13 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ กฎ ก.ตร. ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.2566 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 23(1) และ (2) ประกอบกับมาตรา 110 แห่งพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2565 และมติ ก.ตร. ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ.2566 ก.ตร. จึงออกกฎ ก.ตร.ไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 กฎ ก.ตร. นี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา
ข้อ 2 ให้ยกเลิก (1) กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.2551 (2) กฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและจรรยาบรรณของตำรวจ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553
ข้อ 3 ให้ใช้กฎ ก.ตร. นี้ เป็นกรอบแห่งการประพฤติปฏิบัติของข้าราชการตำรวจ ดังนี้
(1) ข้าราชการตำรวจพึงยึดถือคุณธรรม จริยธรรม และอุดมคติของตำรวจ เป็นแนวทาง การประพฤติตนและปฏิบัติหน้าที่เพื่อบรรลุถึงปณิธานของการเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อุทิศตนให้แก่ การปฏิบัติหน้าที่ มีความภาคภูมิใจในวิชาชีพตำรวจและกล้ายืนหยัดกระทำในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม เพื่อเกียรติศักดิ์และศักดิ์ศรีของความเป็นตำรวจ
(2) ข้าราชการตำรวจพึงหลีกเลี่ยงและละเว้นจากอบายมุขทั้งปวงหรือกระทำการอื่นใด ที่อาจนำไปสู่ความเสื่อมเสียต่อตนเอง ครอบครัว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(3) ข้าราชการตำรวจพึงวางตนให้เหมาะสมและครองตนอย่างพอเพียงสมฐานานุรูป
(4) ข้าราชการตำรวจพึงใฝ่หาความรู้ เพิ่มพูนความรู้ และทักษะในการทำงานอย่างสม่ำเสมอ
(5) ข้าราชการตำรวจต้องยึดถือและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายอย่างเคร่งครัด และยืนหยัดเจตนารมณ์ในการรักษากฎหมายให้ถึงที่สุด
(6) ข้าราชการตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และไม่แสวงหาประโยชน์ โดยมิชอบ รวมทั้งไม่ใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ หรือยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่ง อำนาจหรือหน้าที่ของตน แสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น หรือใช้ไปในทางจูงใจ หรือมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ การใช้ดุลพินิจ อันเป็นผลให้สูญเสียความยุติธรรม
(7) ข้าราชการตำรวจต้องรักษาความลับของทางราชการ และความลับที่ได้มาจากการปฏิบัติหน้าที่ หรือจากประชาชนผู้มาติดต่อราชการ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยเพื่อประโยชน์ในกระบวนการยุติธรรม หรือ การตรวจสอบตามที่กฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ กำหนด
(8) ข้าราชการตำรวจต้องถนอมรักษาทรัพย์สินของทางราชการให้อยู่ในสภาพเรียบร้อย และสามารถใช้การได้ตลอดเวลา โดยระมัดระวังมิให้เกิดความเสียหายหรือสิ้นเปลืองเยี่ยงวิญญูชน จะพึงปฏิบัติต่อทรัพย์สินของตนเอง
(9) ข้าราชการตำรวจต้องตระหนักว่าการใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรง เป็นมาตรการ ที่รุนแรงที่สุด โดยอาจใช้อาวุธ กำลัง หรือความรุนแรงได้ต่อเมื่อมีความจำเป็นภายใต้กรอบของกฎหมาย และระเบียบแบบแผน
(10) ในการรวบรวมพยานหลักฐาน การสืบสวนสอบสวน การสอบปากคำหรือการซักถาม ผู้กระทำความผิด ผู้ต้องหา ผู้ที่อยู่ในความควบคุมตามกฎหมาย ผู้เสียหาย ผู้รู้เห็นเหตุการณ์ หรือบุคคลอื่น ข้าราชการตำรวจต้องแสดงความเป็นมืออาชีพโดยใช้ความรู้ความสามารถตามหลักวิชาการ ตำรวจ รวมทั้งใช้ปฏิภาณไหวพริบและสติปัญญาอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง อันธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม และไม่ใช้อำนาจโดยมิชอบเพื่อให้ได้มาซึ่งพยานหลักฐาน
(11) ข้าราชการตำรวจต้องอำนวยความสะดวกในการให้บริการประชาชนอย่างเต็มกำลัง ความสามารถ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นธรรม เอื้อเฟื้อ มีน้ำใจ และใช้กิริยาวาจาที่ สุภาพอ่อนโยน เพื่อให้ประชาชนมีความเลื่อมใส เชื่อมั่นและศรัทธา
(12) ข้าราชการตำรวจซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ดูแลเอาใจใส่ ผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งในด้านการปฏิบัติงาน ขวัญกำลังใจ และสวัสดิการ ตลอดจนปกครองผู้ใต้บังคับบัญชา ด้วยหลักการและเหตุผลและเป็นไปตามระบบคุณธรรม ข้าราชการตำรวจต้องเคารพเชื่อฟัง และปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยชอบ ด้วยกฎหมาย รักษาวินัยและความสามัคคีในหมู่คณะ และพึงปฏิบัติต่อผู้ร่วมงานด้วยความสุภาพ มีน้ำใจ มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี รวมทั้งร่วมแรงร่วมใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ประเทศชาติ และประชาชน
ข้อ 4 การจัดทำแนวทางการปฏิบัติตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจนี้ ให้เป็นไป ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนด
ข้อ 5 ข้าราชการตำรวจซึ่งต้องปฏิบัติหน้าที่โดยอาศัยวิชาชีพใดซึ่งมีการกำหนดจรรยาบรรณ ของวิชาชีพนั้นไว้เป็นการเฉพาะ ต้องถือปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพนั้นด้วย
ข้อ 6 การใดที่อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎ ก.ตร. ว่าด้วยประมวลจริยธรรมและ จรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งใช้อยู่ก่อนวันที่กฎ ก.ตร. นี้ ใช้บังคับ ให้ดำเนินการต่อไปจนกว่าจะเสร็จสิ้น
ให้ไว้ ณ วันที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ.2566
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประธานกรรมการข้าราชการตำรวจ
สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้กฎ ก.ตร. ฉบับนี้ คือ โดยที่ข้าราชการตำรวจมีหน้าที่และความรับผิดชอบ สำคัญในการรักษาความปลอดภัย สำหรับองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ผู้แทนพระองค์ และพระราชอาคันตุกะ ป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา รักษาความสงบเรียบร้อย ความปลอดภัยของประชาชนและความมั่นคงของราชอาณาจักร รวมทั้งการให้บริการแก่ประชาชน
ดังนั้น เพื่อให้ข้าราชการตำรวจมีความประพฤติดีสำนึกในหน้าที่ มีคุณธรรม และจริยธรรม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ราชการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประสิทธิผล จึงจำเป็น ต้องออกกฎ ก.ตร. นี้
คลิกอ่านรายละเอียดฉบับเต็มได้ที่นี่ กฎ ก.ตร.ว่าด้วยจรรยาบรรณของตำรวจ พ.ศ.2566