วันที่ 4 ก.ค. 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล และ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก พรรคก้าวไกล ว่าที่รองประธานสภาผู้แทนราษฎร แถลงข่าวภายหลังที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติโหวตเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 คน
โดยผลปรากฏว่า นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ ดำรงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร นายปดิพัทธ์ ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 และนายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 2
นายพิธา กล่าวว่า ผลการลงมติวันนี้ แม้เป็นแบบลับ แต่ยืนยันได้ว่าเอกภาพของทั้ง 8 พรรคร่วมรัฐบาลนั้นเต็มร้อย โดยกรณีรองประธานสภาฯ คนที่ 1 ที่มีการโหวตแข่ง และนายปดิพัทธ์ได้ 312 เสียง ทั้งที่ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ที่นั่งทำหน้าที่ประธานสภาฯ ชั่วคราว ซึ่งงดออกเสียง
และมีสมาชิกของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้เข้าประชุมจำนวนหนึ่ง แต่ตัวเลขที่ออกมาแสดงถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวของพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลและสะท้อนว่าสิ่งที่เราแถลงวิสัยทัศน์ในการเปลี่ยนแปลงสภาฯ ได้รับการตอบรับจาก ส.ส. ฝ่ายเสียงข้างน้อยจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดีมากในการจัดตั้งรัฐบาลต่อไป
นายพิธา กล่าวต่อว่า ขอยืนยันกับประชาชนว่าได้มีการพูดคุยกันระหว่างตน แกนนำพรรคก้าวไกล ประธานและรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน ว่าการมีทั้ง 3 คนเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติจะไม่เป็นอุปสรรคต่อการผลักดันกฎหมายสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับพี่น้องแรงงาน กลุ่มชาติพันธุ์ สุราก้าวหน้า สมรสเท่าเทียม
รวมถึงกฎหมายสำคัญตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรมคดีการแสดงออกทางการเมืองและการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งพรรคก้าวไกลเตรียมร่างกฎหมายไว้แล้ว จากการแถลงเมื่อวานนี้ (3 ก.ค.) แสดงให้เห็นว่าเป็นการเห็นชอบของทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ส่วนรายละเอียดต้องพูดกันในสภาฯ แต่พรรคก้าวไกลได้แสดงความชัดเจนแล้ว
ด้านนายปดิพัทธ์ กล่าวว่า การเลือกประธานสภาฯ ที่สร้างความหนักใจแก่ประชาชนในช่วงที่ผ่านมา วันนี้เกิดความชัดเจน ทุกอย่างดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย แม้ในส่วนของตน จะมีการโหวตแข่ง แต่ก็เป็นบรรยากาศการแข่งขัน หลังจากนี้คณะทำงานประธานสภาฯ จะมีข้อตกลงว่าจะดำเนินการอย่างไรให้สภาฯ ของประเทศไทยก้าวหน้า โปร่งใส และเป็นของประชาชน
"ผลที่ออกมาจึงไม่ใช่ว่าใครยอมใคร เพราะผ่านการเจรจาอย่างดีที่สุด อยู่ในการจับตาวิพากษ์วิจารณ์ของประชาชน ทำให้เราตัดสินใจได้ดีขึ้น พอเราไม่ได้คิดว่าใครจะดำรงตำแหน่งอะไร แต่เอาเป้าหมายและนโยบายเป็นตัวตั้งเช่นเดียวกับการจัดตั้งรัฐบาล การฟอร์มทีมนิติบัญญัติก็จะมีเอกภาพเช่นกัน"
นายปดิพัทธ์กล่าวด้วยว่า รองประธานสภาฯ เป็นบทบาทใหม่ที่ท้าทายมาก โดยตอนนี้ตนได้ลาออกจากกรรมการบริหารพรรคแล้ว จะเริ่มต้นทำงานอย่างเป็นกลางตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอเพื่อพัฒนาการทำงานของสภาฯ ทำให้สื่อมวลชนทำงานได้ดีขึ้น และประชาชนเข้ามาใช้งานสภาฯ ได้อย่างปลอดภัย รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งและรู้สึกถึงอำนาจที่มี
"ผมได้คุยกับคุณวันนอร์ เห็นตรงกันหลายมิติ จะผสมผสานระหว่างประสบการณ์กับความรู้ความตั้งใจเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นส่วนผสมที่ดีมากในการทำให้สภาฯ ก้าวหน้า โดยจะมีการหารือเพื่อจัดสรรหน้าที่หลังการโปรดเกล้าฯ วาระที่ทำได้โดยด่วน คือการหารือกระบวนการพิจารณากฎหมายต่างๆ ว่าสัดส่วนเวลาจะเป็นอย่างไร"
สำหรับการโหวตกฎหมายสมรสเท่าเทียม ปดิพัทธ์ระบุว่า ในฐานะ ส.ส. จะโหวตเห็นชอบในวาระที่ 2 และ 3 แน่นอน ส่วนในฐานะรองประธานฯ เมื่อมีการบรรจุญัตติ ตนเห็นว่าอคติของประธานต้องไม่เป็นอุปสรรค ดังนั้น หากผ่านขั้นตอนการเสนออย่างถูกต้อง เนื้อหาไม่ขัดรัฐธรรมนูญ เราก็สามารถบรรจุได้ทุกอย่าง และใช้เวทีสภาฯ พิจารณา