เลือกนายกฯ 2566 อ่านเกม ส.ว. จ่อโหวต "พิธา" รอบเดียว

10 ก.ค. 2566 | 16:29 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ก.ค. 2566 | 16:41 น.

เลือกนายกฯ 2566 จับตา ส.ว. เร่งปิดเกมโหวต “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” รอบเดียวจบ ด้วยการยกข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ห้ามนำญัตติที่ไม่ได้รับความเห็นชอบเสนออีก เว้นแต่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต  

การประชุมรัฐสภาวาระ โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฏาคม 2566 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ต้องการเสียงสนับสนุน 376 เสียง จากสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เพื่อก้าวสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย

ขณะนี้นายพิธาได้รวบรวมคะแนนเสียงจาก 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลรัฐบาล ได้ 312 เสียง ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเสรีรวมไทย พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ เท่ากับพรรคก้าวไกล  และพันธมิตรต้องหาเสียงจากวุฒิสภาหรือ ส.ว.สนับสนุนในการโหวตเลือกนายกฯ อีกอย่างน้อย 64- 65 เสียง เพื่อให้นายพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าตอนนี้จะมี ส.ว. จำนวนหนึ่งแสดงจุดยืนสนับสนุนนายพิธา ตามหลักการเสียงข้างมากที่มาจากการเลือกตั้ง เช่น นายวันชัย สอนศิริ, นพ.อำพล จินดาวัฒนะ, นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ , นายมณเฑียร บุญตัน นพ.นพดล ปิ่นประทีป นางประภาศรี สุฉันทบุตร ฯลฯ แต่ยังไม่ถึงเป้าหมาย 65 เสียง 

แต่การโหวตเลือกนายกฯครั้งนี้ ส.ว.เองก็แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1  เป็นกลุ่มใหญ่ 90% จะลงมติงดออกเสียง

กลุ่มที่ 2 สนับสนุนนายพิธา เป็นนายกฯ กลุ่มนี้คาดว่ามี  5-10เสียง

กลุ่มที่ 3 ออกเสียงไม่สนับสนุนนายพิธาชัดเจน

เกมส.ว.โหวตเลือกนายกฯ

ขณะที่การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ  ได้หารือกันเมื่อ 10 กรกฎาคม 2566 เพื่อประเมินสถานการณ์และการโหวตเลือกนายกฯ พิจารณาและเห็นว่า ชื่อของนายพิธา ที่ไม่ได้รับเสียงเห็นชอบจากกรัฐสภาตามเกณฑ์ 376 เสียง จะไม่สามารถเสนอซ้ำอีกในการโหวตครั้งที่ 2

กมธ.อ้างถึงข้อบังคับการประชุมร่วมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า ญัตติใดที่เสนอที่ประชุมรัฐสภา หากไม่ได้รับความเห็นชอบถือว่าตกไป และห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักกการเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน เว้นแต่ญัตติที่ประธานรัฐสภาจะอนุญาต เมื่อพิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นกมธ.น จึงมองว่า กรณีที่รอบแรก นายพิธาไม่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ จากรัฐสภา จะไม่สามารถเสนอชื่ออีกในการโหวตครั้งที่ 2

นายเสรี ระบุว่า กมธ. ได้หารือด้วยว่า หากมีคนเสนอชื่อนายพิธา กลับมาอีกในการโหวตรอบ 2 ที่นัดหมายในวันที่ 19 กรกฎาคม จะมีส.ว.กลุ่มหนึ่งจะแสดงความเห็นคัดค้านกับที่ประชุมรัฐสภา  โดยอ้างอิงข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41หากประธานรัฐสภา ยังยืนยันให้เสนอชื่อนายพิธาได้ ต้องรับผิดชอบในกรณีที่มีผู้ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภาข้อ 41 เพื่อให้เป็นเงื่อนไขว่า ประธานรัฐสภาใช้ดุลยพินิจของตนเอง หรือใช้การลงมติของที่ประชุมรัฐสภาตัดสิน 

ต้องจับตาว่าวันที่ 19 กรกฏาคม ซึ่งจะนัดเลือกนายกฯ รอบ2  จะมีผู้เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคการเมืองอื่น แข่งขันกับนายพิธาหรือไม่มี