วันนี้ (10 มิ.ย. 66) นายนิพนธ์ บุญญามณี รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระแสข่าวที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)" ณ ห้องประชุมศรีวังสา ของคณะรัฐศาสตร์ โดยในงานมีการกล่าวปาฐกถา หัวข้อ "การกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" และแถลงการณ์ ของประธานขบวนนักศึกษาแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น
นายนิพนธ์ กล่าวว่า การสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้นั้น เป็นเรื่องที่คนไทยทุกคนปราถนาให้เกิดขึ้นจริง ไม่ว่ารัฐบาลไหนๆ ที่เข้ามาบริหารประเทศ ก็ให้ความสำคัญกับการดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในพื้นที่อย่างเต็มที่
มีคณะกรรมการต่างๆ ทั้งหน่วยราชการ NGO ภาคเอกชน ต่างลงไปศึกษา ช่วยเหลือ ครอบคลุมทุกมิติทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เพื่อนำไปสู่การลดความรุนแรง เกิดความสงบสุข
อีกทั้งยังกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าว เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหาร เป็นแหล่งผลิตสินค้าฮาลาลเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดโลกมุสลิม ซึ่งที่ผ่านมามีการทุ่มงบประมาณเพื่อเข้าไปจัดการในพื้นที่หลายแสนล้านบาทตลอดระยะเวลา 20 ปี แต่ก็ยังไม่สามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม
โดยข้อเสนอที่พยายามขับเคลื่อนมาโดยตลอดเพื่อการแก้ไขปัญหานั้น ต้องน้อมนำแนวทางพระราชทาน “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เพื่อสร้างความร่วมมือและรับรู้ร่วมกัน ทำให้ปัญหาที่หลายฝ่ายเรียกร้องได้ถูกแก้ไขได้อย่างยั่งยืน
รวมถึงการเดินตามยุทธศาสตร์ “สันติภาพสู่สันติสุข” คือ การทำให้เกิดสันติภาพ ยุติความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่สันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งต้องสนับสนุนให้มีการพูดคุยกับกลุ่มต่างๆ ที่มีความเห็นที่ต่างกันอยู่ในพื้นที่ ทุกกลุ่ม ทุกฝ่ายสร้าง
การมีส่วนร่วมในทุกมิติที่มีผลกระทบต่อคนในพื้นที่ ซึ่งถ้าหากไม่สามารถแก้เรื่องความเห็นต่าง หรือ แก้เรื่องความขัดแย้งไม่ได้ ก็ยากที่จะนำสันติสุขมาสู่ชายแดนใต้ ซึ่งตนสนับสนุนการพูดคุยกับทุกกลุ่ม และเคยเดินทางไปพบปะพูดคุยกับระดับผู้นำของบางกลุ่มมาแล้ว
ทั้งนี้ ตามที่เป็นข่าวในเรื่องของกลุ่มขบวนนักศึกษาแห่งชาติ ที่ได้เปิดหัวข้อพูดคุย เรื่องการกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานีนั้น ถือเป็นประเด็นที่อ่อนไหว ละเอียดอ่อน และส่อขัดต่อรัฐธรรมนูญ
และการเคลื่อนไหวเพื่อลงประชามติแบ่งแยกดินแดนดังกล่าวเป็นมุมมองที่ยึดรูปแบบของโครงสร้างเพียงอย่างเดียว คือ ต้องเป็นรูปแบบปกครองตนเองเป็นรัฐอิสระเท่านั้นจึงจะแก้ปัญหาได้
ในส่วนนี้เห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะขาดความเชื่อมโยงเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันจากประชาชนกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างด้วยความเป็นสังคมพหุวัฒนธรรม และเมื่อปรากฏเป็นข่าวในบรรดาผู้ร่วมเวทีก็ต่างออกมาปฏิเสธ และเกิดการต่อต้านจากคนในพื้นที่ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงการขาดความพร้อม เพื่อสื่อสารเรื่องดังกล่าวให้เกิดการรับรู้กับคนในพื้นที่และสาธารณะ
โดยหลังจากนี้ อาจจะนำไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ของกลุ่มสนับสนุนที่ต้องแสดงออกว่ามีเพียงการแบ่งแยกเท่านั้นจึงจะยุติปัญหาได้
ขณะเดียวกัน การใช้ชีวิตของผู้คนในพื้นที่จะเกิดความหวาดระแวงกันมากขึ้น ขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกันของประชาชนกลุ่มต่างๆ จนอาจทำให้แก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ที่มียาวนานนั้น ยิ่งแก้ไขได้ยากลำบากมากยิ่งขึ้นไปอีก