.เป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด และมาตรา17พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.2561 กำหนด มิให้นำมาตรการหรือวิธีการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองมาใช้บังคับกับการฟ้องคดี
ส่วนงบประมาณในการจัดการเลือกตั้ง สำนักงบประมาณได้มีการจัดสรรเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในภารกิจที่สำนักงานกกต.ดำเนินการเองประมาณ 4,600 ล้านบาทจากที่ขอไปราว 5,100 ล้านบาท ส่วนงบประมาณของหน่วยงานสนับสนุนทางสำนักงบประมาณจะมีการจัดสรรตรงไปยังหน่วยงานดังกล่าว