63 ส.ว.ตัวแปรชี้ชะตา“พิธา”นายกฯ คนที่ 30

24 พ.ค. 2566 | 02:00 น.

นับถอยหลัง “รัฐบาลประยุทธ์” เปิดไทม์ไลน์ตั้งรัฐบาลก้าวไกล 3 ส.ค.โหวตเลือกนายกฯ 11 ส.ค. ครม.รักษาการสิ้นสุดลง ขณะที่รัฐบาลใหม่ 8 พรรค 313 เสียง ต้องพึ่ง ส.ว.อีก 63 เสียง ถึงจะดัน “พิธา” เป็นนายกฯ คนที่ 30 สำเร็จ

นับถอยหลังรัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ค. 2566 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐฐมนตรี ได้อธิบายถึงไทม์ไลน์การจัดตั้ง “รัฐบาลใหม่” ให้กับคณะรัฐมนตรีรับฟัง ว่า ไทน์ไลน์ที่พูดเป็นไทน์ไลน์อย่างเร็ว ดังนี้

วันที่ 13 ก.ค. 2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะรับรองผลเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) หากเกิดความล่าช้าคงเกิดจากการร้องเรียน 

หลังจากนี้คณะรัฐมนตรีจะพิจารณาพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมสภาฯ และวันที่ 20 ก.ค.2566 จะเป็นวันสุดท้ายที่ให้ ส.ส.รายงานตัว , วันที่ 24 ก.ค. จะมีพิธีเปิดประชุมรัฐสภา, วันที่ 25 ก.ค.จะมีการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร, วันที่ 26 ก.ค.จะมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานสภาฯ

วันที่ 3 ส.ค.จะมีการเลือกตั้งนายกฯ, วันที่ 10 ส.ค. มีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี, และ วันที่ 11 ส.ค. จะมีการถวายสัตย์ปฏิญาณ ซึ่งเป็นการทำงานวันสุดท้ายของคณะรัฐมนตรีรักษาการ

โหวตนายกฯยื้อได้ถึง 11 พ.ค.67

ทั้งนี้ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม กล่าวว่า เรามีเวลาทำงานอีกนานพอสมควร ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำงานให้บ่อยพูดให้น้อย ใครจะว่าอะไรก็ว่าไป และขอบคุณทุกคน 

“ไม่ต้องเสียใจพวกเรารักกันตลอดไป ทำงาน 4 ปี ไม่มีข้อขัดแย้ง ทำงานร่วมกันอีกหลายเดือน ปัญหามีมาให้แก้ทุกวัน ขอให้ช่วยกันทำงานกันต่อไป และหลังจากนี้ให้แต่ละกระทรวงสรุปงานที่ทำมาแล้วว่า มีอะไรบ้าง ระหว่างนี้ทำอะไรอยู่ และแผนงานในอนาคตมีอะไรให้ไปรวบรวมไว้สำหรับการส่งมอบงาน เพราะผลงานวันนี้เขาอาจไม่เห็น แต่ถ้าเห็นในอนาคตจะได้รู้ว่ามาจากรัฐบาลชุดไหน”

นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงความชัดเจนอำนาจในการโหวตเลือกนายกฯ ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามมาตรา 272 ในบทเฉพาะกาล จะสิ้นสุดเมื่อใด เพราะมีการวิเคราะห์กันว่าพรรคก้าวไกลจะยื้อเวลาเลือกนายกฯ ไปจนกว่า ส.ว.จะหมดอำนาจเลือกนายกฯ ว่า ส.ว.จะมีอำนาจโหวตนายกฯจนถึงวันที่ 11 พ.ค. 2567 

แต่การทำหน้าที่ของ ส.ว.ในเรื่องอื่นๆ สามารถทำต่อไปได้ และหากถึงเวลาหลังจากวันที่ 11 พ.ค. หากมีการเลือกนายกฯ ก็เป็นหน้าที่ของส.ส.เท่านั้น

                     63 ส.ว.ตัวแปรชี้ชะตา“พิธา”นายกฯ คนที่ 30

รัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง

สำหรับความคืบหน้าในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ พรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ ได้ร่วมกับอีก 7 พรรคการเมือง ร่วมลงนามข้อตกลงร่วม (เอ็มโอยู) ในการจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย 23 ข้อ และอีก 5 ข้อเป็นข้อตกลงแนวทางบริหารประเทศ
 

ทั้งนี้ รัฐบาล 8 พรรค 313 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล 152 เสียง, พรรคเพื่อไทย 141 เสียง, พรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง,  พรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง. พรรคเพื่อไทรวมพลัง 2 เสียง, พรรคเสรีรวมไทย 1 เสียง, พรรคเป็นธรรม 1 เสียง  และ พรรคพลังสังคมใหม่ 1 เสียง

อย่างไรก็ตาม ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในที่ประชุมร่วมรัฐสภารัฐบาลยังต้องพึ่งพาเสียงของสมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) ร่วมโหวตสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล อีก 63 เสียง ถึงจะเพียงพอสำหรับการเป็น “นายกฯ คนที่ 30” 
เพราะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา หรือ 376 เสียง จาก 750 เสียง นั่นทำให้พรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลต้องหาเสียงสนับสนุนอีกอย่างน้อย 63 เสียง

ส.ว.หนุน 18 เหลืออีก 45

แต่จากสุ่มเสียงของ ส.ว. ที่แสดงตนจะประกาศสนับสนุนให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้เป็นนายกฯ ณ ขณะนี้มีประมาณ 18 เสียง ยังต้องหาเสียง ส.ว.สนับสนุนให้ได้เพิ่มอีก 45 เสียง ถึงจะครบ 376 เสียง

ทั้งนี้ จากสุ้มเสียงของบรรดา ส.ว. ที่แสดงท่าทีออกมา พบว่า มี ส.ว.ประมาณ 18 คนแล้ว ที่จะโหวตสนับสนุนให้ พิธา เป็นนายกฯ อาทิ เฉลิมชัย เฟื่องคอน, ซากี พิทักษ์คุมพล, วัลลภ ตังคณานุรักษ์, อำพล จินดาวัฒนะ,พิศาล มาณวพัฒน์, ภัทรา วรามิตร

ทรงเดช เสมอคำ, วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, วันชัย สอนศิริ, มณเฑียร บุญตัน, พีระศักดิ์ พอจิต, ประภาศรี สุฉันทบุตร, สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, ประมาณ สว่างญาติ, รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล, พลเดช ปิ่นประทีป

                          63 ส.ว.ตัวแปรชี้ชะตา“พิธา”นายกฯ คนที่ 30
ท่าทีส.ว.แบ่งเป็น 3 แนวทาง 

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงแนวโน้มของ ส.ว. ในการโหวต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกฯ ว่า ต้องยอมรับว่ายังมีเวลาเกือบอีก 2 เดือน ดังนั้นการหารือกับ ส.ว.อย่างเป็นทางการยังไม่มี แต่มีการแลกพูดคุย และปรึกษาหารือกัน ยังไม่ถึงขนาดตัดสินใจไปในแนวทางใดชัดเจน 

ดังนั้น ขอเรียนว่าจากการที่ตนติดตามและปรึกษาหารือในหลายกลุ่มนั้น สรุปแนวทางได้ 3 แนวทาง คือ 

กลุ่มที่ 1 เป็น ส.ว.ที่ตัดสินใจแล้วว่า จะเลือกหรือไม่เลือก ตามที่ปรากฏเป็นข่าวไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนหนึ่ง แต่ไม่มากนัก

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้ตัดสินใจ โดยบอกว่าขอรอเวลาก่อน

กลุ่มที่ 3 อยู่ในระหว่างการพิจารณา และจะไปตัดสินใจในวันโหวต

“กลุ่มที่ 2 และ 3 ถือว่ามีจำนวนมาก เขาคงดูสถานการณ์ ดูเหตุการณ์ แล้วค่อยตัดสินใจ เพราะหากตัดสินใจในวันนี้ ไม่แน่ใจว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไรหรือไม่ เขาจึงสงวนท่าที แล้วพิจารณาสถานการณ์ไปเรื่อยๆ แล้วไปตัดสินใจในวันโหวตเลย” 

ฉะนั้นแนวทางเท่าที่ดูมา คือ มีการโหวตว่าจะเลือก หรือ ไม่เลือก กับอีกแนวทางหนึ่งคือ การงดออกเสียง ก็อาจจะเป็นไปได้ จึงเชื่อว่าแนวทางในการโหวตเลือกนายกฯ จะมี 3 แนวทางดังกล่าว 

“ผมตัดสินใจตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง จนกระทั่งวันนี้ว่า โหวตให้คนรวมเสียงข้างมาก แล้วเขาเสนอใครเป็นนายกฯ และผมก็โหวตให้กับคนนั้น ซึ่งเป็นจุดยืนของผมมาตั้งแต่ต้นและไม่เปลี่ยนแปลง” ส.ว.วันชัย ระบุ

ด้าน นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวย้ำว่า ยืนยันคำไหนคำนั้นจะไม่โหวตให้กับ นายพิธา เนื่องจากมีการเสนอแก้ไข มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง ทะเลาะ เบาะแว้ง คนไทยด้วยกันเข่นฆ่ากันเอง จึงไม่สมควรจะให้เป็นนายกฯ

“ส.ว.คนอื่นก็อาจจะสนับสนุนนายพิธาก็ได้ แต่ส่วนตัวกรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา การที่ นายพิธา และ พรรคก้าวไกล ไปยุ่งเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยเฉพาะทูตสหรัฐมายุ่งเกี่ยว ก้าวก่าย เร่งรัดการเลือกตั้งของไทย ถือว่าเสียมารยาท” นายกิตติศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า ตนได้ดูเอ็มโอยูเซ็นจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล และพรรคร่วมรวม 8 พรรคแล้ว พบว่าดีทีเดียว ส่วนตัวไม่ติดขัดอะไร เพียงแต่ห่วงเรื่องการเสนอแก้ไข มาตรา 112 ถ้าไม่มีกรณีดังกล่าวทุกอย่างน่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี 

ส่วนจะตัดสินใจจะโหวตเลือก นายพิธา  เป็นนายกฯ เลยหรือไม่ พล.ต.ท.พิสัณห์ กล่าวว่า ยังเร็วเกินไป ขอให้รอ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งก่อน ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน รวมถึงกรณีการถูกร้องถือหุ้นสื่อ ITV อยากให้เคลียร์ตรงนี้ให้จบ

สำหรับเสียง ส.ว.ที่จะโหวตให้นายพิธา มีมากหรือไม่นั้น พล.ต.ท.พิสัณห์ ตอบว่า ส่วนตัวเห็นว่าก้ำกึ่ง แต่คุณสมบัติของ นายพิธา ถือว่าเก่งมาก เหมาะสมเป็นผู้นำประเทศได้

“สถานการณ์เวลานี้สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด สำหรับผม หากมีข้อมูลครบถ้วน ตัดสินใจวันเดียวก็ได้ ยืนยันว่าไม่มีใครสามารถมาข่มขู่ ส.ว.ได้ ไม่มีประโยชน์ และไม่มีผลต่อ ส.ว.เลย" พล.ต.ท.พิสัณห์ กล่าว