หุ้นไอทีวี “ธนาธร-พิธา” ความเหมือนที่แตกต่าง ปมถือหุ้นสื่อ

17 พ.ค. 2566 | 01:20 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 05:22 น.

หุ้น ITV วิเคราะห์ 4 ปมถือหุ้นสื่อ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กับความเหมือนที่แตกต่าง

แม้พรรคก้าวไกล จะคว้าชัยชนะจากการเลือกตั้ง 2566 แต่ประเด็นการเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) จำนวน 42,000 หุ้น ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังคงเป็นที่จับตาอย่างต่อเนื่อง 

แม้ที่ผ่านมาเจ้าตัวจะออกมาบอกว่า หุ้นดังกล่าวไม่ใช่ของตัวเอง แต่เป็นกองมรดก โดยตัวเองเป็นผู้จัดการมรดกเท่านั้น และเคยหารือเรื่องนี้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไปแล้ว

แต่เรื่องนี้ก็อดคิดไม่ได้ หากจากจะนำไปเปรียบเทียบกับกรณีของ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่ง นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เจอเรื่องราวในลักษณะคล้าย ๆ กันอย่างนี้เช่นเดียวกัน

สำหรับกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้นสื่อ บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด หากพิจารณาจากมติกกต.ที่ยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพของส.ส. ของนายธนาธรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรค 4 อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งเป็นส.ส. ซึ่งเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3)

 

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่

ประเด็นที่ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. นำมาพิจารณาคุณสมบัติของนายธนธร ในขณะนั้น มีดังนี้

ประเด็นที่ 1 วัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าบริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด พบว่า มีวัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียน คือ ประกอบกิจการหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชน

ประเด็นที่ 2 งบการเงิน เพื่อพิจารณาว่าบริษัทมีรายได้จาการประกอบธุรกิจหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนหรือไม่ ซึ่งกกต.พบว่า งบการเงินของบริษัทฯพบว่ามีรายได้จากการขายนิตยสาร ให้บริการโฆษณา จึงถือเป็นการประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชน 

ประเด็นที่ 3 สถานะบริษัท เพื่อพิจารณาว่าบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่หรือไม่ จากเอกสารหลักฐานพบว่าบริษัทยังคงประกอบกิจการอยู่ ไม่มีการจดทะเบียนยกเลิกบริษัทหรือเสร็จการชำระบัญชีแต่อย่างใด 

ประเด็นที่ 4 หลักฐานการถือหุ้น บอจ. 5 พบว่า ใน บอจ. 5 ที่กกต.ได้รับจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ปรากฏชื่อนายธนาธรเป็นผู้ถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัด  ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 2562  

ดังนั้นเมื่อกกต.ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส.วันที่ 4-8 ก.พ. 2562 จึงเท่ากับว่าขณะที่นายธนาธร ยื่นใบสมัครลงรับเลือกตั้ง นายธนาธร ยังถือหุ้น บริษัทวี-ลัค มีเดีย จำกัดอยู่  จึงเข้าข่ายขาดคุณสมบัติเนื่องจากเป็นบุคคลที่ห้ามใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) และ พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 มาตรา 42(3) 

หากพิจารณากรณีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ กรณีถือหุ้น บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

 

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล

 

ประเด็นที่ 1 วัตถุประสงค์ในการยื่นจดทะเบียนบริษัทต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุไว้ชัดเจนว่า ไอทีวีประกอบกิจการ สื่อโทรทัศน์ 

ประเด็นที่ 2 งบการเงิน จากการตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังช่วง 5 ปี จากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริษัทยังมีกำไรต่อเนื่อง ดังนี้

ปี 2561 มีสินทรัพย์รวม 1,229,972,674 บาท และหนี้สินรวม 2,893,648,122บาท ส่วนรายได้รวมมีด้วยกันทั้งสิ้น 31,079,875 บาท ขณะที่ รายจ่ายรวม 8,881,477 บาท โดยมีการจ่ายภาษีเงินได้ 4,448,229 บาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 17,747,269 บาท

ปี 2562 มีสินทรัพย์รวม 1,256,488,582 บาท ส่วนหนี้สินรวม 2,895,067,295 บาท โดยมีรายได้รวม 28,034,734 บาท และรายจ่ายรวม 8,726,135 บาท โดยมีการจ่ายภาษีเงินได้ 3,920,011 บาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 15,385,413 บาท

ปี 2563 มีสินทรัพย์รวม 1,266,498,457 บาท มีหนี้สินรวม 2,894,724,231 บาท โดยมีรายได้รวม 27,752,826 บาท และรายจ่ายรวม 18,106,309 บาท โดยจ่ายภาษีเงินได้ 1,977,287 บาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 7,652,665 บาท

ปี 2564 มีสินทรัพย์รวม 1,270,457,704 บาท เพิ่มขึ้นสูงสุด มีหนี้สินรวม 2,894,513,831 บาท โดยมีรายได้รวม 22,993,678 บาท และรายจ่ายรวม 10,248,139 บาท จ่ายภาษีเงินได้ 2,556,611 บาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 10,177,063 บาท

ปี 2565 มีสินทรัพย์รวม 1,266,191,686 บาท มีหนี้สินรวม 2,891,997,086 บาท โดยมีรายได้รวม 19,863,244 บาท และรายจ่ายรวม 9,191,619 บาท จ่ายภาษีเงินได้ 2,142,305 บาท และผลประกอบการมีกำไรสุทธิ 8,524,445 บาทปัจจุบันไม่ได้ดำเนินกิจการ เนื่องจากติดคดีความ

อย่างไรก็ตามในรายงานของบริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โทมัสสุ บริษัทผู้ตรวจสอบบัญชี รายงานไว้ในงบการเงินเกี่ยวกับรายได้ของไอทีวีในปี 2564 จำนวน 23,683,771 บาท เป็นรายได้จากการดำเนินธุรกิจมาจากผลตอบแทนมาจากเงินลงทุนและดอกเบี้ย ไม่มีรายรายได้จากการดำเนินธุรกิจสื่อ หรือกิจการอื่นใดปรากฎอยู่ในงบการเงินของบริษัท โดยมีการระบุในแบบนำส่งงบการเงินตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันไม่ได้ดำเนินการ เนื่องจากติดคดีความ

 

งบการเงินเกี่ยวกับรายได้ของไอทีวีในปี 2564

 

แต่ในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 พบว่ามีผู้ถือหุ้นได้การสอบถามว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดยทางบริษัทได้ตอบในที่ประชุมว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ

 

รายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน)

 

กรณีนี้จึงเป็นประเด็นที่กกต.จะต้องตีความให้ชัดเจนว่า บริษัทไอทีวีที่ประกอบธุรกิจสื่อมวลชน แต่ไม่ได้ประกอบธุรกิจในปัจจุบันถือบริษัทที่ประกอบธุรกิจสื่อสารมวลชนหรือไม่

ประเด็นที่ 3 สถานะบริษัทยังประกอบกิจการอยู่หรือไม่ ประเด็นนี้ชัดเจนว่า แม้บริษัทไม่มีรายได้จากการประกอบธุรกิจสื่อแต่ บริษัทยังประกอบกิจการอยู่ 

ประเด็นที่ 4 หลักฐานการถือหุ้น จากการตรวจสอบ แบบ บอจ. 006 บัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท มหาชน จำกัด มีชื่อนายพิธาถือหุ้นไอทีวี 42,000 หุ้น ตั้งแต่ปี 2552 โดย ณ วันที่ 24 เมษายน 2562 หลังกกต. ประกาศเปิดสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ก็ยังมีชื่อนายพิธาอยู่ แต่นายพิธาชี้แจงว่า เป็นชการถือหุ้นในฐานะผู้จัดการกองมรดก และเคยหารือเรื่องนี้กับ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว

ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย มองว่า ตามหลักกฎหมายระบุชัดเจนว่า หากหุ้นของผู้ตายยังไม่ถูกแบ่งโดยผู้จัดการมรดก หุ้นนั้นก็ยังอยู่ในชื่อของผู้ตาย แต่ถ้าหากอยู่ในชื่อของผู้อื่นแสดงว่าหุ้นนั้นถูกแบ่งไปให้ผู้มีชื่อแล้ว หุ้นนั้นก็เป็นหุ้นของผู้มีชื่อนั้นไม่ใช่หุ้นของกองมรดก หากมีการแก้ไขในบัญชีผู้ถือหุ้นว่าเป็นของกองมรดก ก็ต้องระบุว่าเป็นหุ้นของกองมรดกใด ถือไว้ในนามของผู้จัดการมรดกชื่ออะไร ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่ต้องไปแก้ให้เป็นเช่นนั้น

แต่ในแบบ บมจ 006 กลับพบว่าหุ้นจำนวน 42,000 หุ้น เป็นชื่อของนายพิธาอย่างเดียว จึงน่าจะมีการโอนหุ้นมาเป็นชื่อตัวเองแล้วครบถ้วนบริบูรณ์ เพราะตามปกติ ถ้าเป็นผู้จัดการมรดกใน บมจ 006 ต้องมีวงเล็บตามหลังว่า ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดก แต่ของนายพิธา นั้นไม่มี  

จากนี้คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่า ว่า กกต.จะพิจารณาปมถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ออกมาอย่างไร จะซ้ำรอย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือไม่