จากกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ล่าสุด โพสต์ทูเดย์ ได้รายงานว่า เส้นทาง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่วาดหวังจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย หลังชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับ 1 ในการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 และเป็นแกนนำการจัดตั้งรัฐบาล ภายใต้การตกลงร่วมมือกันของ 8 พรรคการเมือง ยังมีความไม่แน่นอนอีกมาก แม้จะผ่านระยะเวลามาเกือบสามสัปดาห์
อุปสรรคใหญ่ที่จะหยุดฉุดรั้ง พิธา จนไม่สามารถขึ้นไปสู่เก้าอี้สูงสุดของฝ่ายบริหารทางการเมือง หรือ นายกรัฐมนตรี ในขณะนี้ คือ ปัญหาการถือครองหุ้นสื่อ ซึ่งเป็นการขัดต่อคุณสมบัติการเป็น ส.ส.โดยมีการร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งให้ตรวจสอบการถือครองหุ้น ไอทีวี จำนวน 42,000 หุ้น ว่าเป็นการขัดการข้อกำหนดการเป็นส.ส.หรือไม่ซึ่งขณะนี้กระบวนการ การตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว ยังอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำลังสรวจสอบข้อมูลต่างๆ เพื่อเสนอต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งว่า มีมูลหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรต่อไป
จากข้อมูลตามที่มีการเปิดเผยของ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐตั้งแต่เมื่อวันที่ 10 พ.ค.66 ในฐานะผู้ร้องทำให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ออกมาตอบข้อสงสัยผ่านสื่อมาโดยตลอดว่า การถือหุ้นดังกล่าวเป็นการถือในฐานะผู้จัดการมรดก หลังจากที่บิดาได้เสียชีวิตลงและได้หารือกับ กกต.และทีมกฎหมายของพรรคแล้วว่าไม่น่ามีปัญหาสามารถชี้แจ้งในเรื่องดังกล่าวได้ และหลังจากผ่านการเลือกตั้งนายพิธาได้มีการโอนหุ้นให้กับบุคคลในครอบครัวไปแล้วพร้อมชี้แจงผ่านสื่อโซเชียลสรุปใจความได้ว่า "โอนหุ้นไอทีวี ให้ทายาทคนอื่นแล้ว ไม่ได้หนีความผิด
พร้อมแจงย้ำว่า ไอทีวี ไม่ได้ทำกิจการสื่อ หุ้นแทบไม่มีมูลค่า มีความพยายามฟื้นให้ไอทีวีกลับมาเป็นสื่อหวังเล่นงานทั้งยังระบุชัดว่าตัวเองมีคุณสมบัติครบลงส.ส. เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคก้าวไกลได้ พร้อมเดินหน้าทำภารกิจตั้งรัฐบาล เปลี่ยนประเทศต่อไป"
ประเด็นปัญหาของกรณีการถือหุ้นไอทีวี จึงมีประเด็นที่น่าพิจารณาอย่างน้อย 2 ประเด็นคือ ไอทีวี ยังเป็นสื่ออยู่หรือไม่และการถือหุ้นของนายพิธาก่อนโอนให้ทายาทคนอื่นถือในฐานะอะไร ซึ่งหาก 2 ประเด็นพื้นฐานชัดเจนจะทำให้ประเด็นที่มีข้อสงสัยว่า จะเข้าข่ายผิดหลักเกณฑ์ตามที่มีการร้องต่อ กกต.เป็นไปในทิศทางใดจะส่งต่อให้ ศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาต่ออย่างไรหรือไม่
ไอทีวี ยังเป็นสื่อหรือไม่
ประเด็นนี้ในส่วนของผู้ร้องได้ยืนยันสนับสนุนโดยใช้หลักฐาน ตามรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2566 มีการสอบถามว่า บริษัท ไอทีวี มีการดำเนินงานเกี่ยวกับสื่อหรือไม่ โดยทางบริษัทได้ตอบในที่ประชุมว่า ปัจจุบันบริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ
ซึ่งประเด็นดังกล่าวนายพิธาได้แสดงความเห็นในเชิงโต้แย้งว่า " ผมพร้อมสู้กับความพยายามคืนชีพ ไอทีวี เพื่อสกัดกั้นพวกเรา ตามที่ทราบกันดีว่า ตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้แจ้งบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ
ต่อบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) (ITV) ส่งผลให้สัญญาร่วมงานฯ สิ้นสุดลง เป็นเหตุให้ ไอทีวี ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ได้นับแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน......กรณีดังกล่าวยังคงเป็นข้อพิพาทเรียกร้องค่าเสียหายระหว่าง ไอทีวี กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จากการบอกเลิกสัญญาพิพาทโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด........
เห็นได้ว่า นับแต่ ไอทีวี ถูกยกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ส่งผลให้ ไอทีวี ไม่สามารถใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม สถานะความเป็นสื่อมวลชนจึงสิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม 2550 นับแต่นั้นมา"
จะเห็นได้ว่า การชี้แจงของนายพิธาพยายามสรุปว่า เมื่อไอทีวีถูกบอกเลิกสัญญาจากสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี(สปน.) เมื่อ 7 มี.ค. 50 แม้มีข้อพิพาทอยู่แต่สถานะความเป็นสื่อมวลชนสิ้นสุดลงแล้ว
เป็นที่น่าสนใจว่า สถานะความเป็นสื่อของไอทีวี สิ้นสุดลงตามที่นายพิธาสรุปหรือไม่ เพราะอย่างที่ทราบกันว่า ไอทีวี จดทะเบียนมีวัตถุประสงค์ชัดเจนข้อหนึ่งก็ คือ ทำสื่อ การต่อสู้กับ สปน. เพราะเห็นว่า การบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่า ไอทีวี ยังรักษาสิทธิพยายามจะดำเนินการต่อในฐานะสื่อต่อไปแต่ไม่สามารถทำได้เพราะถูกยกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม
โดย ไอทีวี ต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมมาตั้งแต่ต้นและกำลังจะมีคำวินิจัยของศาลปกครองสูงสุด ภายในเดือน มิ.ย.66 นี้ ตามรายงานข่าวโดยก่อนหน้านี้ไอทีวีชนะในการต่อสู้ในชั้นศาลปกครองกลางมาแล้วหากในชั้นศาลปกครองสูงสุดชนะคดีพิพาทนั้นหมายถึง ไอทีวียังกลับไปทำรายงานโทรทัศน์ตามที่เคยดำเนินการมาก่อนหน้านั้นตามสัญญาเดิมได้อีกครั้ง ดังนั้น ความเป็นสื่อ จึงไม่น่าจะสิ้นสุดไปตามคำบอกเลิกสัญญา ของ สปน.
สำหรับประเด็นที่มองว่า เป็นความพยายามจะฟื้นสถานะสื่อขึ้นมาเมื่อเร็วๆนี้ โดยการปรับเปลี่ยนการรายงานงบการเงินเมื่อปี 2565 นั้น Post today ได้ตรวจสอบย้อนหลังไปพบว่าในรายงานการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2561 พบว่า ในวาระที่ 8.3 รายงานผลการพิจารณาเพื่อการลงทุนและหาทางเลือกในการดำเนินกิจการของบริษัทต่อไป มีการประชุมเพื่อวางแผนการลงทุนในฐานะสื่อมาตั้งแต่ ปี 2559 ตามรายละเอียดดังนี้
รายงานผลการประชุมของ ไอทีวี เป็นการตอกย้ำตามข้อสรุปของ ประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภาที่ให้ความเห็นไว้เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.66 ที่ผ่านมาอย่างน่าสนใจว่า "เรื่องคนจงใจฟื้นกิจการไอทีวีมาเล่นงานคุณพิธา ยิ่งไม่มีเหตุผลฟังไม่ขึ้น ไอทีวี เขาต่อสู้เพื่อรักษาสิทธิในใบอนุญาตประกอบการธุรกิจสื่อโทรทัศน์มาตั้งแต่ปี 2550 ตั้งแต่พรรคของคุณพิธายังไม่เกิด จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะสร้างเรื่องเล่นงานคุณ และคดีทำนองนี้ ก็มีคำพิพากษาศาลฎีกาและศาลรัฐธรรมนูญ วินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้ว"