จากกรณีที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้โพสต์ผ่านเพจเฟสบุ๊ค Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 ระบุว่าตนเองได้โอนหุ้นไอทีวี(ITV) ที่ถือครองในฐานะผู้จัดการมรดก ไปให้แก่ทายาทคนอื่นๆโดยสิ้นเชิง
เนื่องจากพบข้อพิรุธว่า มีความพยายามฟื้นคืนชีพให้ ITV กลายเป็นสื่อมวลชนเพื่อนำมาใช้เล่นงานตนเอง เหตุนี้นำมาสู่ข้อถกเถียงต่อไปว่า หากเป็นเช่นนี้แล้ว จะนับช่วงเวลาในการถือครองหุ้นสื่อตั้งแต่เมื่อไหร่ การสละทรัพย์มรดก จะต้องถือว่าไม่เคยได้รับตั้งแต่ต้นหรือไม่
ฐานเศรษฐกิจ ได้มุมมองผ่านการสัมภาษณ์พิเศษ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในกรณีที่ไอทีวี(ITV) ฟื้นคืนชีพ และต่อให้นายพิธา จะยังคงถือครองหุ้นอยู่ก็ตาม ก็ถือว่าไม่ได้มีสัดส่วนของหุ้นมากพอที่จะไปมีผลต่อการตัดสินใจ
อ.ปริญญา อธิบายว่า หุ้นในมือคุณพิธา 42,000 หุ้นนั้น คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.0035% ถือว่ามีจำนวนที่น้อยมาก จนไม่มีผลอะไรในการตัดสินใจ ไม่ถูกเชิญเข้าร่วมประชุมด้วยซ้ำ และหากดูบรรทัดฐานของศาลรัฐธรรมนูญในคดี 18-19 /2563 ซึ่งระบุถึงเจตนารมณ์ของกฎหมายว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ส.ส.ไปมีอิทธิพลครอบงำสื่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางการเมืองแก่ตนเอง ต้องการให้สื่อเป็นอิสระ และเป็นกลาง
และไอทีวีเองก็ไม่ได้ประกอบกิจการเพื่อทำสื่อ แต่ที่ยังดำรงสถานะอยู่ก็เพราะมีคดีฟ้องร้องอยู่กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี บริษัทจึงเลิกกิจการไม่ได้ ซึ่งหุ้น 0.0035% จะไปครอบงำสั่งการอะไรได้ และหากต้องรับผิด คำถามคือเป็นธรรมหรือไม่ ไม่ใช่ว่าเป็นธรรมต่อตัวคุณพิธาหรือไม่เท่านั้น แต่เป็นธรรมต่อประชาชนที่เลือกบัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกลหรือไม่ อ.ปริญญากล่าว