เป็นกระแสวิพากย์วิจารณ์อย่างกว้างขวางอีกครั้ง หลังจากที่ "นายทักษิณ ชินวัตร" ประกาศขอกลับบ้านเพื่อมาเลี้ยงหลาน ถึง 3 ครั้งในช่วงเวลาห่างกันเพียง 1สัปดาห์ โดยในวันที่ 1 พ.ค. 2566 นายทักษิณ ได้ทวีตข้อความผ่านทางบัญชีผู้ใช้ @ThaksinLive ขออนุญาตกลับมาเลี้ยงหลาน หลังนางสาวแพทองธาร ชินวัตร แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ได้ให้กำเนิดบุตรชายคนที่ 2 ด.ช.พฤจ์ธาษิณ สุขสวัสดิ์ ใจความว่า
"เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชาย ชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็ว ๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ" การทวีตครั้งนั้น นำมาสู่คำถามว่า ขออนุญาตใคร
ล่าสุด(9 พ.ค. 66) นายทักษิณทวีตข้อความ ผ่านทวิตเตอร์ส่วนตัวอีกครั้ง ว่า
“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ”
และทวีตอีกครั้งในวันเดียวกันว่า
“ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ ทั้งหมดคือ การตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว / แผ่นดินเกิด และเจ้านายของเรา”
ทำเอาร้อนฉ่าไปทั้งประเทศ ว่านี่คือเจตนารมย์อย่างแรงกล้าของนายทักษิณ ที่จะต้องกลับประเทศไทยให้ได้ กับศึกเลือกตั้ง 2566 นี้ หรือเป็นเพียงแคมเปญเพิ่มแรงเหวี่ยงให้พรรคเพื่อไทย ในช่วงโค้งท้ายการเลือกตั้ง
ทักษิณ ประกาศกลับบ้าน มาแล้วกี่ครั้ง
หลังจากนายทักษิณ เดินทางออกนอกประเทศไทยไปเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2551 ก็ไม่เคยเดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทยอีกเลย รวมเป็นระยะเวลา 17 ปีแล้ว ซึ่งตลอดระยะเวลานายทักษิณ ได้ประกาศ และให้สัมภาษณ์ถึงการจะเดินทางกลับประเทศไทยอยู่เป็นระยะๆ รวมได้กว่า 17 ครั้ง
คลิกอ่านข่าว : ย้อนรอย 17 ปี "ทักษิณ ชินวัตร" ประกาศกลับบ้าน จำได้ไหม แต่ละครั้งพูดอย่างไร
ทำไมทักษิณ ต้องออกจากประเทศไทย
หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นำพรรคไทยรักไทย ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2544 ครองที่นั่งในสภามากเป็นลำดับที่ 1 จำนวน 248 ที่นั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าพรรค และผู้สมัครบัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรค จึงได้รับการสนับสนุนให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ของประเทศ
รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ สร้างประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่ผู้นำรัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย สามารถดำรงตำแหน่งได้จนครบวาระ 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2544 จนถึงวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2548 และสิ้นสุดสภาพลงด้วยเหตุยุบสภาฯ (ครบวาระ) ในวันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2548 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2548
พ.ต.ท.ทักษิณ ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2548 ครองที่นั่งในสภามากถึง 377 ที่นั่ง พรรคไทยรักไทยจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ในทางตรงกันข้ามทำให้เกิดข้อครหาเรื่องเผด็จการรัฐสภา พรรคฝ่ายค้านไม่สามารถเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เกิดการรวมตัวของกลุ่มประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ชื่อ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ความขัดแย้งขยายตัว จนท้ายที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ประกาศยุบสภา ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
กกต. ประกาศจัดการเลือกตั้งใหม่ ในช่วงเดือนเมษายน พ.ศ. 2549 ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายค้าน 3 พรรค ได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ไม่ส่งผู้สมัครเข้ารับการเลือกตั้ง การเลือกตั้งได้ถูกจัดขึ้นท่ามกลางข้อกล่าวหา พรรคไทยรักไทย จ้างพรรคเล็กลงเลือกตั้ง และกกต. ปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ทำให้ กกต.ชุด พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 2 ปี และสุดท้ายรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกรัฐประหารโดย มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก ในวันที่ 19 ก.ย. 2549
หลังการรัฐประหาร คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้ออกประกาศ คปค. ฉบับที่ 30 ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2549 แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) โดย คตส.ได้แต่งตั้งนายนาม ยิ้มแย้มประธาน คตส. เป็นผู้รับผิดชอบ เป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบพฤติกรรมทุจริตประมูลที่ดินรัชดา โดยมีนายวีระ สมความคิด เป็นผู้ยื่นเรื่องเพื่อขอให้ตรวจสอบ
คดีที่ดินรัชดา เป็นคดีแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้จำคุกพ.ต.ท.ทักษิณ 2 ปี (คดีนี้หมดอายุความในวันที่ 21 ต.ค. 2561) ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ ได้ขออนุญาตศาลฎีกาฯ เดินทางออกจากประเทศไทย ไปตั้งแต่วันที่ 31 ก.ค. 2551(ก่อนมีคำพิพากษา) แล้วไม่ได้กลับเข้าประเทศไทยอีกเลย
ทักษิณ "กราบสะท้านแผ่นดิน"
หลังถูกรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่ได้เดินทางกลับเข้าสู่ประเทศไทย เป็นเวลานานถึง 1ปี 5เดือน จนกระทั่งเช้าวันที่ 28 ก.พ. 2551 พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เดินทางด้วย สายการบิน TG 603 ของการบินไทย ถึงสนามบินสุวรรณภูมิ ในเวลา 9.45 น. หลังจากสวมกอดครอบครัว และทักทายบุคคลที่มารอต้อนรับแล้ว พ.ต.ท.ทักษิณ ได้คุกเข่า และก้มลงกราบพื้น 1 ครั้ง กลายเป็นภาพประวัติศาสตร์ "กราบสะท้านแผ่นดิน"
คดี ทักษิณ เช็คบิลไล่หลัง
หลังรัฐประหารปี 2549 นายทักษิณ ต้องเผชิญกับคดีความต่างๆ อันเนื่องจากการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกฯ รวม 8 คดี เป็นคดีที่พิพากษาแล้ว 4 คดี รวมโทษจำคุก 12 ปี
คดีที่พิพากษาจำคุก 4 คดี รวมโทษจำคุก 12 ปี
ยกฟ้อง 2 คดี
คดีที่ ป.ป.ช. อยู่ระหว่างไต่สวน 2 คดี
"นิรโทษสุดซอย" จุดตาย รัฐบาลน้องสาวทักษิณ
"นิรโทษกรรมสุดซอย" ในยุครัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานทางประวัติศาสตร์การเมือง นำมาสู่กระแสต่อต้านความพยายาม "พาทักษิณกลับบ้าน" แบบเท่ๆ ตามที่เคยประกาศไว้เมื่อปี 2555
จากจุดเริ่มต้น ที่นปช.โดย นายวรชัย เหมะ เสนอกฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมให้ประชาชน โดยไม่รวมผู้มีอำนาจและแกนนำ แต่ได้ถูกปรับแก้เนื้อหามาตรา 3 และมาตรา 4 ในชั้นกรรมาธิการ ให้ผลการนิรโทษกรรมมีผลครอบคลุมหลายฝ่าย พ่วงคดีทุจริต หรือที่เรียกว่า “พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย” และโหวตผ่านสภาวาระ 3 ในเวลา 4.25 น. ของวันที่ 1 พ.ย. 2566 หลังจากอภิปรายกันอย่างยาวนานกว่า 19 ชั่วโมง ด้วยคะแนนเห็นชอบ 310 ต่อ 0 งดออกเสียง 4
จากจุดนี้ นำไปสู่การต่อต้านอย่างกว้างขวางในหมู่ประชาชน โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้ปราศรัยบนเวทีว่ากลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นแกนนำในการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมจนกว่าจะสำเร็จ นายถาวร เสนเนียม ,นายกรณ์ จาติกวณิช ,นายอิสสระ สมชัย ,และนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ลาออกจากตำแหน่งในคณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์เพื่อเข้าร่วมเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่สถานีรถไฟสามเสน
การชุมนุมของกลุ่มต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ของกลุ่ม กปปส. มีความยืดเยื้อยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์การชุมนุมของประเทศไทย 204 วัน ด้วยยุทธศาสตร์ดาวกระจาย ,Shutdown กรุงเทพฯ กดดันให้รัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ยุบสภา และรัฐบาลรักษาการลาออกจากตำแหน่ง โดยมีข้อเสนอหลักในเรื่อง “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”
แม้น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะประกาศยุบสภาในวันที่ 9 ธ.ค. 2556 และ กกต.จัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 2557 แต่ไม่สามารถลดกระแสต่อต้านได้ กลุ่ม กปปส. ต่อต้าน และขัดขวางการเลือกตั้งในครั้งนั้น กระทั่งท้ายที่สุด 21 มี.ค. 2557 ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติ 6 ต่อ 3 ให้การเลือกตั้งวันที่ 2 ก.พ. เป็นโมฆะ ด้วยเหตุที่การเลือกตั้งไม่ได้กระทำเป็นวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ,ไม่มีผู้สมัคร 28 เขต ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นธรรม และ กกต. ดำเนินการนับคะแนนเสียงเลือกตั้งขัดต่อหลักการลงคะแนนลับ
การชุมนุมของประชาชนทั้งฝ่ายต่อต้าน และสนับสนุน รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังคงดำเนินต่อไป โดยไม่มีท่าทีที่จะยุติการชุมนุม โดยกลุ่ม กปปส.ใช้ยุทธการดาวกระจาย ทั่วกรุงเทพฯ ในขณะที่กลุ่ม นปช.ใช้พื้นที่ถนนอักษะ ปักหลักชุมนุม ท้ายที่สุด 22 พ.ค. 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในขณะนั้น เข้าทำการรัฐประหาร รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ปิดฉากรัฐบาลน้องสาวทักษิณ กับภารกิจ "พาทักษิณกลับบ้าน"
ยุบ"ไทยรักษาชาติ" ก้าวพลาดสมรภูมิ 62
การเลือกตั้ง 2562 ภายใต้รัฐธรรม ปี 2560 การเลือกตั้งถูกเปลี่ยนกติกา ให้เป็นการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม ผ่านบัตรเลือกตั้งใบเดียว เลือกทั้งส.ส. แบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อ นำมาสู่ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" เกิดพรรคเล็ก พรรคใหม่ ภายใต้ DNA เดียวกัน
พรรคไทยรักษาชาติ ตั้งขึ้นโดยมี ร.ท.ปรีชาพล พงษ์พานิช นั่งหัวหน้าพรรค ,นายฤภพ ชินวัตร ,นางสาวสุณีย์ เหลืองวิจิตร ,นพ.พงษ์ศักดิ์ ภูสิทธิ์สกุล ,นายพฤฒิชัย วิริยะโรจน์ นั่ง รองหัวหน้าพรรค และยังมีหลานสาวทักษิณ นางสาวชยิกา วงศ์นภาจันทร์ นั่งเก้าอี้นายทะเบียนสมาชิกพรรค และยังมีผู้ช่วยหาเสียงพรรค ซึ่งเป็นบุคคลโลโก้ของพรรคเพื่อไทย เช่นนายจาตุรนต์ ฉายแสง ,นายพิชัย นริพทะพันธุ์ หรือนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ
ในการเลือกตั้ง 2562 พรรคไทยรักษาชาติ วางยุทธศาสตร์ส่งครบทุกเขต ในขณะที่พรรคเพื่อไทย เน้นบัญชีรายชื่อ เว้นบางเขตไม่ส่งผู้สมัคร ทำท่าว่าจะดีแต่สุดท้ายต้องประสบอุบัติเหตุทางการเมือง เมื่อพรรคไทยรักษาชาติ ได้เสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
เป็นเหตุให้ 7 มี.ค. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ เพิกถอนสิทธิทางการเมืองคณะกรรมการบริหารพรรค 10 ปี และห้ามจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นเวลา 10 ปี และห้ามใช้ชื่อซ้ำและชื่อย่อเกี่ยวกับพรรคการเมืองนี้ เป็นเวลา 10 ปี ฐานกระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 92 แห่งพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง
จากอุบัติเหตุทางการเมืองครั้งนี้ นำมาสู่คะแนนเลือกตั้งพรรคอนาคตใหม่ ชนิดที่นักวิเคราะห์การเมืองเรียกว่า "หักปากกาเซียน" แม้ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ จะพร้อมเข้าร่วมเพื่อจัดตั้งรัฐบาล แต่ก็นับว่าต่าง DNA ซึ่งสุดท้ายรัฐบาลเพื่อไทย ก็ไม่สามารถรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลได้มากพอ และพรรคก้าวไกล(พรรคอนาคตใหม่เดิม) กลายเป็นพรรคคู่แข่ง ชิงฐานเสียงการเมืองเดียวกัน
"สงครามครั้งสุดท้าย" เพื่อไทยต้องเป็นรัฐบาล
เลือกตั้ง 2566 พรรคเพื่อไทยเดินยุทธศาสตร์ "แลนด์สไลด์" ชวนเสื้อแดงกลับบ้าน นับตั้งแต่การเปลี่ยนสีพื้นหลังของโลโก้พรรคในเพจพรรค จากเดิมเป็นสีน้ำเงิน และมีลายธงชาติอยู่ที่ตัว พ.พาน และ ท.ทหาร เปลี่ยนเป็นพื้นหลังสีแดง ตัวหนังสือสีขาว ตั้งแต่วันที่ 19 ต.ค. 2564
หลังจากนั้น 20 มี.ค. 2565 ได้เปิดตัวนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ในฐานะหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย พร้อม นายณัฐวุฒิ แกนนำ นปช. ในฐานะผอ.ครอบครัวเพื่อไทย ช่วยกันเดินสายชวนเสื้อแดงกลับบ้าน ท่ามกลางกระแส "พาทักษิณกลับบ้าน"
กูรูการเมืองต่างวิเคราะห์สนามเลือกตั้ง 2566 นี้ว่า เป็นสงครามครั้งสุดท้ายของพรรคเพื่อไทย เพื่อ "พาทักษิณกลับบ้าน" เนื่องจากปัจจุบัน นายทักษิณมีอายุ 73 ปีแล้ว การเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคเพื่อไทยจึงมีความจำเป็นต้องเป็นรัฐบาลเท่านั้น เพื่อภารกิจนี้ แม้นายทักษิณจะเคยพูดว่า ไม่ใช้กฎหมาย และไม่ให้ลูกสาวอนุญาตพรรคเพื่อไทย ออกกฎหมายนิรโทษกรรมก็ตาม
"ทักษิณ" กลับบ้าน ต้องติดคุกหรือไม่
นายทักษิณ ทวิตข้อความครั้งล่าสุด 9 พ.ค. 2566 ขออนุญาตกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ภายในเดือนกรกฎาคมนี้ ก่อนวันเกิดของตนเอง นั่นหมายความว่า นายทักษิณจะต้องกลับประเทศไทย ภายในวันที่ 1 - 25 ก.ค. 2566 เนื่องจาก นายทักษิณ เกิดวันที่ 26 ก.ค.
ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ตามกฎหมายที่กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องประกาศรับรองผลไม่เกิน 60 วันนับจากวันเลือกตั้ง คือไม่เกินวันที่ 14 ก.ค. 2566 ในกรณีที่ตรวจสอบว่าการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต ชอบธรรม จากนั้นต้องมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายใน 15 วัน นับตั้งแต่ประกาศผลเลือกตั้ง ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในช่วงเดือน ส.ค. 2566
หากนายทักษิณ เดินทางเข้าประเทศไทยย่อมต้องถูกดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งในปัจจุบัน มีคดีที่ต้องคำพิพากษาจำคุกแล้ว และยังไม่หมดอายุความ รวมทั้งสิ้น 10ปี จาก 3 คดี
หลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษ
หลักเกณฑ์การพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญ หรือพักการลงโทษ กรณี อ้างเหตุรับประโยชน์เกี่ยวกับอายุ และภาวะการเจ็บป่วยของผู้ต้องขัง นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เคยชี้แจงไว้เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2559 ว่า การพักโทษของผู้ต้องขังที่มีอายุเกิน 70 ปี ต้องเหลือโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และต้องถูกจำคุกมาแล้ว 1 ใน 3 ของโทษตามกําหนดโทษ ไม่ใช่ว่าเมื่อผู้ต้องขังทุกรายที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป จะได้รับการพักโทษปล่อยจากเรือนจำ รวมถึงกรณีเจ็บป่วยร้ายแรงก็ต้องรับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี
ประกาศกระทรวงฯ ไม่ต้องจำคุกในเรือนจำ
ประเทศไทยมีประกาศกระทรวงยุติธรรมเรื่อง "กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556" ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้วิธีจำคุกแบบใหม่ที่ใช้การจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ต้องโทษด้วยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องอยู่ในเรือนจำ โดยมีเนื้อหาสำคัญดังนี้
"ผู้ถูกจำกัด" หมายความว่า ผู้ซึ่งศาลมีคำสั่งให้จำคุกโดยวิธีการอื่นที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้นั้น
"การจำกัดการเดินทางและอาณาเขต" ให้หมายความรวมถึง คำสั่งศาลให้จำคุกโดยวิธีการห้ามออกนอกเคหสถานหรือสถานที่อื่นใดในช่วงเวลาที่กำหนดโดยใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์
"อุปกรณ์อิเล็กทรอกนิกส์" หมายความว่า เครื่องอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครื่องมือใดๆที่ใช้ติดตามตัว หรือที่ใช้สวมใส่ข้อมือ ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่นใดของผู้ถูกจำกัด รวมทั้งระบบอิเล็กทรอกนิกส์ที่สามารถใช้ตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางและอาณาเขตของผู้ถูกจำกัดได้
ในการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีการจำกัดการเดินทางและอาณาเขตแก่ผู้ซึ่งต้องจำคุกผู้ใด ให้เจ้าพนักงานคำนึงถึงเหตุจำเป็นซึ่งรวมถึงเหตุ ดังต่อไปนี้
สำหรับแนวคิดของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เรื่องหลักการให้สามารถทำการควบคุมตัวที่บ้านได้ด้วย (House Arrest) ยังอยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงกฎหมาย ภายใต้หลักการสำคัญ การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดีอาญา เป็นไปตามหลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 และหลักสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
คือการสันนิษฐานว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ปฏิบัติเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ควบคุมหรือคุมขังกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการหลบหนี คำขอประกันต้องได้รับการพิจารณา ประกันต้องไม่มากเกิน และการไม่ให้ประกันต้องเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งศาลอาจสั่งให้ขังผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในสถานที่อื่นนอกจากเรือนจำได้ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่อาจมีข้อจำกัดบางประการ
ดังนั้น หากนายทักษิณ จะเดินทางกลับประเทศไทยในช่วง 1-25 ก.ค. 2566 จริง ย่อมอยู่ในช่วงของการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง โดยกกต. และเป็นบรรยากาศของการเตรียมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งการกลับประเทศไทยโดยไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่เกี๊ยะเซียะ ตามคำกล่าวของนายทักษิณนั้น ต้องจับตาดูว่า จะปรากฏภาพ "เดินเข้าเรือนจำ" สะท้านแผ่นดินหรือไม่ หรือจะมีการยื่นขอใช้สิทธิใส่กำไลอิเล็กทรอนิกส์(อีเอ็ม) ตามประกาศกระทรวงยุติธรรม พ.ศ.2556 และคดีที่ยังอยู่ในชั้น ป.ป.ช. จะเดินหน้าต่ออย่างไร ทั้งหมดนี้ย่อมส่งผลถึงมาตรฐานกระบวนการยุติธรรมอีกครั้ง
ที่มา : สถาบันพระปกเกล้า , กระทรวงยุติธรรม , เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ,พรรคเพื่อไทย ,พรรคไทยรักษาชาติ