พรรคประชาธิปัตย์ (Democrat Party) หรือ ปชป. ก่อตั้งขึ้นในปีพ.ศ. 2489 ซึ่งเมื่อนับถึงวันนี้มีอายุกว่า 77 ปี ได้ชื่อว่าเป็นพรรคการเมืองที่มีอายุยืนยาวที่สุดในประเทศไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กำลังจะมี การประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี เพื่อเลือก หัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ในวันนี้ (9 ก.ค. 2566)
ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคคนที่ 2 (ดำรงตำแหน่งระหว่างปีพ.ศ. 2511-2522) เคยให้คำอธิบายความหมายชื่อพรรคไว้ว่า “ประชาธิปัตย์ หรือ Democrat หมายถึง ประชาชนเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตย”
และจากเสียงของประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อเดือนพ.ค.2566 ประชาธิปัตย์ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เข้าสภาเพียง 25 คน นับเป็นสถิติ “ต่ำสุด” เท่าที่ก่อตั้งพรรคมา โดยสถิติจำนวนส.ส.ในสภาต่ำสุดของพรรคก่อนหน้านี้ คือในการเลือกตั้งปี 2500 หรือ 66 ปีก่อน แต่ครั้งนั้นก็ยังได้มาถึง 31 ที่นั่ง
ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรคคนที่ 8 ต้องประกาศแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก เป็นที่มาของการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันนี้ (9 ก.ค.) ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากสมาชิกให้เร่งปฏิรูปและฟื้นฟูพรรคเป็นการด่วน
ทั้งนี้เพราะไม่เพียงปชป.จะได้ส.ส.เข้าสภาจำนวนน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของพรรคแล้ว การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาล่าสุดนี้ ยังเป็นครั้งที่สองที่กล่าวได้ว่า ปชป. “สูญพันธุ์” จากพื้นที่เลือกตั้งในเขตกทม.
ขณะที่ ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ยึดครองหลักของพรรคมาอย่างเหนียวแน่นตลอดกาล มาในวันนี้แม้จะยังเป็นพรรคที่ได้จำนวนส.ส.มากที่สุด แต่ก็ถูกคู่แข่งตีแตกในหลายพื้นที่ รวมถึงภูเก็ต ที่ส.ส.กลายเป็นของพรรคก้าวไกลทั้งหมด ส.ส.ประชาธิปัตย์จากภาคใต้กวาดที่นั่งในสภาได้เพียง 17 ที่นั่ง จากจำนวนทั้งหมด 60 ที่นั่ง
และที่ดูจะเป็นเหตุให้ต้องเร่งปฏิรูปเพื่อคืนฟอร์มของพรรคอย่างเร่งด่วน นั่นก็คือการที่ปชป.ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนทั่วประเทศ (ป๊อปปูลาร์โหวต) ไม่ถึง 1 ล้านเสียงเป็นครั้งแรก โดยได้มาเพียง 920,000เสียง
ขณะที่การเลือกตั้งครั้งก่อนหน้าเมื่อปี 2562 ทางพรรคยังคว้าคะแนนโหวตมาได้ถึง 3,950,000 เสียง นับเป็นการตกต่ำในระดับดำดิ่งเลยทีเดียว ไม่ต้องพูดถึงเมื่อครั้งเคยทำสถิติได้คะแนนมหาชนสูงสุดถึง 12.1 ล้านเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2550
นอกจากนี้ ในรอบ 31 ปีที่ผ่านมา ปชป.ยังพ่ายแพ้การเลือกตั้งติดต่อกันถึง 8 ครั้ง หลังจากที่เคยลิ้มรสชัยชนะครั้งสุดท้ายในศึกเลือกตั้งเมื่อเดือนกันยายนปีพ.ศ. 2535 และได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนั้น
ย้อนดู 8 หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตมีใครบ้าง
ก่อนจะได้หัวหน้าพรรคคนใหม่ในวันนี้ ซึ่งจะเป็นหัวหน้าพรรคลำดับที่ 9 เราย้อนกลับไปดูสถิติเกี่ยวกับหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นับตั้งแต่วันก่อตั้งพรรคในปี 2489 จนถึงปัจจุบัน 2566 พบว่า ปชป.มีหัวหน้าพรรคมาแล้วรวม 8 คน ได้แก่
ในจำนวน 8 คนนี้ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทยถึง 4 คน คือ
ในวันนี้ (9 ก.ค.) หลังการประชุมใหญ่วิสามัญประจำปี พรรคประชาธิปัตย์จะมีหัวหน้าพรรคคนใหม่ และคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ คนที่ถูกฝากความหวังให้เป็นผู้กอบกู้พรรคจากยุคมืดมนที่สุดนี้ จะเป็นอดีตหัวหน้าพรรคที่กลับมารับตำแหน่งอีกครั้ง หรือจะเป็นเลือดใหม่ เจนเนอเรชันใหม่ถอดด้าม อีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้านับจากนี้ ก็จะได้รู้ผลกันแล้ว