วันนี้ (16 มิถุนายน 2566) พรรคก้าวไกล เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายของพรรค หากสามารถเข้ามาเป็นรัฐบาลใหม่ได้ โดยระบุว่า หน่วยงานแรกที่จะต้องเร่งปรับเปลี่ยนการทำงานใหม่ คือ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ซึ่ง พรรคก้าวไกล ถือว่าเป็นกระทรวงที่เป็นฟันเฟืองตัวแรกในการพลิกโฉมอนาคตของประเทศ โดยมีเนื้อหาดังนี้
รู้สึกหรือไม่ ว่าการที่เราต้องกรอกชื่อ-ที่อยู่ตามบัตรประชาชนทุกครั้งที่เราต้องไปติดต่อขอรับบริการจากหน่วยราชการนั้นเป็นปัญหา?
ทำไมหลังจากที่รัฐบาลไทยพูดถึงนโยบาย Single Digital ID มาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ทุกครั้งที่ประชาชนต้องการรับสวัสดิการจากรัฐ ยังต้องเดินทางไปที่หน่วยงานเพื่อกรอกข้อมูลใหม่ทุกครั้ง? นี่คือปัญหาเล็กๆ ที่เชื่อมโยงถึงปัญหาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลที่สำคัญของประเทศ
ประกาศปรับ 5 บทบาทกระทรวงดิจิทัล
ที่ผ่านมา ถ้าพูดถึงบทบาทกระทรวงดิจิทัล นอกจากการบล็อกเว็บไซต์แล้ว พวกเราคิดถึงหน้าที่อื่นไม่ออก แต่เรามองเห็นศักยภาพที่อยู่ในภารกิจของกระทรวงในการวางรากฐานอนาคตของประเทศอย่างน้อย 5 อย่างด้วยกัน
1. Single Digital ID
ทำให้บัตรประชาชนของเราใบเดียว หรือเลข 13 หลัก สามารถเชื่อมต่อฐานข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานรัฐทั้งหมด ขอรับบริการอะไร แค่ยื่นบัตรประชาชน หรือกรอกเลขบัตรประชาชนทางอินเตอร์เน็ตก็สามารถรับบริการได้ทันที แม้จะพูดกันมาแล้วหลายรัฐบาล แต่ผู้บริหารสูงสุดของกระทรวงไม่มีความเข้าใจเทคโนโลยีเพียงพอ ทำให้ความคืบหน้าของโครงการย่ำอยู่กับที่
แต่ในรัฐบาลของพรรคก้าวไกล พวกเราจะเข้าไปทุบโต๊ะเพื่อเชื่อมโยงระบบข้อมูลของหลายหน่วยงานที่กระจัดกระจาย เพื่อรวมข้อมูลให้เหลือระบบเดียวให้ได้ ซึ่งจะนำไปสู่การต่อยอดให้นโยบายนี้เกิดได้จริง
2. โครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูล
โดยปกติเมื่อเราพูดถึงโครงสร้างพื้นฐาน เรามักจะคิดถึงถนน ทางด่วน หรือรถไฟความเร็วสูง แต่สำหรับพรรคก้าวไกล โครงสร้างพื้นฐานที่จะทำให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจของยุคปัจจุบัน คือโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
การสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่รวบรวมข้อมูลทุกอย่างของภาครัฐและภาคเอกชน จัดเก็บในระบบฐานข้อมูลเดียวและเปิดให้ทุกคนนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดทางเศรษฐกิจและสังคมได้ ภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยและการรักษาสิทธิข้อมูลส่วนบุคคล การทำให้เมกะโปรเจกต์ ด้านข้อมูลนี้เกิดขึ้นให้ได้ จำเป็นต้องมีการทำงานทั้งในแง่ของกฎหมายและแพลตฟอร์ม อันเป็นภารกิจของพรรคก้าวไกลที่จะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นให้ได้
3. เปิดข้อมูลภาครัฐทั้งหมดให้เป็น “รัฐเปิดเผย”
สิ่งที่เปิดได้ทันที คือข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดจะต้องออกมาในรูปแบบที่เข้าถึงและตรวจสอบได้ เอกสารงบประมาณและทุกเอกสารราชการจะต้องเปลี่ยนจาก pdf ที่สแกนมาจากกระดาษ ให้อยู่ในรูปแบบที่สามารถดึงออกมาประมวลผล รวมทั้งการประชุมต่างๆ ของหน่วยงานรัฐจะต้องมีการไลฟ์สดการประชุมให้ประชาชนสามารถสืบค้นได้ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลก้าวไกลต้องการผลักดัน
4. การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
สิ่งที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลคนใหม่ทำได้ทันที คือการนั่งหัวโต๊ะและเรียกคุยกับทุก Social Media Platform ให้บังคับใช้ "การยืนยันตัวตนโดยใช้หลายปัจจัย" (Multi-Factor Authentication : MFA) ให้ทุกส่วนราชการที่เปิดช่องทางโซเชียลมีเดีย ต้องลงทะเบียนอีกชั้น ซึ่งจะแก้ปัญหาการที่เพจหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ถูกแฮคได้ สิ่งนี้ทำได้เลยไม่ต้องรอจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ต้องใช้งบประมาณ เพจหน่วยงานไหนที่ไม่ทำตามมาตรฐานความปลอดภัยก็จะถูกระงับการใช้งานไปก่อนจนกว่าจะปฏิบัติตามมาตรฐาน
ส่วนในระยะยาว รัฐบาลพรรคก้าวไกลจะทำให้ Cloud กลางภาครัฐเกิดขึ้นจริง เพื่อป้องกันระบบจากการถูกแฮค และผลักดันกฎหมาย Data Protection Act เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนที่มีมาตรฐานมากขึ้น
5. ยุบศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม และเลิกบทบาทปิดกั้นสิทธิเสรีภาพทั้งหมด
การบอกว่าอะไรจริงหรือไม่จริงไม่ใช่หน้าที่ของรัฐ หน้าที่ของรัฐ คือการเปิดให้สังคมทุกภาคส่วนเข้ามาตรวจสอบ ถกเถียง และนำเสนอชุดความจริงจากฝั่งของตนเอง โมเดลที่ดีคือเหมือน Co-Fact ของไต้หวัน ซึ่งเป็นศูนย์ที่ดำเนินการโดยองค์กรสื่อ สมาคมสื่อ และภาคประชาสังคม
กระทรวงดิจิทัล ภายใต้รัฐบาลพรรคก้าวไกล จะไม่ใช่กระทรวงที่มีหน้าที่บล็อกเว็บไซต์ แต่จะต้องเป็นกระทรวงที่เอื้อต่อสังคมที่ทำให้เกิดสิทธิและเสรีภาพ หนึ่งใน 45 กฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอ คือ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่จะยกเลิกอำนาจรัฐในการปิดปากประชาชน
หลายคนอาจคิดว่ากระทรวงที่มีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนประเทศ คือ กระทรวงเกรด A++ ที่มีงบประมาณเยอะ หรือมีอำนาจมากในการให้คุณให้โทษข้าราชการ แต่สำหรับพรรคก้าวไกล กระทรวงที่เป็นฟันเฟืองตัวแรกในการพลิกโฉมอนาคตของประเทศ คือ “กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม”
ประวัติกระทรวงดิจิทัลฯ
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Ministry of Digital Economy and Society) จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2545 เดิมชื่อ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ต่อมาได้มีการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 โดยจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
จุดเริ่มต้นนั้น เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้เสนอร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม เพื่อจัดตั้ง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาแทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 ได้มีการตราพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ.2559
ส่งผลให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต้องสิ้นสุดลง และจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นแทน กระทรวงเปลี่ยนชื่ออย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2559 ใช้อักษรย่อ ดศ.
อำนาจหน้าที่กระทรวงดิจิทัลฯ
พระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พศ. 2559 (เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม) หมวด 8/1 มาตรา 21/1 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการวางแผนส่งเสริม พัฒนา และดำเนินกิจการเกี่ยวกับดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม การอุตุนิยมวิทยา การสถิติและราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกําหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือส่วน ราชการที่สังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
มาตรา 21/2 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มีส่วนราชการ ดังนี้
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังมีหน่วยงาน องค์การมหาชนและรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดอีก 4 แห่งประกอบด้วย