ขั้นตอนโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 วิธีการโหวต การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ

18 ก.ค. 2566 | 14:40 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ก.ค. 2566 | 15:26 น.

สรุปขั้นตอน-วิธีโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 ในรัฐสภา เช็ควิธีการออกเสียงของรัฐสภา 750 คนมาจากไหน ทำไม 250 ส.ว. จึงมีความสำคัญ พร้อมตรวจสอบเงื่อนไขของการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ แต่ละพรรคเสนอได้กี่ชื่อ คลิกอ่านได้ที่นี่ 

ถนนการเมืองไทยเวลานี้มุ่งไปที่ "วันโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี" รอบที่ 2 ในวันพุธที่ 19 กรกฎาคม 2566

ซึ่งเป็นวันที่ นายวันมูฮัมหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภา นัดให้เป็นวันโหวตนายกรัฐมนตรี รอบที่ 2 โดยแคนดิเดทต้องลุ้นว่าชื่อของ "นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์" แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคก้าวไกล จะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ หลังจากการโหวตรอบแรกเมื่อ 13 ก.ค. 66 มติที่ประชุมรัฐสภาไม่เห็นชอบ

ผลโหวตเลือกนายกฯรอบแรก 13 ก.ค. 66

ทั้งนี้ ตามบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ 60 (มาตรา 272) บัญญัติให้ การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกรัฐมตรีให้กระทำในที่ประชมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว. ประชุมร่วมกัน) และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้ง 2 สภา หรือ 376 เสียงโดยปีนี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ ส.ว.มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี

กล่าวคือ การเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ที่กำลังจะเกิดขึ้น ตัวแทนสภาทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. 500 คนที่มาจาก ส.ส.เขต 400 เสียง และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 เสียง และ ส.ว.อีก 250 เสียง แต่ปัจจุบันเหลือ 249 เสียง เนื่องจากลาออกไป 1 คน จะเป็นผู้ลงคะแนนให้ความเห็นชอบผู้ที่จะมาเป็นนายกฯ ตามรายชื่อแคนดิเดตของแต่ละพรรคการเมืองที่เสนอชื่อเข้ามา

อย่างไรก็ดี หลายคนยังเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการเลือกนายกรัฐมนตรีในหลายเรื่อง เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง "ฐานเศรษฐกิจ" จึงนำขั้นตอนการเลือกบุคคลที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่  30 มาอธิบายให้เข้าใจแบบง่าย ๆ ดังนี้

ขั้นตอนการเลือก นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 

1. ส.ส.เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี จากบัญชีรายชื่อแคนดิเดตของพรรคที่มีจำนวน ส.ส. ตั้งแต่ 25 คนขึ้นไป

กรณีนี้หากดูจากผลการเลือกตั้ง ส.ส.ที่ผ่านมาแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีมีทั้งหมด 8 คน จาก 5 พรรคการเมือง คือ

  • พรรคก้าวไกล 1 คน
  • พรรคเพื่อไทย 3 คน
  • พรรคภูมิใจไทย 1 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ 1 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ 1 คน

2. การเสนอชื่อต้องมี ส.ส.รับรองไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ โดยสามารถเสนอชื่อให้เลือกได้มากกว่า 1 คน

3.การเลือกนายกรัฐมนตรีให้กระทำเป็นการเปิดเผย โดยเลขาธิการจะเรียกชื่อสมาชิก ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษรเป็นรายบุคคล และให้ออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ 

4.ส.ส. 500 เสียง ส.ว.249 เสียง รวมกัน 749 เสียง ผู้ที่ได้คะแนน 375 เสียงขึ้นไปจะได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี

5.หากลงคะแนนแล้วไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งก็จะวนโหวตต่อไปจนกว่าจะมีผู้ได้คะแนนมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่

 

ขั้นตอนการเลือก นายกรัฐมนตรี คนที่ 30 

จากข้อมูลข้างต้นมีประเด็นที่น่าสนใจ ก็คือ กรณีพรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้น ในการแถลงข่าวจับมือกับ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ สามารถรวมเสียงได้ 313 เสียง

หมายความว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ต้องได้เสียงสนับสนุนจาก ส.ว. อีกอย่างน้อย 63 เสียง จึงจะได้นั่งเก้าอี้นายกฯ 

ต้องจับตาดูว่า ในการคัดเลือกนายกรัฐมนตรีรอบนี้จะมีใครเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนอื่นแข่งกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลหรือไม่ ซึ่งหากมีการเสนอชื่อเข้าแข่งขันทั้ง ส.ส. และส.ว.ก็มีสิทธิที่จะโหวตให้กับใครคนใดคนหนึ่งก็ได้ ใครที่ได้คะแนน 376 ก่อน คือ ผู้ชนะ

ที่น่าสนใจในรัฐธรรมนูญ 2560 ฉบับปัจจุบันไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในการเลือกนายกรัฐมนตรีไว้อย่างชัดเจน ขณะที่รัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดเวลาไว้ 30 วัน หากพ้น 30 วัน ยังไม่มีใครได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งให้ผู้ได้คะแนนสูงสุดเป็น นายกฯ 

ดังนั้น ระหว่างการเลือกนายกฯ คนใหม่หากยังไม่ได้และไม่มีกรอบเวลากำหนดไว้ซึ่งอาจกินเวลาเป็น สัปดาห์ เป็นเดือน หลายเดือน ผู้ที่จะยังคงทำหน้าที่บริหารประเทศต่อไป ก็คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ต้องจับตาพร้อมเกาะติดสถานการณ์การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยกันว่า จะออกมาอย่างไร