กลายเป็นกระแสร้อนขึ้นมาในพื้นที่ภาคใต้ปลายด้ามขวานของไทย เมื่อคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จัดงานเปิดตัว "ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ (Pelajar Bangsa)" ณ ห้องประชุมศรีวังสา ของคณะรัฐศาสตร์
โดยในงานมีการกล่าวปาฐกถาหัวข้อ "การกำหนดอนาคตตัวเอง (Self Determination) กับสันติภาพปาตานี" มีการทดลองให้มีการลงประชามติแยกตัวเป็นเอกราช เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ความพยายามแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว จะลามกลายเป็นประเด็นปัญหาไปถึงรัฐบาลใหม่ อย่าง “รัฐบาลก้าวไกล” ที่กำลังก่อตัวขึ้น เพื่อผลักดันให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค เป็นนายกฯ คนต่อไปด้วยหรือไม่ น่าจับตายิ่งนัก
เพราะในบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล 8 พรรค ที่สนับสนุนรัฐบาลก้าวไกลนั้น ก็มีคนของ “พรรคเป็นธรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีแนวคิดสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระ โดย นายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ได้ไปปรากฏตัว และร่วมวงพูดคุยทางวิชาการในวันดังกล่าวด้วย
ชู“สันติภาพปาตานี”
สำหรับ “พรรคเป็นธรรม” เป็นพรรคการเมืองใหม่ที่มี นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ อดีต ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย และอดีตรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมืองสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้งเมื่อ 14 พ.ค. 2566 พรรคเป็นธรรมชูนโยบายเรื่องการ “สร้างสันติภาพในปาตานี” โดยส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.เขต 11 คน ในกรุงเทพฯ นราธิวาส ยะลา และ ปัตตานี และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 9 คน
ผลการเลือกตั้ง พรรคเป็นธรรม ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่งคือ นายกัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรค และได้เข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคก้าวไกล
สำหรับ พรรคเป็นธรรม ถูกกล่าวหาว่ามีนโยบายสนับสนุนการ "แบ่งแยกดินแดน” มาตั้งแต่ในช่วงก่อนเลือกตั้ง นอกจากนี้ ในช่วงเดือน เมษายน 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำจังหวัดนราธิวาส ยังได้ประสานให้ผู้สมัครของพรรคเป็นธรรมชี้แจงเกี่ยวกับป้ายหาเสียงของพรรคที่มีข้อความว่า “ปาตานีจัดการตนเอง” ซึ่งทางพรรคได้ทำหนังสือชี้แจงทั้งต่อ กกต. นราธิวาสและ กกต. กลางว่า ข้อความนี้หมายถึงนโยบายการกระจายอำนาจ ส่วนคำว่า “ปาตานี” เป็นคำเรียกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สื่อความหมายถึงอัตลักษณ์ ประวัติศาสตร์
ด้าน นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.หนึ่งเดียวของพรรคเป็นธรรม ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวว่า รัฐต้องให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง แต่ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
โดยระบุด้วยว่า การประชุมนัดแรกของคณะทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคร่วมรัฐบาลยังมีความท้าทายที่ต้องวางกรอบกระบวนการสร้างสันติภาพให้เป็นไปทิศทางเดียวกันในการประชุมคณะทำงานแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้
การพูดคุยครั้งแรกยังเป็นการวางกรอบการทำงานร่วมกัน เพราะแต่ละพรรคมีนโยบายที่ทั้งสอดคล้องและต่างกันอยู่ แม้ในพรรคร่วมรัฐบาลจะมีแนวทางในการสร้างสันติภาพเช่นเดียวกัน
“พรรคเป็นธรรมยังเน้นที่จะผลักดันสันติภาพปาตานี เช่น การยกระดับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพ, การยกเลิกกฎหมายพิเศษ, การปฏิรูประบบโครงสร้างราชการที่เทอะทะ เป็นต้น ต้องมาหาแนวทางร่วมกันของพรรคร่วมรัฐบาลด้วย”
ส่วนประเด็นที่นักข่าวถามกันมาก กรณีการจัดทำประชามติสอบถามเรื่องความต้องการเอกราชของขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ซึ่งมีนายฮากิม พงติกอ รองเลขาธิการพรรคเป็นธรรม ไปร่วมวงพูดคุยทางวิชาการ นายกัณวีร์ ออกตัวว่า ได้เน้นย้ำไปแล้วว่า เป็นการเข้าร่วมในนามปัจเจก ซึ่งมิได้เป็นการเชิญทางพรรคอย่างเป็นทางการ และรวมทั้งทางพรรคเป็นธรรมไม่ได้สนับสนุนการแบ่งแยกดินแดนแน่นอน เพราะอยู่นอกกรอบรัฐธรรมนูญ
“ก้าวไกล”หนุนรัฐเดียว
ด้าน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวยืนยันว่า แนวทางของพรรคก้าวไกลอย่างไรก็ต้องเป็นรัฐเดียว และการปกครองของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และประเทศไทยต้องสอดคล้องกัน ซึ่งต้องสร้างการลดความขัดแย้งและลดความรุนแรงได้แน่นอน
“เท่าที่ตรวจสอบไปยัง นายรอมฎอน ปันจอร์ ว่าที่ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล และคนของพรรคก้าวไกล ทราบว่า ไม่ได้อยู่ในสถานที่ดังกล่าว (สถานที่จัดกิจกรรมทดลองประชามติแยกดินแดน) และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดเพิ่ม”
สมช.ชี้โยงฝ่ายการเมือง
พล.อ.สุพจน์ มาลานิยม เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้ออกมาเปิดเผยผลการประชุมถึงกรณีนักศึกษาจัดทำโพลให้ปาตานีแยกออกมาปกครองตัวเองจากรัฐไทย ว่า ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นในพื้นที่ ทั้งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า และตำรวจภาค 9 ก็กำลังตรวจสอบข้อมูล
ข้อมูลที่ปรากฏจะไปเกี่ยวข้องกับที่ต้องการแยกตัวเป็นเอกราช ซึ่งขัดรัฐธรรมนูญ และผิดกฎหมายหรือไม่ ก็ต้องมีการสืบสวนและหาข้อมูลรายละเอียด ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการ คงต้องใช้เวลาพอสมควร
“ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายดำเนินการตามขั้นตอนอย่างยุติธรรม โดยไม่มีเจตนาจ้องที่จะดำเนินการต่อผู้กระทำผิด ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบว่าผิดหรือไม่ผิด และดำเนินการตามกฎหมาย ...เรามีฐานข้อมูลเดินอยู่พอสมควร ในความโยงใย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตามที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้”
เมื่อถามว่าตอนนี้หน่วยงานด้านความมั่นคงมีหลักฐานว่าพรรคการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า จากการจัดกิจกรรมเท่าที่ทราบ เห็นว่ามีพรรคการเมืองเกี่ยวข้องด้วย ทั้งที่อยู่เบื้องหน้าและเบื้องหลัง ตรงนี้ขอให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องอยู่ในผลการสอบสวนอยู่แล้วว่าใครเกี่ยวข้องบ้าง
เมื่อถามว่าโยงไปถึงพรรคการเมืองที่หาเสียงในช่วงเลือกตั้งด้วยหรือไม่ โดยเฉพาะที่มีการหาเสียงว่าจังหวัดภาคใต้ต้องมีนายกฯ เป็นของตัวเอง พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ถ้าสังเกตการหาเสียงเลือกตั้ง ค่อนข้างจะสุดโต่ง แรง และหลายเรื่อง ที่ทางสมช.มีข้อกังวล แต่ภายหลังผลการเลือกตั้ง แม้จะยังไม่มีการรับรองจาก กกต.ก็ตาม ก็จะเห็นว่า มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายการเมืองที่พยายามพูดถึงนโยบายที่จะทำต่อไป คิดว่านโยบายเหล่านั้นนุ่มนวลลง
“ถ้าพูดถึงการลงประชามติ เรื่องเอกราช มาตรา 1 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งระบุไว้ชัดเจนว่าทำไม่ได้ ส่วนจะผิดกฎหมายมาตราย่อยอย่างไรต้องดูพฤติกรรม และหลักฐาน สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดย กอ.รมน.จะเป็นเจ้าภาพลงไปดำเนินการ ซึ่งวันนี้ได้กระทรวงยุติธรรม อัยการ มาพูดคุยแล้ว”
เมื่อถามว่าพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าว จะถือว่ามีความผิดหรือไม่ พล.อ.สุพจน์ กล่าวว่า ถ้ามีหลักฐานว่ามีความผิดก็ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
เสี่ยงผิดกฎหมาย
ขณะที่ พล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 กล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่า ได้ตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มเปิดประชุมสัมมนา ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทางกฎหมายทุกส่วนนั้น มีแนวโน้มจะเบี่ยงเบนต่อการทำผิดกฎหมาย ได้ดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายหาพยานหลักฐานที่ชัดเจนอย่างครอบคลุม รอบคอบ และตรงไปตรงมา
เพราะข้อมูลที่ได้มานั้นทิศทางค่อนข้างที่จะสุ่มเสี่ยงไปในทางที่ผิดกฎหมาย ในเรื่องของมาตราที่ 1 รัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกมิได้” เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดละอ่อน กระทบทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกระทบสภาพจิตใจประชาชนคนไทย กว่า 77 ล้านคน
ทาง กอ.รมน.ภาค 4 สน. พร้อมให้ความเป็นธรรม ถูกต้อง ยึดหลักของความยุติธรรม รวมถึงการรวบรวมข้อมูลในเรื่องของการประชุมในวันนั้น ในส่วนที่เกี่ยวข้องมีใครบ้าง ได้รวบร่วมรายงานข้อมูลส่งไปยัง สมช. แล้ว ก็ต้องดูว่ารัฐบาลจะดำเนินการไปในทิศทางไหน เพื่อให้เข้าใจทั้ง 2 ฝ่ายเพราะมั่นใจว่าที่ที่เราอยู่ตรงนี้ คือประเทศไทย เราคือคนไทยด้วยกัน”
“มั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่ต้องการแบ่งแยกประเทศ โดยได้มอบหมายให้ พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รอง มทภ.4 / รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. เป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลขับเคลื่อนในเรื่องนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ทั้งนี้ ขอฝากพี่น้องประชาชนช่วยทำความเข้าใจด้วยเหตุและผล ยึดกฎกติกาของบ้านเมือง แนะนำบุตรหลานของท่านที่อยู่ในประเทศไทยว่า การลงประชามติเพื่อแยกตัวเป็นเอกราช ไม่สามารถกระทำได้ เพราะเป็นการละเมิดกฎหมายและบูรณภาพแห่งดินแดน และเป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งรัฐ ผิดต่อหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” พล.ท.ศานติ กล่าว
แยกดินแดนเป็นกบฏ
นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ โพสต์เฟซบุ๊ก หัวข้อ “กบฏในราชอาณาจักร” ตอนหนึ่งระบุว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับจะบัญญัติว่า ประเทศไทยเป็นรัฐอันหนึ่งอันเดียวกันแบ่งแยกไม่ได้ ผู้ใดแบ่งแยกราชอาณาจักร ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นกบฏต้องระวางโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต ขอให้สังคมจำไว้ นักการเมือง พรรคการเมืองใดร่วมรู้เห็นเป็นใจสนับสนุนให้มีการแบ่งแยกดินแดน”
การแบ่งแยกดินแดนดังกล่าว จะกระทบไปถึงการเอาผิดกับพรรคการเมืองได้หรือไม่ ไม่ว่าทั้งสนับสนุนโดยตรง หรือ โดยอ้อม พรรคการเมืองใดจะถูกยุบพรรคจากกรณีที่เกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะพรรคก้าวไกล แกนนำจัดตั้งรัฐบาล น่าจับตา...