วันที่ 12 ส.ค.2566 นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยถึง กรณีที่จังหวัดตราดได้บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือคนไทยถูกหลอกให้ไปทำงานเว็บพนันออนไลน์และคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา ได้ร่วมดำเนินการคัดแยกคัดกรองผู้เสียหายอย่างละเอียด ณ ศูนย์บูรณาการคัดแยก NRM กองร้อยอาสารักษาดินแดนจังหวัดตราด
จากการดำเนินการคัดแยกคัดกรองคดีค้ามนุษย์ตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ (National Referral Mechanism: NRM) ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไข ป้องกันปราบปรามและช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยทีมสหวิชาชีพ ได้ร่วมคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ กรณีช่วยเหลือแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานประเทศกัมพูชา แบ่งเป็น เพศชาย อายุระหว่าง 21 - 35 ปี จำนวน 5 ราย เพศหญิง อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 1 ราย สัญชาติไทย รวมจำนวน 6 ราย
พบว่าเป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ จำนวน 2 ราย คือ 1) นายอมร อายุ 21 ปี ภูมิลำเนา อ.ชุมพวง จ.นครราชสีมา และ 2) นางสาวธัณยพร อายุ 16 ปี ภูมิลำเนา อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี โดยทั้ง 2 รายได้เดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2566 ผ่านช่องทางธรรมชาติพื้นที่บ้านผักกาด อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี
ทั้งนี้ เกิดจากการได้โพสต์หางานในกลุ่มหางาน แล้วมีบุคคลที่เรียกตัวเองว่า CC ติดต่อมาทางเฟสบุ๊กเสนองานเป็นแอดมินเว็ปพนันออนไลน์ชื่อว่า FIFA 888 เพื่อทำหน้าที่ตอบข้อความลูกค้า และรับเติมเงินลูกค้าที่จะเข้ามาเล่นการพนันออนไลน์ 888 เสนอให้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 20,000 บาท พร้อมที่พักและอาหารครบ 4 มื้อ
แต่เมื่อไปถึงได้มีการพูดคุยกับประธานบริษัท ที่เรียกกันว่า นายโจเค่น แต่กลับได้รับแจ้งว่าให้ทำงาน คอลเซ็นเตอร์หลอกลวงคนไทย กำหนดเป้าต้องทำเดือนละ 200,000 บาท/เดือน เมื่อทราบจึงได้ร้องขอกลับประเทศไทย แต่ไม่ได้รับการปล่อยตัว จึงต้องจำใจทำงาน สามารถทำงานได้ตามยอดที่ตั้งไว้
ต่อมาไม่สามารถทำยอดได้ จึงถูกนำไปทำร้ายร่างกายจากกลุ่มคนที่เรียกว่า “บอง” อยู่หลายครั้ง หลังจากนั้นก็ได้พาตนกับแฟนสาวไปขังไว้ที่ห้องและบอกให้ติดต่อญาตินำเงินจำนวน 4,000 ดอลล่าร์ มาไถ่ถอนตัวเองออกจากที่นั่น แฟนสาวจึงได้ใช้อุบายติดต่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือ กระทั่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกัมพูชาเข้าช่วยเหลือ และถูกส่งตัวกลับประเทศไทยเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566
จากพฤติการณ์ดังกล่าว ทีมสหาวิชาชีพ จึงให้ความเห็นว่า เป็นผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานตามองค์ประกอบ มีการจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจาก ส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยว กักขัง จัดให้อยู่อาศัย รับไว้ โดยถูกแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในรูปแบบการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561
ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด กล่าวอีกว่า พนักงานสอบสวนฯ ได้นำตัวผู้เสียหายไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาลตราด และจะเดินทางกลับภูมิลำเนา โดยสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดตราด จะเป็นผู้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และจะประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรคลองลึก จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับแจ้งความดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม และจะติดตามการให้ความช่วยเหลือ เยียวยา ตามระเบียบ ต่อไป
ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2561 มาตรา 6/1 ซึ่งระบุว่า “ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการ อย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้ (1) ทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของบุคคลนั้นเองหรือของผู้อื่น (2) ขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ (3) ใช้กำลังประทุษร้าย (4) ยึดเอกสารสำคัญประจำตัวของบุคคลนั้นไว้
(5) นำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ (6) ทำด้วยประการอื่นใดอันมีลักษณะคล้ายคลึงกับการกระทำดังกล่าวข้างต้น ถ้าได้กระทำให้ผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ผู้นั้นกระทำความผิด ฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ”
นอกจากนี้ ยังได้กล่าวถึง ความมุ่งมั่นตั้งใจของรัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยในการบูรณาการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ โดยได้กำหนดให้นโยบายการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2558 เป็นต้นมา เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้หมดไป
ผู้ว่าฯตราด กล่าวย้ำเตือนไปยังพี่น้องประชาชน เด็ก เยาวชน ทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่าได้หลงเชื่อกลลวงของผู้ไม่หวังดีที่หลอกล่อยื่นข้อเสนอให้ไปทำงานเป็นคอลเซ็นเตอร์ เป็นแอดมินเว็บพนันในประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการเสนอเงินเดือนค่าตอบแทนอัตราสูง มีสวัสดิการมากมาย
แต่ซ้ำร้าย เมื่อไปแล้ว ต้องถูกใช้ทำงานเยี่ยงทาส ถูกขู่เข็ญ ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายแรงงาน และหากพบเห็นเบาะแสการค้ามนุษย์ ขอให้ได้แจ้งสายด่วนศูนย์ดำรงธรรม โทร. 1567 ตลอด 24 ชั่วโมง