นายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในงานสัมมนา โค้งสุดท้าย เลือกตั้ง 66 ดีเบต...นโยบายเศรษฐกิจ กับ 9 พรรคการเมือง โดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า จากการสำรวจความคิดเห็น ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ส.ส.ปี 2566 เรื่อง “ความคาดหวังเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของพรรคการเมืองว่า ประชาชนให้ความสำคัญต่อนโยบาย คือ การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ เช่น เพิ่มเป็น 450-600 บาทต่อวัน ,การขึ้นเงินเดือน ปริญญาตรีเป็น 25,000 บาทต่อเดือน และการเพิ่มเบี้ยยังชีพให้ผู้สูงอายุ เช่น 1,000-5,000 บาทต่อเดือน เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีเรื่องการลดค่าครองชีพเป็นอะไรที่พรรคการเมืองและรัฐบาลเข้ามาดูแล ทุกกลุ่มตัวอย่างเน้นค่าครองชีพ ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำประปา ค่ารถไฟฟ้า และค่าก๊าซหุงต้ม โดยเฉพาะกลุ่มที่เลือกตั้งเป็นครั้งแรกให้ความสำคัญกับการลดค่าครองชีพมากที่สุด รวมทั้งทุกช่วงวัยจะให้ความสำคัญกับนโยบายตรวจสุขภาพฟรี การเข้าถึงอินเทอร์เน็ต และการสร้างรายได้ รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำแก่เอสเอ็มอี โดยพบว่ากลุ่มตัวอย่างเลือกนโยบายของแต่ละพรรคที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ไม่ได้เน้นไปทางพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
นายวรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้า พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า สิ่งที่พรรคเน้นคือโอกาสนิยม ไม่ใช่ประชานิยม เพราะเสี่ยงมากที่นำเงินรัฐมาใช้ในช่วงที่ภาระหนี้ครัวเรือนสูง ภาระหนี้สาธารณะสูง โดยการกระตุ้นเศรษฐกิจมีหลายวิธี เช่น การลดการผูกขาดธุรกิจ แก้ปัญหาโครงสร้างประเทศ รื้อโครงสร้างพลังงาน สนับสนุนเอสเอ็มอี แก้ไขเรื่องติดแบล็กลิสต์เครดิตบูโร และไปสู่ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งจะเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อน และให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีสร้างเศรษฐกิจ เช่น ทำแพลตฟอร์มให้ผู้ประกอบการค้าขายออนไลน์สร้างมูลค่าเพิ่ม และภาครัฐต้องสนับสนุนเอกชนด้านนโยบาย ภาษี ประเทศไทยถึงมีอนาคต
“คำจำกัดความของพรรค “งานดี มีเงิน ของไม่แพง” จะมุ่งเน้นหารายได้ มีนโยบายเศรษฐกิจเฉดสี เพราะหากไม่มีเงินไม่มีรายได้ใหม่ๆเข้ามาประเทศ จะไม่มีสวัสดิการต่างๆให้ประชาชน จึงต้องหารายได้ แต่ต้องปรับรายได้ และให้เข้าถึงเงินทุน รวมทั้งแก้ปัญหาต่างๆ เหมือนกับการแก้ปัญหาพีเอ็ม2.5 ที่มีพันธบัตรป่าไม้ หรือการเปลี่ยนชาวไร่เปลี่ยนเป็นไม้ยืนต้น อยากให้เกษตรกรรายได้ดีขึ้น”
นายศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษาคณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เห็นด้วยกับประชาชนที่ขอให้ช่วยค่าครองชีพสูง ค่าไฟฟ้าสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะไทยต้องนำเข้าแก๊สเหลวจากต่างประเทศ พึ่งพาสินค้าต่างประเทศมาก และต้องช่วยคนเอสเอ็มอีให้เข้าถึงทุนแต่ไม่ใช่สินเชื่อ ต้องทำผ่านกองทุนที่ต้องขึ้นมาไม่ใช่ให้เอสเอ็มอีเข้าถึงหนี้ ส่วนเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเป็นสิ่งที่ดี จะช่วยได้มากในการลดปัญหาคอรัปชั่น และไทยควรเข้ากับองค์การเพื่อความร่วมมือแลการพัฒนาทางเศราฐกิจ (OECD) เพราะมีข้อมูลต้องเปิดเผยมากมาย เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น
“สิ่งสำคัญคือระบบการศึกษา จะลดปัญหาเหลื่อมล้ำต่อเนื่อง และเรื่องสาธารณสุข 30 บาทรักษาทุกโรค จะใช้เทคโนโลยีอัปเกรดการรักษาประกันสุขภาพถ้วนหน้า จะไม่แออัดเหมือนเดิม แค่ใช้บัตรประชาชนใบเดียว ไปคลินิกเจาะเลือดไม่ต้องไปโรงพยาบาล และไปรับยาร้านขายยา ระหว่างนั้นทำเทเลเมดิซีน ติดต่อแพทย์ผ่านเทคโนโลยีได้ เพื่อลดการแออัด”
นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ผลโพลออกมาคนต้องการค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มเงินในกระเป๋ามากที่สุด แต่คำถามคือทำได้หรือไม่ ผู้ประกอบการพร้อมหรือไม่ แต่จะให้ขึ้นภาษีในตอนนี้หรือไม่ยังไม่ถึงขนาดนั้น โดยมองเรื่องการสร้างทักษะคน ผลักดันภาคเอกชนไปสู่ระดับโลก กฎระเบียบควรแก้ไข ในเรื่องภาษีไม่ต้องคิดในตอนนี้ แต่ต้องทำอย่างไรให้เอกชนตัวเบาที่สุด เมื่อนั้นเงินในกระเป๋าประชาชนจะเพิ่มขึ้น
“เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ รวยกระจุก จนกระจาย ทุกพรรคเข้าใจดี และกลายเป็นวาทกรรมไปแล้ว ประเทศไทยต้องมององค์รวม นายกฯคนใหม่ต้องเป็นเซลแมน ออกไปค้าขายหารายได้ให้ประเทศ ไทยมีสิ่งดีๆเยอะ ต้องดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศให้ได้ ไทยพร้อมในทุกด้าน ไทยต้องปลดล็อก ไทยต้องอัพสกิล รีสกิล ประเทศไทยต้องส่งเสริมเศรษฐกิจเกี่ยวกับดิจิทัล”
นายเกียรติ สิทธีอมร คณะกรรมการเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ทุกข้อที่ประชาชนร้องขอทั้งค่าครองชีพ ราคาพลังงาน เป็นสิ่งที่พรรคฯทำทุกโจทย์ และในเรื่องการเข้าถึงประกันสุขภาพจะให้ตรวจสุขภาพฟรี ใช้บัตรประชาชนใบเดียวตรวจสุขภาพฟรี และเรียนฟรีถึงปริญญาตรี 12 สาขา มีบริการอินเทอร์เน็ตฟรีทุกหมู่บ้าน 1 ล้านจุด สนับสนุนชุมชนท่องเที่ยวเมืองรอง ให้ทุกพื้นที่จัดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ เช่น ข้าว มัน ปาล์ม ยาง รวมถึงไทยต้องลงทุนวิจัยพัฒนา หรือ R&D ปัจจุบันยังน้อยแค่ 1% ของจีดีพี แต่พรรคฯตั้งเป้าใน 4 ปี จะเพิ่มเป็น 3% ต่อจีดีพี โดยรัฐลงเงิน 70% ของงบพัฒนาวิจัยทั้งหมด
“ปัจจัยสำคัญตัวชี้ว่าเลือกใครคือนโยบายของแต่ละพรรคตอบโจทย์หรือไม่ สร้างภาระเพิ่มหรือไม่ โดบพรรคฯมองระยะยาว ไม่ทำอะไรที่หวือหวา การนำเอาเงินงบประมาณซื้อเสียงล่วงหน้า เป็นการสร้างภาระประชาชนรุ่นต่อไป ประชาธิปัตย์ไม่ลดแลกแจกแถม การออกแบบนโยบายสอดคล้องกับปัญหาที่แท้จริง ปลดล็อกกฎหมายบางฉบับ กระตุ้นเศรษฐกิจมีเป้าหมายชัดเจน เน้นโตด้วยความเก่งไม่ต้องการให้ประชาชนพึ่งพารัฐ ให้เก่งด้วยตนเองและรัฐสนับสนุน”
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี รองหัวหน้า พรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า ปัญหาของไทยตอนนี้คือเรื่องหนี้สิน ยิ่งช่วงเศรษฐกิจไม่ดีจากโควิดที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนสูงเป็นประวัติศาสตร์ ผู้ประกอบการเริ่มไม่ไหว ซึ่งพรรคฯมีนโยบายช่วยให้หลุดจากเครดิตบูโร ช่วยเกิดการจ้างงาน และแก้ปัญหาหนี้นอกระบบด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยึดทรัพย์เจ้าหนี้นอกระบบ สิ่งสำคัญคือสร้างรายได้ให้เอสเอ็มอีแข็งแรง ผลักดันสินค้าไทยให้เข็มแข็ง และจูงใจให้เอสเอ็มอีเข้าสู่ระบบภาษีมากขึ้น
“คอรัปชันเป็นปัญหาเรื้อรังที่ทำให้ประเทศเดินไม่ได้ ผู้นำต้องแก้ปัญหา ทุกคนต้องช่วยกันทำ การลดคอรัปชันคือเรื่อง การใช้เทคโนโลยี อย่างดาต้าวัน เชื่อมข้อมูลเข้ามาหากัน จะทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ และพรรคมีอุดมการณ์ชัดเจน ต้องการประชาธิปไตย ต้องการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่ใช่รัฐประหาร คนในพรรคมีประสบการณ์ การเมือง ธุรกิจ คนรุ่นใหม่ แก้ไขอุปสรรคต่างๆ พรรคฯจะเป็นทางเลือกใหม่ประชาชน”
นายอุตตม สาวนายน ประธานคณะกรรมการจัดทำนโยบาย พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า โจทย์รัฐบาลหน้าที่ต้องทำคือเรื่อง สร้างสภาวะแวดล้อมอย่างไรสนับสนุนคนไทยมีโอกาส มีความหวังหารายได้เพิ่ม และช่วยบรรเทาค่าครองชีพอย่างไร ช่วยต้นทุนผู้ประกอบการตัวเล็ก เอสเอ็มอี รวมถึงรัฐบาลหน้าต้องวางภาพให้ชัด วางรากฐานสู่อนาคตยั่งยืน ครอบคลุม เท่าเทียมในทุกกลุ่ม และต้องเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นจริงและทำทันที เพราะ 2 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตไม่เต็มศักยภาพ
“เรื่องค่าครองชีพ ต้นทุน ค่าไฟ ค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ ต้องปรับโครงสร้างนโยบายประเทศใหม่ ตอนนี้มีกลุ่มรื้อทั้ง ระบบต้องได้รับการแก้ไข ต้องทบทวนโครงสร้างภาษี และหนี้เป็นเรื่องใหญ่ ต้องแก้หนี้เบ็ดเสร็จ และเติมทุนใหม่ รวมทั้งเรื่องรัฐสวัสดิการ คนไทยต้องได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึง ลงทุนให้ถูกจุดทุกกลุ่มวัย เติมทุน พัฒนาทักษะ เป็นต้น”
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย รองหัวหน้า พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า นโยบายต่างๆที่ทุกพรรคออกไป รวมแล้วน่าจะ 3 ล้านล้านบาท แต่พรรคฯไม่เน้นนโยบายประชานิยม แต่เน้นการสร้างรายได้เศรษฐกิจฐานราก เห็นได้จากช่วงโควิดธุรกิจรายเล็กฐานรากเอาเงินออมมาใช้ และรายได้ลดลง แถมมีปัญหาชำระหนี้ ซึ่งการแก้ปัญหาไม่ใช่แจกเงิน แต่ต้องสร้างงานสร้างอาชีพ มีรายได้ที่ยั่งยืน มีความสามารถชำระหนี้ได้ การเพิ่มอาชีพให้คนอาจร่วมมหาวิทยาลัยต่างๆ ฝึกอบรม ให้งบประมาณดูแลคนสูงวัย จ้างซ่อมแซมอุปกรณ์ไฟฟ้า ซ่อมคอมพิวเตอร์ ค้าขายออนไลน์ คำนวณงบประมาณที่ใช้หาก 20 ล้านคนใช้เงินแค่ 20,000 ล้านบาท
ขณะที่เรื่องเร่งด่วน จะทำอย่าไงไรให้จีดีพีเพิ่มขึ้น โดยต้องใช้เทคโนโลยีหารายได้จากต่างประเทศ เช่นการทำแพลตฟอร์ม เหมือนกับแพลตฟอร์มของต่างประเทศที่เข้ามาหารายได้ในไทย และไทยต้องเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่สำคัญต้องมีหลัก Wow Thailand มาจาก เวลธ์ที่ดี สร้างโอกาสคนไทย และสร้างสวัสดิการให้ทุกคน นโยบายเน้นการดูแลเศรษฐกิจฐานรากผู้ด้วยโอกาส ไม่ใช่ลดแลกแจกแถม พยายามให้สร้างานสร้างอาชีพ ให้ผู้ด้อยโอกาส ให้เงินอุดหนุน ผู้พิการ คนสูงวัย อยากสร้างประเทศไทยที่ยั่งยืนเพื่อลูกหลานไทย ต้องการทำประเทศให้กรีน มีธรรมาภิบาล ไม่มีทุจริตคอรัปชั่น “เรารับฟัง ทำจริง”
น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้า พรรคก้าวไกล กล่าวว่า สรุปผลโพลเรื่องเร่งด่วนคือเรื่องรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และเรื่องความมั่นคง พรรคก้าวไกลเห็นไม่ต่างกับประชาชน ได้มีนโยบายเพิ่มรายได้ให้ประชาชน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ หัวใจคือ ขึ้นอัตโนมัติทุกปี และยังมีแก้ปัญหาโครงสร้างพลังงาน รวมถึงนโยบายสวัสดิการตั้งแต่วันแรกที่ลืมตา จนวันสุดท้ายของชีวิต ขณะเดียวกันต้องปรับปรุงงบประมาณให้มีประสิทธิภาพ ลดโครงการไม่จำเป็นฟุ่มเฟือย จัดซื้อจัดจ้างโปร่งใส ปรับปรุงจัดเก็บภาษีจากปัจจุบันมีรูรั่วมาก ไม่สามารถจัดเก็บได้ตามเป้าหมาย และให้เศรษฐีคนมีเงินยอมจ่ายภาษี จากที่บริจาคการกุศลมามาก เช่น ภาษีที่ดินรวมแปลง ภาษีมั่งคั่ง ซึ่งจะนำไปใช้สวัสดิการได้อย่างคุ้มค่า
“หลายครั้งมีโครงการดีแต่ประชาชนข้องใจเกิดทุจริตหรือไม่ ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเรื่องแรกต้องเปิดเผยข้อมูลกับประชาชน และอาจมีแรงจูงใจถ้ามีการฮั้วะแล้วมีคนใดคนหนึ่งสารภาพก่อน จะได้รับการลดหย่อนโทษ หากสารภาพจะให้พ้นผิดได้ จะทำให้การจ่ายส่วยหมดไป และยังทำให้เงินงบประมาณถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างคุ้มค่า ไม่ใช่แค่เพียงเลือกคนที่ดี แต่ต้องมีระบบที่ดีด้วย”