รทสช. เสนอ “วิทยา” แข่ง “หมออ๋อง” ชิงเก้าอี้รองประธานสภาคนที่ 1 

04 ก.ค. 2566 | 04:19 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ก.ค. 2566 | 04:26 น.

สภาเปิดศึกชิงเก้าอี้รองประธานคนที่ 1 พรรคเพื่อไทย เสนอ “หมออ๋อง” ส่วน รวมไทยสร้างชาติ เสนอชื่อ “วิทยา แก้วภารดัย” ท้าชิงเก้าอี้

วันที่ 4 กรกฎาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า  การประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ภายหลังที่ประชุมได้มีมติให้ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาติ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นไปแล้วนั้น

ล่าสุด นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอชื่อ (หมออ๋อง) นายปดิพัทธ์ สันติภาดา  ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล เป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1  ขณะที่ นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้เสนอชื่อ นายวิทยา แก้วภราดัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ท้าชิง ทำให้ ทั้ง 2 คนต้องมีการแสดงวิสัยทัศน์ก่อนการลงคะแนน 

ขณะที่ นายปดิพัทธ์ แสดงวิสัยทัศน์ในการทำหน้าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยหวังเห็นประชาชนกลับมามีความมั่นใจในสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งหนึ่ง และ จะทำให้สภาฯ กลับมามีตัวตนและศักดิ์ศรี ไม่อยู่ภายใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร และเมื่อตนเอง ได้พิจารณาภารกิจของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว ก็สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตน เป็น SMART Parliament พัฒนากระบวนการนิติบัญญัติให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรการสากล เรียกความเชื่อมั่นจากทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ พร้อมเสนอกระบวนการตรวจสอบนิติบัญญัติในการพิจารณาร่างกฎหมายต่าง ๆ ได้อย่างโปร่งใส ให้ประชาชนที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ติดตามการพิจารณากฎหมายได้ และมีการรับฟังความคิดเห็นประกอบการพิจารณากฎหมายอย่างจริงจัง จึงขอความไว้วางใจจาก ส.ส. และเชื่อว่า ส.ส.ที่เคยร่วมงานกับตน จะมั่นใจในความเป็นกลางของตนเองในการทำหน้าที่ดังกล่าว พร้อมสัญญาว่า จะสนับสนุนการทำหน้าที่ของประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ดีที่สุด และทำงานร่วมกับ ส.ส.ทุกคนโดยปราสจากอคติ 

ขณะที่ นายวิทยา ยืนยันพร้อมที่จะรักษาองค์กรนิติบัญญัติให้ทรงเกียรติ และศักดิ์สิทธิ์ในการออกกติกา เพราะทุกคนต้องอยู่ภายใต้กติกา และกฎหมาย และเชื่อมั่นว่า หากตนได้ทำหน้าที่ตำแหน่งรองประธานสภา ก็พร้อมทำหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง และเสนอภาค และทำงานร่วมกับประธานสภาผู้แทนราษฎร ฟื้นความเชื่อมั่น และเกียรติภูมิของสภาได้ ให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นได้ แม้บางยุคสมัย ประชาชนจะรู้สึกเบื่อหน่ายกับสภา แต่ ส.ส.ก็จะต้องช่วยกันเพื่อความเชื่อมั่น ซึ่งตนเองหน้าทำหน้าที่อย่างดีที่สุด 

ทั้งนี้ ภายหลังการแสดงวิสัยทัศน์เสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ดำเนินการลงมติตามขั้นตอน ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องเป็นการลงมติแบบลับเข้าคูหา เขียนชื่อบุคคลที่จะลงคะแนนให้ลงในบัตรลงคะแนน และเมื่อ ส.ส.ลงคะแนนเสร็จสิ้น จึงจะมีการนับคะแนนต่อไป