ลุ้น 30 มี.ค.นี้ ศาลปกครอง พิพากษา ปมถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง

21 มี.ค. 2566 | 12:49 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มี.ค. 2566 | 13:09 น.

นัดแรก “ศาลปกครองกลาง” พิจารณาคดี ปมถอนโฉนดที่ดินเขากระโดง หลังการรถไฟฯฟ้องกรมที่ดิน ปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เมินตั้งคณะกรรมการสอบเพิกถอนเอกสารสิทธิ พร้อมนัดพิพากษาคดีวันที่ 30 มี.ค.นี้

เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2566 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางได้นั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ผู้ฟ้องคดี) กับ กรมที่ดิน ที่ 1 กับพวกรวม 2 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และการกระทำละเมิดอันเกิดจากคำสั่งทางปกครอง (คดีที่ดินเขากระโดง)

 

สำหรับการนั่งพิจารณาคดีของศาลฯดังกล่าว ทั้ง รฟท. (ผู้ฟ้องคดี) และกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ส่งคำแถลงเป็นหนังสือต่อศาลฯ และไม่ประสงค์แถลงเป็นวาจา 
 

ทั้งนี้ตุลาการผู้แถลงคดี ได้แสดงความเห็นในคดีที่ดินเขากระโดงต่อองค์คณะฯ ใน 2 ประเด็น สรุปความได้ว่า 1.กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีไม่แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน เพื่อดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิบริเวณแยกเขากระโดงที่เป็นการเอกสารสิทธิทับที่ดินของ รฟท. หรือไม่

 

ส่วนกรณีกรมที่ดินและอธิบดีกรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า เนื่องจากมีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ ภาค 3 ปรากฏแจ้งชัดว่า ที่ดินบริเวณแยกเขาโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เป็นที่ดินของ รฟท. และแม้ว่าคำพิพากษาของศาลฯดังกล่าวจะมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่เนื่องที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงเป็นที่ดินของ รฟท. กรมที่ดิน ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องที่ดินของรัฐ จึงต้องตรวจสอบว่ามีการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของ รฟท.หรือไม่
 

2.กรมที่ดินต้องชดใช้ค่าเสียหายในทางละเมิดให้แก่ รฟท. หรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดี เห็นว่า แม้ว่าตุลาการผู้แถลงคดีจะเห็นว่า กรมที่ดิน ละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้า กรณีไม่ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แต่เนื่องจากปัจจุบัน รฟท.ยังไม่ได้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณแยกเขากระโดง ดังนั้น รฟท.จึงยังไม่ได้รับความเสียหายในทางละเมิด ส่วนกรณีที่ รฟท.อ้างว่าจะได้รับค่าเช่าจากให้เช่าที่ดินบริเวณแยกเขากระโดงนั้น เป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตเท่านั้น

 

ตุลาการผู้แถลงคดี จึงมีความเห็นว่า กรมที่ดิน โดยอธิบดีกรมที่ดิน จะต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ตามมาตรา 61 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันนับตั้งแต่คดีถึงที่สุด ส่วนคำขออื่นให้ยก 

 

นอกจากนี้หลังจากตุลาการฯได้แถลงความเห็นเสร็จสิ้นแล้ว ศาลฯได้นัดฟังคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 30 มี.ค.2566 เวลา 10.00 น.


สำหรับคดีดังกล่าว สืบเนื่องมาจาก เมื่อเดือน ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา รฟท. ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และอธิบดีกรมที่ดิน (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินรถไฟฯ ‘เขากระโดง’ โดย รฟท.บรรยายฟ้องว่า เดิมที รฟท. ได้ถูกประชาชนที่อาศัยครอบครองที่ดินบริเวณเขากระโดง ฟ้องร้อง เนื่องจาก รฟท. ได้ยื่นคัดค้านการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินบริเวณพื้นที่ทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์

 

ทั้งนี้รฟท.จึงมีความประสงค์ขอให้ศาลพิพากษาบังคับผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ดังต่อไปนี้

 

1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3025 ลงวันที่ 13 ส.ค.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

2.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ตามหนังสือเลขที่ มท 0516.2/3539 ลงวันที่ 27 ก.ย.2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย

 

3.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเพื่อทำการสอบข้อเท็จจริงในการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของผู้ฟ้องคดีพื้นที่ บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ โดยมิชอบ ตามหนังสือเลขที่ รฟ.1/1911/2564 เรื่องขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินที่ออกทับที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ฉบับลงวันที่ 23 มิ.ย.2564 ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา

 

4.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง (กรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดิน) ร่วมกันเพิกถอนคำสั่งออกเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินของผู้ฟ้องคดี พื้นที่บริเวณทางแยกเขากระโดง ต.อิสาณ อ.เมืองบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ ที่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ออกเอกสารโดยมิชอบ ซึ่งเป็นการคลาดเคลื่อน ไม่ชอบด้วยกฎหมายทั้งหมดในพื้นที่ของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว และขับไล่ผู้ครอบครองและถือเอกสารสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของ ผู้ฟ้องคดีทั้งหมด

 

5.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดี เป็นเงินค่าเสียหาย 707,638,320 บาท กับชดใช้ค่าเสียหายอีกเดือนละ 58,969,860 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจะมีคำสั่งเพิกถอนเอกสารสิทธิ