ประพันธุ์ คูณมี ชี้ “พิธา” กำลังเดินตามรอย “ธนาธร”

07 มิ.ย. 2566 | 06:49 น.
อัปเดตล่าสุด :07 มิ.ย. 2566 | 06:55 น.

ประพันธุ์ คูณมี ชี้ “พิธา”กำลังเดินตามรอย“ธนาธร” : เรื่องคนจงใจฟื้นกิจการไอทีวีมาเล่นงานคุณพิธา ยิ่งไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น ไอทีวี เขาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในใบอนุญาตประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์ มาตั้งแต่ปี 2550

วันนี้ (7 มิ.ย. 66) นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) นักกฎหมายชื่อดัง ได้เขียนบทความถึงกรณีการถือครองหุ้น ITV  ของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคก้าวไกล ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะซ้ำรอยกับ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ถูกตัดสิทธิกรณีถือครองหุ้นสื่อเหมือนกัน 

บทความนี้ระบุหัวข้อเรื่องว่า พิธา...กำลังเดินตามรอย...ธนาธร มีเนื้อหาระบุว่า

มีคนทำตนเป็นกุนซือกฎหมาย หวังพลิกคดีช่วย พิธา ให้รอดพ้นจากคดี "หุ้นไอทีวี" ที่กำลังกลายเป็นบ่วงรัดคอและมีโอกาสดับฝันว่าที่นายกฯ ที่กำลังแอ๊กว่าตนเป็นนายกฯ ไปแล้ว 

โดยหยิบยกเอาข้อกฎหมายตาม ปพพ.มาตรา 1615 มาชี้ทางสวรรค์ให้ พิธา ยกเป็นข้ออ้างข้อต่อสู้ซึ่ง ม.1615 วรรคแรกบัญัติว่า "การที่ทายาทสละมรดกนั้น มีผลย้อนหลังไปถึงเวลาที่เจ้ามรดกตาย"

 ด้วยข้อกฎหมายดังกล่าว กุนซือเลยแนะนำให้ พิธา โอนหุ้นไปให้ทายาทอื่น ด้วยหวังว่าจะให้เจือสมกับข้ออ้างที่เคยแจ้งกับ ป.ป.ช.ว่า ตนถือ "หุ้นไอทีวี" ไว้ในชื่อตนตั้งแต่พ่อตายว่า เป็นการถือแทนทายาทในฐานะผู้จัดการมรดก และคงหวังจะให้ศาลเชื่อตามนิตินิยายเรื่องนี้ว่า ตนไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ถือหุ้นนั้นมาตลอดเวลานับแต่พ่อตาย เพื่อใช้เป็นข้อต่อสู้รวมกับประเด็นอื่นๆ

เอาเฉพาะประเด็นเรื่องการสละมรดกและการโอนหุ้น อยากให้ความเห็นทางกฎหมายและข้อสังเกตกับทุกท่านที่สนใจติดตามข่าวนี้ และฝากคุณพิธา และ กุนซือไปคิดด้วยดังนี้ครับ

1. พ่อคุณพิธา ตายตั้งแต่ปี 2549 ถึงวันนี้เป็นเวลา 17 ปี คุณพิธายังจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทยังไม่เสร็จสิ้นอีกหรือครับ และต้องไม่ลืมที่จะพิจารณา ม.1750 วรรคแรกด้วยที่บัญญัติว่า "การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท" แต่ถ้ามีสัญญาก็ไปดูวรรคสอง

2. หากมีการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทเสร็จสิ้นแล้วการสละมรดกก็ไม่มีผลน่ะครับ เพราะท่านต้องสละมรดกก่อนการแบ่งปันทรัพย์มรดกเสร็จสิ้น มิใช่เพิ่งจะมานึกจะสลละมรดกในวันนี้

3. คุณพิธาควรเปิดดู ปพพ.มาตรา 1612 ด้วยนะครับ เขาบัญญัติไว้ดังนี้ "การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือ ทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ" คุณพิธาได้ทำไว้หรือยัง หรือว่าจะทำย้อนหลัง เหมือนกรณีการโอนหุ้นของ คุณธนาธร 

และถ้าจะเล่นบทนี้กับศาล คุณพิธา ต้องมีเอกสารหลักฐานเป็นหนังสือและเอาหลักฐานนั้นมาแสดงต่อศาล และนำทายาทมาเบิกความต่อศาลด้วยเพื่อยืนยัน กรณีนี้ เสี่ยงเบิกความเท็จ นำสืบและแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาลได้นะครับ คิดให้ดีและตรึกตรองให้จงหนัก เดี๋ยวจะพาญาติพี่น้องมาเดือดร้อนติดคุกได้

4. ตลอดเวลาที่ผ่านมา 17 ปี "หุ้นไอทีวี" ปรากฏถืออยู่ในชื่อของ คุณพิธา เป็นส่วนตัว ไม่มีทายาทคนใดมาโต้แย้งขอแบ่ง หลักฐานที่ปรากฏทางทะเบียนรายชื่อผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ไม่ปรากฏว่า คุณพิธา ถือในนามผู้จัดการมรดก ถ้าจะอ้างว่าทรัพย์มรดกยังไม่มีการแบ่งเสร็จสิ้น ต้องดูรายการบัญชีทรัพย์มรดกรายการอื่นๆ ด้วยว่า ยังไม่ได้แบ่งด้วยหรือไม่ หรือมีเพียงแค่หุ้นไอทีวีเท่านั้น เพราะจะทำให้ข้ออ้างของคุณไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือครับ

สรุป ขอให้ความเห็นและข้อสังเกตแค่นี้ครับ ประเด็นอื่นๆ เป็นประเด็นเก่า โดยเฉพาะเรื่องคนจงใจฟื้นกิจการไอทีวีมาเล่นงานคุณพิธา ยิ่งไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น ไอทีวี เขาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในใบอนุญาตประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์ มาตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่พรรคของ คุณพิธา ยังไม่เกิด จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างเรื่องเล่นงานคุณ 

และคดีทำนองนี้ ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว สู้อย่างไรก็ได้ครับ แต่ศาลจะเชื่อหรือไม่ นี่คือโจทก์ข้อใหญ่ของคุณพิธา