ชงหลักฐานเด็ดให้ดีเอสไอมัดผู้บริหาร GGC ส่อทุจริตหลายร้อยล้าน

29 มิ.ย. 2566 | 07:35 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มิ.ย. 2566 | 07:47 น.

“สยามราช ผ่องสกุล”ชงหลักฐานสำคัญให้ดีเอสไอ-ผู้เกี่ยวของ เร่งเคลียร์ปมผู้บริหาร GGC ร่วมกับบริษัทเอกชน ส่อทุจริตหลายร้อยล้าน

สืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 นายสยามราช ผ่องสกุล ผู้มีส่วนได้เสียและเป็นผู้ถือหุ้นของ ปตท. , GGC ได้ทำหนังสือถึง ประธานบอร์ด ปตท. และประธานบอร์ด PTTOR ให้ตั้งกรรมการตรวจสอบและขอให้ความสะดวกและให้ความร่วมมือแก่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) , ก.ล.ต.และเจ้าหน้าที่ของรัฐในการสืบสวนสอบสวนผู้กระทำผิด ห้ามมิให้ผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดเข้าไปเกี่ยวข้องกับพยานหลักฐาน

ห้ามเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจในเรื่องที่ถูกกล่าวหา และดำเนินคดีกับ ผู้บริหาร PTTOR และ GGC ร่วมกันกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 , พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 , พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่ 

 

กรณีส่อไปในทางทุจริตของบริษัทในเครือ ปตท. โดยเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เข้าพบ นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เพื่อสืบสวน รวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้น กรณีผู้บริหารระดับสูงของกลุ่มบริษัท ปตท.ถูกกล่าวหา มีอยู่ 3 เรื่องใหญ่  

เรื่องแรก มีการแทรกแซงครอบงำองค์กรระหว่าง PTTOR และ GGC เข้าข่ายการฮั้วหรือสมยอมราคากัน เรื่องที่สอง เป็นเรื่อง อดีตผู้บริหาร TOL และ/ผู้บริหาร GGC ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน ในการซื้อสินค้าในราคาสูงผิดปกติ ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท 

ส่วนเรื่องที่สามเป็นเรื่อง ปตท. PTT TRADING และ/ GGC  จ่ายเงินให้กับคู่ค้า โดยที่ไม่มีการส่งสินค้า ซึ่งกรณีมีการเอื้อประโยชน์ให้ผู้ใดผู้หนึ่ง และอาจนำไปสู่พฤติการณ์เข้าข่ายลักษณะฟอกเงิน ขณะนี้กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตั้ง คณะพนักงานสืบสวน เพื่อแสวงหาพยานหลักฐานเบื้องต้น ว่าเข้าลักษณะที่จะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่ 

นายสยามราช ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า กรณีอดีตผู้บริหารของบริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด (TOL) ได้ร่วมกับบริษัทเอกชน จัดซื้อวัตถุดิบ (CPO) ในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด (Market Price) ในขณะนั้น และสูงมากเกินกว่าปกติ อันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท (ระหว่างปี 2550 – 2552) และต่อมามีร่วมกันปกปิดการกระทำความผิด โดย TOL ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2559 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC)  

เครือข่ายกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท ปตท.และบริษัทในกลุ่มปตท.ผู้รักในความยุติธรรม และยึดในหลักธรรมาภิบาล ได้ส่งมอบเอกสารที่สำคัญให้กับตนเอง ซึ่งเป็นตัวแทนของกลุ่ม ซึ่งตนได้ส่งมอบเอกสารที่สำคัญให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็น DSI , กลต. , กองปราบปรามเศรษฐกิจ , คณะกรรมการ ปตท.  โดยปรากฏหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงผู้บริหาร บริษัท โกลบอลกรีนเคมิคอล จำกัด(มหาชน) (GGC) กับบริษัทเอกชน ดังนี้

1.ปรากฏผลการสอบสวนข้อเท็จจริงและความเสียหายที่เกิดขึ้น ของบริษัท บริษัท ไทยโอลีโอเคมี จำกัด เบื้องต้น ลงวันที่ 31 มีนาคม 2552 ถึงประธานกรรมการบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด(มหาชน) (ปัจจุบันคือ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC)  และ ผู้บริหารบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด(มหาชน) สรุปได้ 5 ประเด็นหลัก ๆ ดังต่อไปนี้

1.ส่อร่วมกันทุจริตและคอร์รัปชันในการจัดซื้อน้ำมันปาส์มติบ (CPO)

เมื่อได้มีการตรวจลอบเอกสารและหลักฐานจากการจัดหาและสั่งซื้อน้ำปาล์มดิบ (CPO) ในอดีตที่ผ่านมาปรากฏความไม่ชอบมาพากลหลายครั้งหลายครา เช่น การกำหนดราคาต่อกิโลกรัมสูงเกินกว่าความเป็นจริง และสูงกว่าราคาท้องตลาดทั่วไปในขณะนั้นมากอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การซื้อขายน้ำมันปาล์มในประเทศไทย

2. การบริหารงานที่ขาดความเป็นมืออาชีพ บริหารงานไม่เป็น

3. การดำเนินการใช้วิธีสั่งซื้อแบบ Forward ทำให้บริษัทเสียหาย

4. การว่าจ้างบุคคลภายนอกให้กลั่น CPKO เป็น RBDPKO ในราคาที่สูงเกินความเป็นจริง ทำให้บริษัทได้รับความเสียหาย

5. การจงใจขายผลิตภัณฑ์ของบริษัทในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดโลกและเชื้อประโยชน์ต่อพวกพ้อง

จากประเด็นดังกล่าวก่อให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท TOL อย่างมหาศาล รวมทั้งสิ้นที่เห็นได้ราว 200 ล้านบาทในระยะเวลาอันสั้น ทั้งนี้ไม่รวมค่าความเสียหาย เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ลดลง จากภาวะทางเศรษฐกิจของโลก และเกิดความเสื่อมเสียแก่ภาพลักษณ์ขององค์กร ซึ่งประเมินค่ามิได้ 

นอกจากนั้นยังก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่ผู้บริหารของบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทแม่ ดังนั้นเพื่อให้ข้อเท็จจริงต่างๆ ปรากฎและเพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของบริษัทให้ดีขึ้นจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยละเอียด

2. โยกย้ายผู้ที่อยู่ในข่ายและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ข้างต้นออกจากตำแหน่งในทันที เพื่อไม่ให้บริษัทเกิดความเสียหายมากกว่านี้ 

3.ปรากฏหลักฐานรายงาน/บันทึกข้อความเรื่อง การจัดซื้อวัตถุดิบ และการขายผลิตภัณฑ์ในปี 2550 – มีนาคม 2552 ของบริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ลงวันที่ 5 พฤษภาคม 2552

จากรายงานการสอบสวน ปรากฏข้อเท็จจริงว่า TOL จะมีการรายงานผลประกอบการอย่างน้อยทุกไตรมาสให้กรรมการบริหารได้รับทราบ ปรากฏว่า ช่วงปี พ.ศ 2551 มีผลประกอบการที่ขาดทุน ประธานกรรมการบริหารจึงได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงของการขาดทุนดังกล่าว จึงได้ทราบสาเหตุว่า มีผู้บริหารร่วมกับบริษัทเอกชน ซื้อสินค้าในราคาที่สูง และขายสินค้าในราคาที่ต่ำ ทำให้ขาดทุนหลายร้อยล้านบาท ต่อมามีการกระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้อีกหลายครั้งหลายหน